ประธานกสทช.ชี้ทางสว่างไอซีที ต้องชงครม.ให้โอนอำนาจในเรื่องตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมให้กสทช. เพื่อดำเนินการจัดประมูลเลือกบริษัทยิงดาวเทียม เพื่อรักษาตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก หากไม่อยากให้หลุดมือไป
นายประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าจากกรณีการให้สัมภาษณ์ของนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ว่าได้มีการทำหนังสือเชิญ กสทช. เพื่อเดินทางไปประชุมร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เพื่อรักษาตำแหน่งวงโคจรเมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่าน แต่ กสทช. ไม่ให้ความร่วมมือนั้น ไม่เป็นความจริง
เพราะที่ผ่านมา กสทช. ให้คำปรึกษาเรื่องนี้มาตลอด ตั้งแต่นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที เข้ารับตำแหน่งและเชิญประชุมก็ให้คำปรึกษาเรื่องนี้ตลอดประมาณ 3-4 ครั้ง เพื่อทำความเข้าใจว่ากสทช.จะทำหน้าที่ในส่วนของการประสานงานการใช้คลื่นความถี่เท่านั้น ส่วนเรื่องตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีโดยตรงแต่กระทรวงไอซีทีไม่ได้ทำอะไรต่อ และปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาอย่างต่อเนื่อง
'หนังสือเชิญของไอซีทีถึงสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 30 พ.ค. คณะกรรมการทราบ 1 มิ.ย. ผู้ที่เกี่ยวข้องก็เร่งดำเนินการ แต่เป็นช่วงเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป ส่วนการให้คำปรึกษากับไอซีที ก็มีการพบและหารือกัน 4 ครั้ง ซึ่งได้ชี้แจงว่ากสทช.รับผิดชอบอะไร กระทรวงไอซีทีดูแลอะไร แต่เป็นเรื่องของไอซีทีที่มอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม ไปดำเนินการ'
ทั้งนี้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมเป็นข้อตกลงของไอทียู ที่ตัวแทนของรัฐบาลจะเป็นหน่วยงานประสานงานและเจ้าของสิทธิในตำแหน่งวงโคจรเท่านั้นซึ่งในที่นี้หมายถึงกระทรวงไอซีที ซึ่งเท่าที่ทราบเพราะกระทรวงไอซีทีไม่เคยแจ้งกสทช.อย่างเป็นทางการตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก หากไม่มีดาวเทียมของประเทศไทยไปอยู่ในตำแหน่งในช่วงสิ้นปีนี้หรือเดือนม.ค.2555 ไทยคงต้องเสียสิทธิในตำแหน่งดังกล่าว เพราะเป็นการยืนยันจากไอทียู
อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าตำแหน่งวงโคจรเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ไม่ควรสูญเสียไป ตามพ.ร.บ.กสทช.ปี 2553 ได้มอบอำนาจให้กสทช.ดูแลเรื่องดาวเทียมสื่อสารด้วย หากกระทรวงไอซีที ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้โอนอำนาจในการดูแลเรื่องตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมมาให้กสทช. ก็จะสามารถดำเนินการแทนได้
โดยขั้นตอนคือหากครม.อนุมัติการโอนอำนาจในเรื่องตำแหน่งวงโคจรมาให้กสทช.แล้ว กสทช.ก็จะดำเนินการเรื่องประกาศเชิญชวนให้บริษัทเอกชนยื่นข้อเสนอที่จะมายิงดาวเทียมขึ้นไปที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ในรูปแบบการให้ใบอนุญาต ซึ่งเป็นลักษณะการยื่นข้อเสนอไม่ใช่เป็นการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกสทช.ก็จะกำหนดเงื่อนไขดาวเทียมและความถี่ ตามที่ได้เคยยื่นไฟลลิ่งไว้ที่ไอทียู โดยบริษัทเอกชนไทยที่มีความพร้อมก็มีหลายรายไม่ว่าจะเป็นล็อกซเล่ย์ หรือ กลุ่มสามารถ
'เราเคยมีเวลา 2 ปีในเรื่องการรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม แต่ตอนนี้เหลือ 6-7 เดือน คงต้องรอครม.ตัดสินใจ'
Company Related Link :
ICT
กสทช
ที่มา: manager.co.th