ทีเอ็มซี จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯและสมาคมวีซีเชื่อมแหล่งทุนหนุนผู้ประกอบการไฮเทคในไทยประเดิมงาน “อินโนบิซ” นำร่องดึงบริษัทซอฟต์แวร15 รายร่วม
นางชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) กล่าวว่า ทีเอ็มซี ได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจเงินร่วมทุน (วีซี) จัดงาน “อินโนบิซ แมทชิ่ง เดย์” วันที่ 24 ก.พ. นี้ เพื่อเป็นเวทีพบปะระหว่างผู้ประกอบการไฮเทค และแหล่งเงินทุน ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมไฮเทคในไทยเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา ทีเอ็มซี ประเมินว่าอุตสาหกรรมไฮเทคในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีบริษัทเกิดใหม่จำนวนมาก และมีโครงการนวัตกรรมดีๆ ที่รอการต่อยอด ขณะที่ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็มีแนวโน้มจะหาเงินเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น แต่ติดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้บริษัทไอทีหลายแห่งเสียโอกาส
ขณะที่ งานรูปแบบดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกนี้ ถือเป็นแผนเชิงรุกที่จะขับเคลื่อนผ่านสองหน่วยงานหลัก คือ ซอฟต์แวร์ปาร์ค และอุทยานวิทยาศาสตร์ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการซึ่งมีแนวคิดเทคโนโลยี รวมถึงรูปแบบทางธุรกิจที่น่าสนใจทั้งหมด 15 บริษัท นำร่องเข้าร่วมเจรจากับแหล่งเงินทุนจากสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจร่วมทุน (วีซี) จำนวน 25 ราย
ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจารอบแรกจะเกิดความต้องการเงินทุน ที่มาสนับสนุนธุรกิจไม่ต่ำกว่า 260 ล้านบาท
“ใน 15 บริษัทที่คัดเลือกมา จะต้องมานำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ ให้มีความน่าสนใจ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ทำซอฟต์แวร์ด้านอาร์เอฟไอดี ทำแอพพลิเคชั่นด้านเสิร์ชเอ็นจิ้น ซึ่งแต่ละบริษัทจะได้เงินทุนเท่าไร ขึ้นอยู่กับการเจรจา” นางชัชนาถกล่าว
นอกจากนี้ ยังมองถึงการขยายความร่วมมือ จากการเป็นผู้จับคู่ผู้ประกอบการกับแหล่งเงินทุนจากสมาคมวีซี ไปยังหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินกิจการ เงินที่มาจากทางภาคเอกชน เงินกู้รูปแบบต่างๆ รวมถึงเงินทุนจากในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งเป้าหมายจะดึงบริษัทไฮเทคในไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ต่ำกว่า 100 บริษัทต่อปี
ด้านนายโสภณ บุณยรัตพันธุ์ กรรมการสมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจร่วมทุน กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไอที ซอฟต์แวร์ ซึ่งที่ผ่านมามีการปล่อยทุนให้กับบริษัทประเภทนี้น้อย โดยเฉพาะในไทย เพราะยังเป็นบริษัทที่เล็ก และไม่มีรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจน
ขณะที่ ความร่วมมือครั้งนี้ บริษัทที่จะเข้ามาหาวีซี ได้ผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานทั้งซอฟต์แวร์ปาร์ค และอุทยานวิทยาศาสตร์แล้ว ก็สร้างความน่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง
“การประเมินของทางสมาคมวีซี ในการร่วมทุนนั้น เราจะดูที่ตัวผู้บริหารบริษัท ดูทีมงาน ดูตัวซอฟต์แวร์ว่าใช้ทำอะไร ถ้าเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ยุคนี้ เราต้องดูว่าซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมา จะช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุนได้อย่างไร มีรูปแบบทางธุรกิจที่เห็นชัดเจน รายได้จะมาจากไหน การประเมินผลกำไร ขาดทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมทุน” นายโสภณกล่าว