การเปิดตัวระบบ Google Wallet ทำให้ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์รายใหญ่อย่างอีเบย์ (eBay) และเพย์พาล (PayPal) ประกาศฟ้องร้องกูเกิลฐานละเมิดความลับทางการค้า เพราะกูเกิลได้ว่าจ้างอดีตผู้บริหารเพย์พาลและอีเบย์ซึ่งเคยร่วมหัวจมท้ายกับเพย์พาลและอีเบย์ในการพัฒนาระบบจ่ายเงินมาก่อน จนทำให้กูเกิลหาประโยชน์จากความลับทางการค้าโดยไม่ชอบธรรม โดยขณะนี้กูเกิลยังไม่มีแถลงการณ์ใดๆเกี่ยวกับการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น
***
กูเกิล (Google) ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตเปิดตัวระบบจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือ "แบบเปิดเสรี" ให้ผู้ใช้อเมริกันแตะโทรศัพท์กับเครื่องอ่านแทนที่จะต้องควักเงินสดหรือบัตรเครดิตจ่ายค่าสินค้าและบริการตามปกติ นอกจากนี้ยังส่งบริการแจกส่วนลดคูปองเพื่อกระตุ้นการใช้งานพร้อมกัน บนความหวังว่าบริการทั้ง 2 นี้จะสามารถครองตลาดจ่ายเงินด้วยมือถือในวงกว้างหรือเมนสตรีมได้
บริการทั้ง 2 ที่กูเกิลจะส่งมาปฏิวัติการจ่ายเงินมีชื่อว่า Google Wallet และ Google Offers โดย Google Wallet จะมาในรูปแอปพลิเคชันฟรีที่ทำงานบนโทรศัพท์มือถือซึ่งติดตั้งชิป NFC ไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สามารถแตะโทรศัพท์มือถือกับเครื่องอ่านเมื่อต้องการจ่ายเงินหรือยืนยันตัวบุคคล ขณะที่ Google Offers คือบริการเสนอส่วนลดโปรโมชันของร้านค้า (คล้ายกับ Groupon) ซึ่งกูเกิลออกแบบให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้คูปองได้จากพนักงานหน้าร้านหรือแคชเชียร์ร้านค้าได้โดยตรง
กูเกิลย้ำว่าการรุกตลาดโมบายเพย์เมนต์ครั้งนี้เป็นการทุ่มเทที่จริงจัง โดยขณะนี้ กูเกิลมีพันธมิตรตั้งแต่ธนาคารและสถาบันการเงิน ไปจนถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบ และผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ Google Wallet และ Google Offers สามารถใช้งานได้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ Nexus S บนเครือข่าย Sprint ในสหรัฐฯ โดยจะหักเงินผ่านบัญชีบัตรเครดิต Citi MasterCard ทางจุดชำระเงินต่าง ๆ ของ MasterCard PayPass ทั้งหมดนี้กูเกิลระบุว่าจะพยายามหาพันธมิตรเพิ่มเติมต่อไป โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนให้ร้านค้ายอดนิยมอย่าง Macy's หรือ Subway หันมาสนับสนุน Google Wallet และ Google Offers
กูเกิลจะนำร่องระบบจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือที่นิวยอร์กและซานฟรานซิสโก ก่อนจะขยายไปในเมืองใหญ่อื่นๆของสหรัฐฯ มีกำหนดพร้อมทดสอบจริงจังช่วงฤดูร้อนปีนี้
การใช้งานบริการ Google Wallet และ Google Offers เริ่มที่การเลือกรับคูปองผ่านคอมพิวเตอร์ แล้วส่งคูปองเหล่านี้ไปที่แอปพลิเคชัน Google Wallet เพื่อเก็บในโทรศัพท์มือถือแบบอัตโมนัติ หรือผู้ใช้อาจถ่ายรูปสินค้าหรือภาพที่มีสัญลักษณ์ของ Google Offers เพื่อนำไปใช้เป็นคูปองลดราคา
