ซิป้ามั่นใจเงินสะพัด 50 ล้านในงาน Thailand Software Fair 2009 อัดงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 1 ล้านบาทเพื่อนำทัพพาเหรดซอฟต์แวร์ 250 โซลูชันจาก 79 ค่าย ออกแสดงแก่สายตาผู้เข้าชมงานกว่า 30,000 ราย สำหรับกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขายแชร์แวร์ในงานแทนที่จะให้ฟรี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเชื่อว่าการขายจะทำให้ผู้ใช้เห็นคุณค่าของโปรแกรมมากกว่าการแจกโปรแกรม
ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวระหว่างการเปิดงาน Thailand Software Fair 2009 ว่างานดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะซิป้าต้องการสร้างงานเทรดโชว์ระดับชาติให้ผู้ขายซอฟต์แวร์ได้พบผู้ใช้งาน ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยมักจัดงานเทรดโชว์สินค้าเทคโนโลยี แต่ยังไม่เคยมีงานที่จัดขึ้นเพื่อซื้อขายซอฟต์แวร์โดยตรง
"ความคาดหวังของเราคือสร้างสังคมไทยให้ตื่นตัวในเรื่องการใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ที่ผ่านมา งานสินค้าเทคโนโลยีมีแต่งานซอฟต์แวร์ไม่เคยมี เราจึงต้องการจัดงานนี้ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม ให้คนได้มีโอกาสมาดูซอฟต์แวร์ เป้าหมายหลักคือการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย"
ดร.รุ่งเรืองระบุว่า 4 กลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าชมงานที่คาดว่าจะมีจำนวนเกิน 30,000 คนและสร้างเงินสะพัดในงานไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ได้แก่กลุ่มประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษา ส่วนราชการไทย และองค์กรธุรกิจขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี
"ประชาชนทั่วไปจะได้มาเห็นเทคโนโลยี ส่วนกลุ่มนักเรียนนักศึกษาคือกลุ่มที่เราคาดหวังมาก เพราะการจะให้เด็กสนใจพัฒนาซอฟต์แวร์ซึ่งอาจจะยากกว่าวิชาชีพอื่น เราจะต้องปลูกฝังให้เค้าเห็นประโยชน์ นักศึกษาปี 3-4 ก็สามารถมาดูโอกาสเติบโตทางสายงานได้ รวมถึงครูอาจารย์ที่สามารถเข้ามาชมแนวโน้มตลาดเพื่อนำไปกำหนดหัวข้อในการวิจัยได้ ขณะที่เอสเอ็มอีก็สามารถเข้ามาเลือกซอฟต์แวร์ไทยราคาประหยัดที่ช่วยลดต้นทุนได้"
โปรโมชั่นพิเศษในงาน Thailand Software Fair 2009 มีตั้งแต่การลุ้นรับซอฟต์แวร์ฟรีในงาน โปรโมชั่นลดราคาซอฟต์แวร์สูงถึง 50% แก่ SMEs และผู้บริโภคที่ซื้อหรือสั่งจองซอฟต์แวร์ภายในงาน ในราคาไม่เกิน 10,000 บาท แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากคือโปรแกรมแชร์แวร์บัญชี และ โปรแกรม HR-เงินเดือน ซึ่งมีจำหน่ายในงานราคาโปรแกรมละ 50 บาท เนื่องจากหลายเสียงเชื่อว่าแชร์แวร์ ควรเป็นการแจกฟรีเพื่อกระตุ้นการใช้งานในตลาด
เรื่องนี้นายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวชี้แจงว่า ราคาจำหน่ายที่จัดเก็บนั้นเป็นค่าวัตถุดิบในการผลิตแชร์แวร์ในรูปแบบแผ่นซีดี โดยรายได้จากการขายแชร์แวร์นี้จะนำไปเป็นเงินทุนในการผลิตแผ่นแชร์แวร์สำหรับเผยแพร่ต่อไปในอนาคต
"เป็นค่าวัตถุดิบ เพื่อเอาวัตถุดิบมาทำแผ่นเพิ่มเป็นพันเป็นล้านชุด ขณะเดียวกันถ้าแจกฟรี ผู้ใช้ก็จะรับไปแบบไม่เห็นค่า"
จากการสอบถามพนักงานในบูธซีเนียร์คอม ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายโปรแกรมแชร์ในราคา 50 บาทนี้ พบว่าบริษัทนำแผ่นโปรแกรมมาจำหน่ายในงานนี้จำนวน 4,000 แผ่น แบ่งเป็นโปรแกรมแชร์แวร์บัญชี 2,000 แผ่น และโปรแกรม HR-เงินเดือน อีก 2,000 แผ่น เป็นแผ่นโปรแกรมแชร์แวร์พร้อมข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ถึงเดือนธันวาคมปี 2553 โดยตัดฟังก์ชันส่งออกข้อมูลทิ้งไป เท่ากับผู้ใช้จะไม่สามารถ export ข้อมูลเพื่อนำไปคำนวณในโปรแกรมอย่าง Excle ได้ โดยโปรแกรมเวอร์ชันเต็มวางจำหน่ายในราคา 4,200 บาท
ซิป้าประกาศชัดเจนในงานเทรดโชว์ซอฟต์แวร์ครั้งแรกในประเทศไทย ว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในปีนี้ได้ถึง 101,600 ล้านบาท จาก 82,059 ล้านบาทซึ่งเป็นมูลค่าที่สำรวจได้ในปี 51 ที่ผ่านมา และเชื่อว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเป็นเงิน 150,000 ล้านบาทได้ในปี 2554
ปัจจุบันรายได้หลักของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นหลัก ซึ่งมีมูลค่าตลาดคิดเป็น 62,900 ล้านบาทในปี 2551 เชื่อว่าจะเพิ่มเป็น 68,000 ล้านบาทได้ในปี 52 รองลงมาคือดิจิตอลคอนเทนท์ เชื่อว่าปีนี้จะเติบโตจาก 10,212 ล้านบาทมาเป็น 20,800 ล้านบาท
อันดับที่สามคือธุรกิจส่งออกซอฟต์แวร์ เชื่อว่าจะเติบโตจาก 4,500 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา มาเป็น 6,000 ล้านบาทในปีนี้ มูลค่าเท่ากับธุรกิจเอาท์ซอร์สงานไอที ซึ่งเติบโตขึ้นจาก 4,080 ล้านบาทในปี 2551
"อัตราการเติบโตที่วางไว้ลดลงจากปี 51 เพราะสภาพเศรษฐกิจ ซิป้าจะเน้นการดูแลผู้ประกอบการแบบครบวงจร รวมถึงด้านเงินทุนด้วย เราจะประสานกับเอสเอ็มอีแบงค์ยิ่งขึ้นในอนาคต"
ผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยรายหนึ่งยอมรับว่า อุสาหกรรมซอฟต์แวร์กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ขณะที่บางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในสัดส่วน 40-50 เปอร์เซ็นต์ จุดนี้ ดร.ภัทระ เกียรติเสวี ผู้อำนวยการ บริษัท เมตามีเดีย เทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันแผนที่และพจนานุกรมแบรนด์ LongDo ให้ความเห็นว่า ตัวเลขที่ซิป้าให้มานั้นสามารถเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ตัวเลขขายฝัน
"ในส่วนของลองดูไม่ได้รับผลกระทบอะไร ผมเห็นด้วยกับตัวเลขที่ซิป้าเสนอ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยังไม่กระทบมาก แต่อุตสาหกรรมอื่นอย่างรถยนต์นั้นกระทบมาก ซึ่งผมว่า ตามธรรมชาติไอทีมันโตอยู่แล้ว"
สำหรับงาน Thailand Software Fair 2009 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ ฮอลล์ 3 ชั้น 5 สยามพารากอน