สปริงแอปฯ บนไอโฟน ที่เพิ่งเปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
สปริง (Spriiing) พร้อมจับมือซัมซุงเข็นสปริงแอปพลิเคชันลงสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ภายในไตรมาส 3 โวยอดผู้ใช้พุ่งหลังพัฒนาสู่แอปสโตร์ สิ้นปีขอยอดผู้ใช้ 100,000 ราย ก่อนต่อยอดลุยตลาดโลกหลังเตรียมช่องทางทำตลาดไว้หมดแล้ว
นายชวัล บุญประกอบศักดิ์ รองประธานบริษัทฝ่ายปฏิบัติการ สปริง เทเลคอม กล่าวถึงการดำเนินงานล่าสุดของบริษัท หลังจากมีการเปิดให้ผู้ใช้ไอโฟน ที่ใช้เฟิร์มแวร์เวอร์ชัน 4.2 ขึ้นไป สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสปริงผ่านแอปสโตร์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดผู้ดาวน์โหลดและลงทะเบียนเข้ามาในระบบเฉลี่ยวันละ 1,000 ราย แม้จะไม่มีการทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อใดๆ เลย
"จากยอดผู้ใช้งานไอโฟนในประเทศไทยกว่า 400,000 ราย และผู้ใช้ส่วนใหญ่สมัครแพกเกจอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัด ทำให้เชื่อว่าปลายปีนี้ยอดผู้ใช้งานสปริงแอปฯบนไอโฟนจะมีสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาด้วยแอนดรอยด์ และแบล็กเบอรี"
นอกจากการเปิดให้ดาวน์โหลดบนแอปสโตร์แล้ว ทางสปริงยังได้มีการติดต่อไปยังซัมซุงประเทศเกาหลี เพื่อนำสปริงแอปฯเข้าไปไว้ใน "Samsung Apps" ที่จะติดมากับสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทุกรุ่นของซัมซุงในอนาคต เพื่อเป็นการต่อยอดให้ผู้ใช้สามารถเริ่มต้นการใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น
"รูปแบบการทำตลาดของสปริงร่วมกับซัมซุงนั้น อยู่ในช่วงศึกษาร่วมกัน เพื่อเข้าไปเสนอกับโอเปอเรเตอร์ ที่คาดว่าจะเป็นดีแทค เพื่อออกแบบแพกเกจที่เหมาะสมกับสมาร์ทโฟนในแอนดรอยด์ ราคาตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป ซึ่งถือเป็นกลุ่มเอนทรีเลเวล ที่ไม่ต้องการจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัด"
ขณะที่การพัฒนาสปริงแอปฯบนแบล็กเบอรีนั้น มีปัญหาค่อนข้างมากในการพัฒนาเพื่อขึ้นบนอยู่แอปเวิลด์ เนื่องจากทางริม ยังไม่เปิดโอกาสให้พัฒนาแอปฯเกี่ยวกับการใช้งานแชตในรูปแบบบริการที่ใกล้เคียงกับ BBM ทำให้สปริงต้องหาวิธีเปิดใช้งานให้แก่กลุ่มลูกค้าผ่านการดาวน์โหลดจากลิงก์โดยตรงภายในสิ้นเดือนนี้
"เมื่อสามารถให้บริการครบทั้ง 3 ระบบปฏิบัติการหลักแล้ว รวมกับการผลักดันด้านการใช้งานนอนวอยซ์ของแต่ละโอเปอเรเตอร์แล้ว เชื่อว่าเป้าหมายผู้ใช้งาน 100,000 คนภายในปีนี้จึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะปัจจุบันมีผู้ใช้งานอยู่แล้วประมาณ 11,000 ราย รวมกับยอดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้ใช้ไอโฟน"
รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับตลาดแท็บเล็ต ที่มีแนวโน้มผู้ใช้งานสูงขึ้น โดยจะมีการเปลี่ยนรูปแบบสปริงคีย์จากเดิมที่ผูกกับเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถย้ายเครื่องได้โดยที่ยังใช้คีย์เดิม มาเป็นการผูกคีย์เข้ากับอีเมลและรหัส เหมือนการใช้งานอีเมลปกติทั่วไป เพื่อรองรับการขยายตัวไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆที่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเริ่มใช้งานระบบนี้แล้วในไอโฟน และจะทยอยอัปเดตไปยังผู้ใช้งานแอนดรอยด์ และแบล็กเบอรีต่อไป
"ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนจากการเปลี่ยนรูปแบบการสมัครใช้งานครั้งแรก จะช่วยให้บริษัทสามารถต่อยอดไปยังแท็บเล็ต หรือแม้แต่เว็บแอปพลิเคชันที่จะเริ่มให้บริการช่วงปลายไตรมาส 3 ทำให้สามารถแชตจากหน้าเว็บไซต์ไปยังสมาร์ทโฟน ซึ่งถือเป็นการตอบรับพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคอีกรูปแบบหนึ่ง"
ขณะเดียวกันทางสปริงยังได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาทางด้านแผนการทำตลาดจากสหรัฐฯ เข้ามาช่วยวางแผนเพื่อให้สปริงแอปฯสามารถรุกไปยังตลาดโลกได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องรอดูความสำเร็จในประเทศก่อน เพื่อให้เป็นเคสตัวอย่างที่เห็นได้จริง ก่อนนำเสนอไปยังผู้ใช้ระดับโลก เพราะท้ายที่สุดเมื่อสปริงแอปฯ ขึ้นไปอยู่บนมาเก็ตเพลสแล้ว ผู้ใช้งานทั่วโลกก็สามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้
***บุกตลาดลาว อีกจุดที่มีการเคลื่อนไหวในรอบครึ่งปีที่ผ่านมานอกจากทำตลาดในประเทศแล้ว สปริงยังได้มีการเข้าไปพูดคุยกับลาวโมบายกรุ๊ป (Lao Mobile Group) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศลาว ที่เป็นผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟน ซึ่งกำลังต้องการสร้างรายได้ในส่วนของนอนวอยซ์ ซึ่งคาดว่าความร่วมมือดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมา 3 เช่นเดียวกัน
"จำนวนประชากรในลาวมีอยู่ประมาณ 7 ล้านคน และมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ในประเทศเพียง 2 ล้านราย จากผู้ให้บริการ 7-8 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นฟีเจอร์โฟนอยู่ ทำให้ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายไปสู่ตลาดต่างประเทศ"
โดยสิ่งที่ทางสปริงเห็นว่ายังไม่มีผู้ผลิตรายใดเคยทำเลย คือการพัฒนาใส่ภาษาลาวลงไปในสมาร์ทโฟน จึงเชื่อว่าถ้าสปริงสามารถทำได้ การเข้าไปทำตลาดในลาวจะได้รับความนิยม
ทั้งนี้ ชวัล เชื่อว่า ความแตกต่างจากระบบบริการแชตบนโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆอย่าง Whatsapp Ping อย่างการที่สปริงแอปฯ สามารถดึงข้อมูล คอนเทนต์สำหรับผู้ใช้ในท้องถิ่น เช่น ผู้ที่ใช้แพกเกจราคาถูกจากสปริงก็สามารถ ติดตามผู้ใช้งานทวิตเตอร์ได้จากภายในแอปฯ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัดชั่วโมงที่มีราคาค่อนข้างสูง
Company Relate Link :
Spriiing
ที่มา: manager.co.th