นานาภาพบนบริการ Google+ ภาพเหล่านี้จะสามารถถูกกูเกิลทำซ้ำดัดแปลง แก้ไข เผยแพร่ และดำเนินการทางเทคนิกเพื่อการเผยแพร่สู่สาธารณะได้โดยที่ช่างภาพไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องหากขัดผลประโยชน์ในการจำหน่ายภาพ
ท่ามกลางข่าวสารคึกคักเกี่ยวกับเสียงตอบรับถล่มทลายจากชาวออนไลน์ทั่วโลก ล่าสุดสื่อนอกเตือนภัยการโพสต์ภาพบนเครือข่ายสังคมใหม่ล่าสุดของกูเกิล "กูเกิลพลัส (Google+)" ว่าจะเป็นภัยต่อช่างภาพมืออาชีพเนื่องจากเงื่อนไขของกูเกิลพลัสนั้นไม่มีการคุ้มครองป้องกันการทำซ้ำหรือการส่งต่อภาพใดๆ ด้านกูเกิลรับเซิร์ฟเวอร์กูเกิลพลัสขยายตัวไม่ทันผู้ใช้ที่คาดว่าจะมีจำนวนสูงเกิน 4 ล้านคนใน 2 สัปดาห์ (เฉพาะในสหรัฐฯ) ทำให้ระบบงานกูเกิลพลัสเกิดความผิดพลาดบางจุดในขณะนี้
สก็อต บูร์นี (Scott Bourne) คอลัมนิสต์นิตยสารออนไลน์ด้านการถ่ายภาพ Photofocus ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ช่างภาพออนไลน์ทุกคนควรตระหนักให้ดีถึงความเสี่ยงจากการแบ่งปันภาพบนกูเกิลพลัส เนื่องจากข้อกำหนดในการให้บริการหรือ Terms of Service เรื่องภาพของกูเกิลพลัสนั้นไม่มีการระบุถึงความคุ้มครองใดๆ โดยช่างภาพอาจหมดสิทธิ์ทำรายได้จากการจำหน่ายรูปที่แบ่งปันบนกูเกิลพลัส
'คุณเข้าใจว่า กูเกิลอาจส่งหรือแจกจ่ายคอนเทนต์ของคุณผ่านเครือข่ายสาธารณะและในสื่ออื่นๆมากกว่า 1 แห่ง และอาจทำการเปลี่ยนแปลงคอนเทนต์ของผู้ใช้ตามที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับเครือข่าย อุปกรณ์ หรือบริการ โดยคุณยอมรับว่าจะอนุญาตให้กูเกิลดำเนินการเหล่านี้ และให้สิทธิ์แก่กูเกิลในการเผยแพร่คอนเทนต์แก่บริษัท องค์กร หรือบุคคลอื่นแบบไม่ผูกขาดในการทำซ้ำ ดัดแปลง และแก้ไขบนบริการ' ตามเงื่อนไขที่ระบุในข้อกำหนดการให้บริการกูเกิลพลัส ซึ่งบูร์นียกขึ้นมาเตือนภัยช่างภาพมืออาชีพ
กูเกิลพลัสหรือ Google+ นั้นเป็นบริการเครือข่ายสังคมใหม่ล่าสุดที่กูเกิลเพิ่งเปิดทดสอบเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (26 มิ.ย.54 ) ถูกพูดถึงในวงกว้างว่าจะสามารถล้มยักษ์ใหญ่เครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊กได้ด้วยการสื่อสารที่ถูกออกแบบให้มีความเป็นเฉพาะกลุ่มมากกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กูเกิลพลัสกำลังถูกจับตาว่า กูเกิลจะรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจโฆษณาออนไลน์โดยไม่ชอบหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้
แม้จะไม่มีความชัดเจน แต่ผู้บริหารระดับสูงของกูเกิลอย่างอีริก ชมิดต์ (Eric Schmidt) ออกมายอมรับกับสื่อต่างประเทศถึงจำนวนผู้ใช้กูเกิลพลัสว่ามีจำนวนหลักล้านคน จุดนี้ชมิดต์ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลจำนวนผู้ใช้กูเกิลพลัสที่แน่นอน ซึ่งล่าสุดมีการพยากรณ์ด้วยหลักทางสถิติ พบว่าผู้ใช้กูเกิลพลัสเฉพาะในสหรัฐฯนั้นมีจำนวนเกิน 4 ล้านคนแล้วในขณะนี้ (11 ก.ค. 54) คาดว่าผู้ใช้กูเกิลพลัสจะขยายตัวทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและองค์กรบริษัท โดยค่ายรถยนต์อเมริกันอย่างฟอร์ด (Ford) ได้ประกาศว่าเริ่มทดสอบเผยแพร่ข้อมูลบริษัทบนหน้ากูเกิลพลัสของตัวเองแล้ว ถือเป็นบริษัทแรกที่ร่วมทดลองการทำตลาดบนบริการเครือข่ายสังคมของกูเกิล
