"ซอฟต์แวร์พาร์ค" ปรับกลยุทธ์รับพิษเศรษฐกิจ จับผู้ประกอบการธุรกิจนอกวงการทั้งธุรกิจอาหาร-ค้าปลีกและสุขภาพ เข้าศูนย์บ่มเพาะ นำไอทีไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมิติและสร้างโมเดลใหม่ พร้อมจับมือ สสว. สร้างเครือข่ายพันธมิตรจัดอบรมผู้ประกอบการทั่วประเทศ
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) เปิดเผยว่า ปีนี้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ของซอฟต์แวร์พาร์คจะวางแนวทางใหม่ให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจ หลังจาก 7 ปีที่ผ่านมาได้สร้างกลุ่มผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เลือดใหม่กว่า 200 ราย และมีผู้ประสบความสำเร็จกว่า 95% ที่กลายเป็นบริษัทซอฟต์แวร์หลักของประเทศ มียอดรายได้ตลอด 7 ปีรวมกว่า 300 ล้านบาท
สำหรับปีนี้มีแนวทางใหม่เรียกว่า "ศูนย์บ่มเพาะเวอร์ชั่น 2.0" เน้นทั้งการขยายเครือข่ายพันธมิตร กลุ่มเป้าหมาย และตลาด พร้อมกระจายการบริการลงสู่เครือข่ายและสังคมของผู้ประกอบการทุกรูปแบบเพื่อให้ ผู้สนใจเข้าถึงได้ง่ายที่สุด
โดยเน้นการจับมือกับหน่วยงานที่มีภารกิจส่งเสริมเอสเอ็มอี อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สร้างเครือข่ายพันธมิตรร่วมกัน จากเดิมที่ศูนย์บ่มเพาะจะเน้นในกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจการเงินและการทำตลาด แต่จากปีที่ผ่านมาได้ร่วมกับกรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุนกลุ่มธุรกิจนอกวงการไอทีมาอบรม เพื่อนำไอทีไปเพิ่มมิติทางธุรกิจของตัวเองจากการหาบริการหรือนวัตกรรมใหม่
ล่าสุดเริ่มมีผู้เข้ารับการบ่มเพาะที่ไม่ใช่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ มีแนวคิดที่จะนำไอทีสร้างคลินิกบนเว็บไซต์เพื่อให้ผู้มีปัญหาสุขภาพสามารถปรึกษาแพทย์ได้แบบเรียลไทม์จนเกิดเป็นเว็บไซต์
www.doctor cosmetics.com ซึ่งกำลังเริ่มสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อหารายได้
นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจกวดวิชาก็กำลังสนใจเข้ามาอบรมในศูนย์บ่มเพาะมากขึ้น เพื่อหาทางนำไอทีมาสร้างความแตกต่างให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้
รวมถึงการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอื่นๆ กับไอทีให้มากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง และมีตลาดที่กว้างขึ้นนอกจากในกลุ่มธุรกิจไอที อย่างโครงการสร้างซอฟต์แวร์บริหารธุรกิจอัญมณีที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกับกลุ่มธุรกิจอัญมณีสร้างขึ้น คาดว่าปีนี้จะมีอีก 2-3 โครงการ
"มั่นใจว่าอุตสาหกรรมไทยในปีนี้จะยังเติบโตได้ โดยมองว่าธุรกิจสุขภาพ ค้าปลีก และอาหาร เป็นกลุ่มที่นำไอทีเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งและต่อยอดธุรกิจได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อรักษาฐานลูกค้า และการบริหารซัพพลายเชนเพื่อลดต้นทุน รวมถึงการพยายามหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้จากสังคมออนไลน์"
โดยมีเป้าหมายจะขยายศูนย์บ่มเพาะออกไปอีก 10 ศูนย์ แต่ละแห่งจะสร้างผู้ประกอบการเลือดใหม่ได้ราว 5-10 ราย เพิ่มจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 35 รายของศูนย์ที่กรุงเทพฯ และการอบรมผู้ประกอบการนอกสายงานอีก 70 ราย
ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า 8% โดยเฉพาะงานเอาต์ซอร์ซมีเข้ามามาก เนื่อง จากปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศ ทำให้มีการลดต้นทุนด้วยการจ้างแรงงานไทยแทน
ด้านนายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สสว.มีโครงการที่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ คือ โครงการกองทุนร่วมลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน ซึ่ง สสว.จะเข้าไปร่วมลงทุน 35% ของมูลค่ากิจการ
แต่ที่ผ่านมามีธุรกิจซอฟต์แวร์และ แอนิเมชั่นได้รับคัดเลือกเข้าโครงการเพียง 1-2 ราย เพราะมีปัญหาเรื่องการตีมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา เพราะมูลค่าสามารถเพิ่ม ลด หรือหายไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว ขณะเดียวกันหากตีมูลค่าสูงก็จะเกิดปัญหาด้านภาษีเงินได้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ยังมีความช่วยเหลือในรูปแบบของเงินให้เปล่า อาทิ หากต้องการไปทำตลาดต่างประเทศโดยเข้าร่วมงานแฟร์ต่างๆ สามารถยื่นเรื่องให้ สสว. สนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ 50% เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา และค่าจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และแอนิเมชั่นเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ สสว.จะให้การสนับสนุน