กสทช.เตรียมเอาจริงออกมาตรการชั่วคราวคุมสถานีวิทยุชุมชน หวังลดผลกระทบต่อการสื่อสารการบิน เล็ง 788 สถานีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหากส่งสัญญาณรบกวนสั่งยุติออกอากาศทันที พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ บวท. ในประเด็นการเร่งแก้ไข และหามาตราการทางออกของปัญหาที่วิทยุภาคพื้นดินโดยเฉพาะสัญญาณจากวิทยุชุมชนรบกวนการสื่อสารการบิน
ล่าสุด กสทช.เตรียมจะออกมาตราการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเบื้องต้นเร่งทำความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการวิทยุชุมชนถึงอันตรายของการส่งคลื่นวิทยุที่รบกวนวิทยุการบิน ควบคู่ไปกับการออกมาตรการชั่วคราวสำหรับการกำกับดูแลการออกอากาศของสถานีวิทยุ
ทั้งนีี้ มาตรการชั่วคราวดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และเตรียมประกาศใช้เพื่อดำเนินการกับวิทยุชุมชนทั้งกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนขอทดลองออกอากาศ และกลุ่มออกอากาศโดยไม่ได้ขออนุญาต
"เบื้องต้นหากตรวจพบว่าการออกอากาศของวิทยุชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนส่งสัญญาณรบกวนการบินจะสั่งให้ยุติการออกอากาศทันที และจะสั่งให้แก้ไขการส่งคลื่นสัญญาณในกรณีสถานีวิทยุที่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว"
สำหรับกลุ่มวิทยุชุมชนที่ออกอากาศโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน กสทช.จะสั่งยุติการออกอากาศ และดำเนินการตามกฎหมายตามพรบ.วิทยุคมนาคม 2498 ซึ่งจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และจะมีการบังคับใช้กฏหมายต่อผู้กระทำผิดเข้มข้นขึ้นตามลำดับการกระทำผิดด้วย และจะดำเนินการโดยเร่งด่วนด้วย
โดยปัจจุบันมีสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนทดลองออกอากาศกว่า 788 สถานี ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในขั้นตอนของการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ดีปัญหาดังกล่าว ทางกสทช.ได้รับเรื่องร้องเรียนมาโดยตลอดว่าวิทยุการบินได้รับคลื่นรบกวนจากวิทยุภาคพื้นดิน ในลักษณะคลื่นแทรกเป็นคำพูด และเสียงเพลง ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างนักบิน และผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศไม่ชัดเจน ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารจำเป็นต้องมีการทบทวนซ้ำบ่อยครั้ง
ขณะที่ น.อ.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ที่ผานมาเราได้มีการรายงานให้กับ กสทช. ทราบมาโดยตลอดถึงปํญหาจากการที่วิทยุชุมชนส่งสัญญาณรบกวนการจราจรบนอากาศ
โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าช่วงในปี 2553 มีสถิติของคลื่นที่รบกวนมากกว่า 1904 ครั้ง และเพิ่งจะลดลงมาในปี 2554 อยู่ที่ 1781 ครั้ง ซึ่งยังถือเป็นตัวเลขที่มาก โดยพบว่าพื้นที่ที่ถูกรบกวนลดลงจะอยู่ที่ สุวรรณภูมิ เนื่องจากได้มีการรณรงค์ และเผยแพร่ถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดอันตรายบนอากาศ
นอกจากนี้มีรายงานว่าทางกระทรวงคมนาคมก็ได้มีการพูดคุยกับทาง กสทช.เช่นเดียวกันถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ไปเมื่อมีการหารือถึงมาตราการร่วมกันแล้ว ขั้นต่อไปจะมีการออกนโยบายลงนามทำข้อตกลงหรือ เอ็มโอยู เพื่อดำเนินการแก้ไขได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th