สำหรับข้อสังเกตเรื่องความเสี่ยงที่ช่างภาพจะหมดสิทธิ์ทำรายได้จากการขายภาพซึ่งโพสต์ไว้บนกูเกิลพลัส คอลัมนิสต์อเมริกันรายนี้มองว่าบริการกูเกิลพลัสนั้นไม่ช่วยส่งเสริมธุรกิจจำหน่ายภาพ ตรงกันข้าม กูเกิลพลัสยังมีแต่ความเสี่ยงที่ช่างภาพมืออาชีพทุกคนควรระวังให้ดีก่อนจะสมัครใช้บริการกูเกิลพลัส และหลงโพสต์ผลงานภาพไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
บูร์นีระบุว่านอกจากการทำซ้ำ ผู้ใช้กูเกิลพลัสทุกคนจะต้องให้สิทธิ์กูเกิลในการดัดแปลงหรือดำเนินการต่างๆเพื่อให้เนื้อหาหรือคอนเทนต์ทุกประเภทบนกูเกิลพลัสสามารถใช้ได้กับบริษัท องค์กร หรือบุคคลอื่นที่เป็นพันธมิตรกับกูเกิล ในการให้บริการรวบรวมและเชื่อมต่อกับการให้บริการ โดยผู้ใช้จะต้องเข้าใจว่ากูเกิลสามารถดำเนินการตามขั้นตอนทางเทคนิคที่จำเป็นทั้งการส่งต่อหรือแจกจ่ายต่อสาธารณชน ซึ่งหลังจากอนุญาตให้กูเกิลดำเนินการเหล่านี้ ช่างภาพจะไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องใดๆหากเกิดการเสียผลประโยชน์ขึ้น
อย่างไรก็ตาม คำเตือนของบูร์นีถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงการเตือนระดับผิวเผิน เนื่องจากบริการเครือข่ายสังคมที่เปิดให้มีการแบ่งปันภาพอื่นๆนั้นก็มีข้อกำหนดลักษณะนี้เช่นกัน เช่นบริการ Twitpic บริการแบ่งปันภาพบนทวิตเตอร์ที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการ ว่าแม้ผู้ใช้จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพที่อัปโหลดขึ้น Twitpic แต่ผู้ใช้จะต้องยินยอมให้ภาพนั้นสามารถโอนเปลี่ยนมือ ทำซ้ำ แจกจ่าย หรือดัดแปลงเพื่อการเผยแพร่ได้โดยไม่มีข้อจำกัด ทั้งหมดทำให้ช่างภาพต่างประเทศมองว่า จะดีกว่าหากช่างภาพหันไปแชร์ภาพบนเครือข่ายสังคมสำหรับช่างภาพอย่าง PhotoShelter ที่มีเงื่อนไขการให้บริการที่ 'เป็นมิตร' หรือเป็นผลดีต่อการสงวนลิขสิทธิ์ภาพของช่างภาพแทน
นอกจากเรื่องเงื่อนไขการให้บริการ ล่าสุดกูเกิลพลัสถูกรายงานว่าพบปัญหาสำคัญเรื่องเซิร์ฟเวอร์ขยายตัวไม่ทันจำนวนผู้ทดลองใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ขณะนี้มีผู้รอคิวทดสอบกูเกิลพลัสค้างอยู่ในระบบอีกจำนวนมาก และทำให้ระบบกูเกิลพลัสทำงานผิดพลาดบางส่วน เช่นระบบเตือนอีเมล ซึ่งมีรายงานว่ากูเกิลพลัสแสดงคำเตือนอีเมลรับเข้า-ส่งออก (email notification) ซ้ำหลายครั้ง ซึ่งล่าสุดผู้บริหารกูเกิลชี้แจงว่าเป็นเพราะหน่วยความจำของเซิร์ฟเวอร์กูเกิลพลัสนั้นเต็ม โดยรับปากว่าจะรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร็วที่สุด
Company Related Link :
Google
ที่มา: manager.co.th