"อินเทล" เดินหน้ากระทุ้งรัฐบาลไทยดันแผนขยายบรอดแบนด์ทั่วประเทศเป็น "วาระ แห่งชาติ" ตามรอยนโยบาย "โอบามา" ที่ประกาศอัดฉีดเงินงบประมาณขยายบรอดแบนด์ทั่วสหรัฐด้วยเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงประเดิมเข้าพบรัฐมนตรีไอซีทีขายไอเดีย
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเลคทรอนิกส์ (ปรเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ ทางอินเทลเล็งเห็นว่าไอทีสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะแผนการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในลักษณะของการเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับไฟฟ้า โทรศัพท์ เพราะสามารถช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวจะสัมฤทธิผลได้ รัฐบาลจะต้องชูเป็น "วาระแห่งชาติ" ทั้งนี้เพราะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จได้
เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 7.87 แสนล้านเหรียญ ซึ่งในจำนวนนี้มีการจัดสรร งบประมาณเพื่อสนุนสนุนนโยบายการขยายบรอดแบนด์ในสหรัฐ มูลค่า 7 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 2.45 แสนล้านบาท ก็เพื่อสร้างงาน และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพราะปัจจุบันบรอดแบนด์ในสหรัฐยังด้อยกว่าเกาหลีและญี่ปุ่น
"รัฐบาลต้องมองว่าการสนับสนุนการใช้จ่ายไอทีในประเทศเป็นการช่วยสร้างทักษะของประชาชนในช่วงเศรษฐกิจขาลงรัฐบาลควรจะมองว่าเป็นวาระแห่งชาติเหมือนที่ รัฐบาลโอบามาทุ่มเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ในการใช้จ่ายด้านไอทีบรอดแบนด์"
นายเอกรัศมิ์กล่าวว่า การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ได้อย่างทั่วถึงจะเป็นการช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ของประชาชนได้มากขึ้น บรอดแบรนด์ทำให้เกิดการวางโครงสร้างพื้นฐาน มีการว่าจ้างงานในส่วนโทรคมนาคม หรือผู้ให้บริการผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆ บนบรอดแบนด์ ขณะที่คอนซูเมอร์ เอสเอ็มบี รวมถึงภาครัฐจะได้ประโยชน์จากการใช้งาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามภาครัฐต้องแสดงบทบาทให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้บรอดแบนด์อย่างจริงจังโดยกำหนดเป็นนโยบายและเริ่มการใช้งานจากในส่วนของภาครัฐ
"หน่วยงานภาครัฐต้องเริ่มต้นในการสร้างบริการประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ต แทนที่จะต้องให้ประชาชนเดินทางมารับบริการที่หน่วยงาน อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ด้วย" นายเอกรัศมิ์กล่าวและว่า
บริษัทได้ติดต่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อนำเสนอแนวคิดการลงทุน บรอดแบนด์เข้าไปอยู่ในแผนการกระตุ้น เศรษฐกิจ รวมทั้งแชร์ข้อมูลว่ารัฐบาล โอบามาทำอย่างไร หรือรัฐบาลประเทศอื่นๆ มีแพ็กเกจกระตุ้นอย่างไร เช่น ออสเตรเลียมีนโยบายลดภาษี 50% สำหรับครอบครัวที่ซื้อพีซีใหม่ให้ลูกที่เป็นนักเรียน และสำหรับเอสเอ็มอีที่ซื้อพีซีใหม่รวมมูลค่าตั้งแต่ 2,000 ดอลลาร์ออสเตรเลียขึ้นไปภายในเดือนมิถุนายน 2552 สามารถขอรีฟันด์ภาษีจากรัฐบาลคืนได้ 600 เหรียญ เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ ขณะเดียวกันมีอานิสงส์เกิดประโยชน์จากการใช้คอมพิวเตอร์ด้วย
นายเอกรัศมิ์กล่าวว่า การนำเสนอแนวคิดการผลักดันนโยบายขยายบรอดแบนด์ให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่แค่กระทรวงไอซีที และ กทช.เท่านั้น แต่รัฐบาลต้องสนับสนุน โดย กทช.ก็ต้องสนับสนุนเพื่อให้เกิดบรอดแบนด์อย่างทั่วถึง เพราะบรอดแบนด์ช่วยให้เกิดการติดต่อสื่อสารทั้งภาพและข้อมูลสามารถไปได้รวดเร็ว แต่สุดท้ายจะเข้าถึงประชาชนได้หรือไม่ รัฐต้องกำหนดเป็นนโยบายและต้องเริ่มจากรัฐบาลก่อน
"รัฐบาลต้องมองว่าบรอดแบนด์เป็นวาระของชาติ ถ้ารัฐบาลยอมรับได้ จะมีการตั้งคณะกรรมการมาดูแลเรื่องนี้ มีการขับเคลื่อนตามลำดับ ไอซีทีผู้ดียังขับเคลื่อนลำบาก ต้องเป็นความร่วมมือระดับรัฐบาลและทุกกระทรวง เพราะไอซีทีเป็นการให้ข้อมูล นโยบาย และชักจูงแต่ละกระทรวง แต่สุดท้ายเจ้าภาพของแต่ละกระทรวงก็ต้องมองทิศทางเดียวกัน"
โดยโครงข่ายบรอดแบนด์ในวันนี้ยังคงเป็นการขยายโครงข่ายเอดีเอสแอล เพราะในส่วนของไวแมกซ์นั้นยังต้องใช้เวลาในการที่ กทช.จะออกใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่บางคนบอกว่าเหมือนเอาเกมมาไว้ในบ้าน แต่อีกด้านก็เท่ากับเอาห้องสมุดจากทั่วโลกมาไว้ที่บ้านเช่นกัน เรื่องนี้ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันดูแลและเอาใจใส่