หน่วยงานกำกับดูแลระบบที่อยู่เว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต Internet Corporation for Assigned Names and Numbers หรือ ICANN (ไอแคน) ประกาศยื่นมือเข้ามาจัดการและดูแลระบบฐานข้อมูลเขตเวลาโลกหรือไทม์โซน (Time Zone Database) หลังผู้ดูแลเดิมถูกฟ้องร้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์บริษัทอเมริกันรายหนึ่ง แม้จะเคลื่อนไหวช้าเกินไปแต่ไอแคนก็ได้รับเสียงชื่นชมเพราะสามารถสางปมฐานข้อมูลเวลาโลกออนไลน์ไม่ตรงกันที่อาจเกิดความวุ่นวายตามมาในอนาคตหากไม่มีใครเป็นเจ้าภาพดูแลระบบ
ความเคลื่อนไหวของไอแคนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากระบบเซิร์ฟเวอร์ซึ่งให้บริการฐานข้อมูลไทม์โซนโลกมาตลอดถูกปิดลงราว 1 สัปดาห์ เพราะบริษัทอเมริกันรายหนึ่งเข้าฟ้องร้องต่อศาลสหรัฐฯ ว่าระบบฐานข้อมูลดังกล่าวละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีของบริษัท
ทันทีที่ระบบเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลไทม์โซนถูกปิดตัวลง ระบบคอมพิวเตอร์จะแสดงข้อมูลเวลาจากระบบ Greenwich Mean Time ซึ่งทำให้ผู้คนในบางประเทศต้องคำนวณเวลาด้วยตัวเอง แทนที่จะเลือกเขตเมืองที่อยู่แล้วอิงเวลาจากฐานข้อมูลเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายหวั้นใจว่าจะเกิดเผตุการณ์โกลาหลเพราะความไม่แม่นยำของตารางการบิน ตารางรถไฟ รวมถึงตารางนัดหมายทั้งหมดที่เกี่ยวกับเวลาสากล
ไม่เพียงระบบขนส่งระหว่างประเทศ แต่เว็บไซต์และระบบปฏิทินในคอมพิวเตอร์ทั่วโลกล้วนผูกบริการเข้ากับฐานข้อมูลเขตเวลานี้ โดยที่ผ่านมา ระบบเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลไทม์โซนต้องการการอัปเดทเวลาหลายครั้งต่อปี เมื่อระบบให้บริการถูกปิดตัวลงและฐานข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถอัปเดทได้ ทำให้หลายฝ่ายหวั่นใจว่าอาจจะเกิดปัญหาร้ายแรงตามมาในอนาคต
นี่จึงทำให้ไอแคนอาสาเข้ามาดูแลฐานข้อมูลไทม์โซน ถือเป็นอีกงานที่เพิ่มเติมจากงานดั้งเดิมคือการดูแลการจัดระเบียบโดเมนเนมหรือที่อยู่เว็บไซต์ที่ลงท้ายชื่อด้วยคำว่า .com และ .org เป็นต้น ทั้งหมดนี้ตัวแทนไอแคนระบุว่า การอาสาครั้งนี้เป็นไปตามแผนที่ไอแคนได้ร่วมหารือกันตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยพร้อมจะเป็นผู้สู้คดีกับบริษัทอเมริกันที่ฟ้องร้อง Arthur David Olson บุคลากรจากสถาบันอนามัยแห่งชาติสหรัฐฯซึ่งอาสาดูแลระบบฐานช้อมูลไทม์โซนโลกในช่วงก่อนหน้านี้
ตามข้อมูลระบุว่า ผู้ดูแลระบบไทม์โซนดั้งเดิมนั้นพยายามหาผู้รับช่วงต่อตั้งแต่ปี 2009 แต่ไม่สำเร็จจนต้องปิดเซิร์ฟเวอร์ซึ่งตั้งอยู่ที่ NIH ลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ก่อนที่ไอแคนจะระบุว่าพร้อมยื่นมือเข้ามาดูแลรับช่วงต่อ
สำหรับบริษัทที่ฟ้องร้องผู้ดูแลระบบฐานข้อมูลไทม์โซนโลกนั้นมีชื่อว่า Astrolabe เป็นบริษัทซอฟต์แวร์พยากรณ์อนาคตซึ่งฟ้องต่อศาลว่า Olson และนานาอาสาสมัครในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ควรจะจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์และข้อมูลจากซอฟต์แวร์ที่บริษัทสร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอาสาสมัครเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นเนื่องจากข้อมูลเวลาไม่สามารถกำหนดลิขสิทธิ์ได้ ทำให้ทั้งหมดกลายเป็นคดีความฟ้องร้อง ซึ่งไอแคนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการสานต่อคดีต่อไป
"เราทราบดีถึงการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น แต่เราเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญในการสานต่อการดูแลฐานข้อมูลนี้ โดยเราจะหาแนวทางปฏิบัติทางกฏหมายทุกรูปแบบเพื่อสานต่องานครั้งนี้" Kim Davies ผู้จัดการฝ่ายเทคนิกของไอแคนกล่าวทิ้งท้าย
Company Relate Link :
ICANN
ที่มา: manager.co.th