กสท ยอมควักเงินกว่า 100 ล้านบาท หวังยกเครื่องการตลาดใหม่ ด้วยการสร้างแบรนด์ CAT ให้ประชาชนรับรู้ 80% เร่ง 3 บริการหลักสร้างรายได้ทดแทนสัมปทาน และเพิ่มศูนย์บริการ CAT อีก 4 แห่ง นายมาริส อินทรโกมาลย์สุต หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่าภายหลังเข้ามารับตำแหน่งได้ 6 เดือนภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินงานในปี 55 นี้คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทใน 2 ส่วนหลักคือการสร้างภาพลักษณ์หรือแบรนด์ของ CAT ให้คนได้รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักว่าเป็นแบรนด์การสื่อสารหรือกสทเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่จะพยายามสื่อให้รับรู้คือได้เปลี่ยนชื่อเป็น CAT และให้รู้ว่า CAT คือใคร ดำเนินธุรกิจอะไรบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนยังรู้จักแบรนด์ CAT น้อยมากประมาณ 30% เท่านั้น
'ในปีนี้เราตั้งเป้าหมายให้ประชาชนเกิดการรับรู้ว่าแบรนด์ CATคืออะไร มีธุรกิจอะไรบ้างอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้นจาก 30% ให้กลายเป็น 80% ภายในสิ้นปีนี้ให้ได้' ขณะเดียวกันจะเร่งสร้างการรับรู้ว่าปัจจุบัน CAT มีการให้บริการหลัก 3 ด้าน คือ 1. บริการบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ต 2. การให้บริการโครงข่าย 3G ภายใต้แบรนด์ 'My' และ3. การให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ผ่านรหัส 001, 009
โดยในปีนี้จะเน้นการโปรโมทให้ประชาชนรับทราบการให้บริการในแต่ละด้านถึงความเหมาะสมในการใช้งานแต่ละไลฟ์สไตล์ในทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการของCATต่อไป
'3 บริการดังกล่าวถือเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับCAT ต่อไปภายหลังจากการขาดรายได้จากสัญญาสัมปทานที่ใกล้จะหมดลงในปี 58' ทั้ง 2 งานเร่งด่วนนี้ถือเป็นภารกิจหลักในการประเมินผลงานเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการกว่า 50 ล้านบาทในระยะเวลา 6 เดือนแรกเริ่มตั้งแต่มี.ค.55 ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และบิลบอร์ด ซึ่งหากไม่สำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ก็ต้องพิจารณาตนเอง โดยจะเน้นการสื่อสารแบบแมสมีเดียมากกกว่านิวส์มีเดีย เนื่องจากมองว่าแมสมีเดียเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชน และได้ในวงกว้างมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มวัยกลางคนจนถึงคนสูงอายุ
'ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำทีโออาร์และจะเรียกบริษัทเอเจนซี่ต่างๆ ในประเทศไทยเข้ามาประมูลงานต่อไป ซึ่งCATต้องการความโปร่งใสที่สุด และสามารถสื่อสารเข้าถึงประชาชนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้' นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะเปิดศูนย์บริการ CAT ใหม่เพิ่มอีก 4 แห่งในพื้นที่กทม. โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 15 ล้านบาทต่อแห่งหรือราว 60 ล้านบาท โดยจะเน้นภาพลักษณ์ภายในที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ มีความทันสมัย ทั้งการให้บริการ ระบบภายใน พนักงานที่มีอัธยาศัยดี และสามารถให้คำแนะนำได้อย่างมืออาชีพซึ่งแตกต่างไปจากแบบเดิม รวมทั้งจะจัดหาอุปกรณ์ไอทีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการให้บริการที่สะดวกสบายมากขึ้นต่อไป
Company Related Link :
CAT
ที่มา: manager.co.th