สำนักข่าวไทย 2 ก.พ.- น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงกระแส Simsimi โปรแกรมแชตในโทรศัพท์มือถือว่า เป็นเพียงแอ๊พพลิเกชั่นหนึ่งที่ทางเกาหลีสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางภาษา แต่มาถึงประเทศไทย กลายเป็นเรื่องสนุกของการใช้ภาษาที่เกินเลย กลายเป็นคำไม่สุภาพ หยาบคาย แต่ที่เกาหลีจะมีตัวคัดกรองคำไม่เหมาะสม แต่ของประเทศไทยไม่มี อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ยังจำกัดเฉพาะกลุ่ม ไม่ถึงเด็กวัยรุ่นวงกว้างมากเพราะผู้ใช้ต้องมีเครื่องไอโฟนที่มีแอพพลิเกชั่นของแอปเปิล แต่สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเทคโนโลยีอยู่ที่คนใช้ต้องมีภูมิคุ้มกัน รู้อะไรควรไม่ควร เพราะหากใช้ไม่เหมาะสมก็เป็นโทษกับตนเอง แต่ถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์ สังคมได้ประโยชน์ ผู้ใช้ก็ได้ประโยชน์
ด้าน นายอมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นเพียงกระแสความนิยมที่ผ่านมาแล้วจะผ่านไป เหมือนการใช้ภาษาบนพื้นที่สังคมออนไลน์ที่อาจจะมีคำพูดไม่สุภาพ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้อย่างถูกต้องยังมีเยาวชนอีกมากที่รู้ว่าควรใช้อย่างไรให้เหมาะสม แต่สิ่งที่อยากเสนอคือกรอบและกลไกการดูแล ระบบการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ที่ประเทศไทย ยังมีการดูแลควบคุม (บล็อก) ตรวจสอบ (สกรีน) น้อยมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ.
ที่มา สำนักข่าวไทย