เมิ่อต้องการจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือ ก็เพียงนำโทรศัพท์มือถือไปแตะกับเครื่องอ่านในเครื่องรับชำระเงิน ผู้ใช้จะถูกหักเงินตามขั้นตอนของบัตรเดบิตและเครดิตผ่านธนาคาร จุดนี้กูเกิลหวังว่า Google Wallet จะสามารถขยายการใช้งานไปยังกระบวนการยืนยันตัวบุคคล เช่น ตั๋วโดยสาร บัตรประจำตัว รวมถึงกุญแจ เพิ่มความสะดวกให้กับทั้งผู้ใช้และหน่วยงานธุรกิจ โดยเฉพาะฝ่ายหลังจะสามารถลดความยุ่งยากเรื่องใบเสร็จรับเงินหรือใบแจ้งหนี้ เพราะข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บในรูประบบอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม การร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินบางรายกลับเป็นอุปสรรคให้ระบบจ่ายเงินของกูเกิลมีข้อจำกัดมากในขณะนี้ โดยผู้ที่ยังไม่มีบัญชีบัตรเครดิตของ Citi MasterCard จะต้องซื้อบัตรเติมเงิน Google Prepaid Card จึงจะสามารถใช้บริการ Google Wallet ได้ โดย Google Prepaid Card นี้ถูกระบุว่าสามารถใช้บัตรเครดิตของค่ายใดชำระเงินก็ได้
ขณะนี้แอปพลิเคชัน Google Wallet ยังรองรับเฉพาะระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์เท่านั้น และยังไม่มีแผนการรองรับระบบปฏิบัติการอื่นในขณะนี้
ในแง่ความปลอดภัย กูเกิลออกแบบให้แอปพลิเคชัน Google Wallet เปิดใช้งานได้ก็ต่อเมื่อมีการกรอกรหัสผ่านแล้วเท่านั้น จุดนี้กูเกิลป้องกันเต็มที่ไม่ให้ข้อมูลรหัสผ่านถูกเจาะไปง่ายๆด้วยการเก็บข้อมูลแยกไว้ใน Secure Element ซึ่งเป็นชิปในโทรศัพท์มือถือที่แยกออกมาจากหน่วยความจำทั่วไป ซึ่งบางโปรแกรมเท่านั้นจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลใน Secure Element ที่ถูกจำกัดไว้ได้
ทั้งหมดนี้กูเกิลย้ำว่าระบบจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือนี้เป็นระบบเปิดซึ่งสามารถรองรับพันธมิตรหลากหลาย คาดว่าจะมีผู้สนใจร่วมโครงการนี้กับกูเกิลอีกหลายภาคส่วน
ล่าสุด เพย์พาลและอีเบย์ร่วมใจฟ้องกูเกิลต่อศาลแคลิฟอร์เนีย ว่ากูเกิลพัฒนาระบบจ่ายเงินด้วยมือถือนี้จากความลับทางการค้าโดยไม่ชอบ โดยเพย์พาลระบุว่าได้ลงมือพัฒนาระบบจ่ายเงินซึ่งสามารถรองรับระบบแอนดรอยด์มานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่เพราะกูเกิลได้ว่าจ้าง Osama Bedier อดีตผู้บริหารเพย์พาลซึ่งทำให้กูเกิลสามารถพัฒนาระบบชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือจนสามารถเปิดตัวได้ในที่สุด
ข้อมูลระบุว่า Bedier ได้ร่วมงานกับกูเกิลเพราะ Stephanie Tilenius ผู้ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารอีเบย์ในปี 2009 ก่อนจะร่วมงานกับกูเกิลในเวลาต่อมา โดยในคำฟ้อง เพย์พาลอ้างว่าการที่กูเกิลว่าจ้าง Bedier ทำให้ข้อมูลความลับของกลยุทธ์ธุรกิจของเพย์พาลและความเข้าใจจุดอ่อนของกูเกิลที่ Bedier มี มาเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโมบายเพย์เมนต์อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งทั้ง Bedier และ Tilenius ต่างเป็นจุดสนใจบนเวทีเปิดตัวระบบจ่ายเงินด้วยมือถือระบบแรกของกูเกิล
เบื้องต้นยังไม่มีรายงานแนวทางการยอมความของคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้น คาดว่าทั้ง 3 บริษัทจะสามารถตกลงกันได้ก่อนกำหนดการให้บริการจริงในช่วง 18 เดือนข้างหน้า ซึ่งกูเกิลแถลงว่า Google Wallet จะถูกนำไปโดยผู้ค้ากว่า 124,000 รายทั่วสหรัฐฯ ก่อนจะขยายไปเป็น 311,000 รายทั่วโลก
ที่มา: manager.co.th