กูเกิลประกาศสานต่อสัมพันธ์ความเป็นพันธมิตรต่อเนื่องกับแอปเปิล เพื่อนำเทคโนโลยีระบบแผนที่และค้นหาข้อมูลของกูเกิลมาติดตั้งในสมาร์ทโฟนแอปเปิลสุดฮิต"ไอโฟน (iPhone)" หลายเสียงวิจารณ์ว่าการต่ออายุความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นสวนทางดีกรีความร้อนแรงในสังเวียนการแข่งขันระหว่างระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์ของทั้งคู่ ซึ่งกำลังดุเดือดชนิดไม่มีใครยอมใคร
อีริค ชมิดต์ (Eric Schmidt) ประธานบริหารและอดีตซีอีโอกูเกิล (Google) แถลงรายละเอียดความร่วมมือระหว่างกูเกิลและแอปเปิลบนเวทีงานประชุม D9 ซึ่งจัดโดยเว็บไซต์ All Things D ที่สหรัฐอเมริกา โดยบอกปัดข่าวลือที่ระบุว่าแอปเปิลกำลังจะยุติการใช้เทคโนโลยีแผนที่และระบบค้นหาข้อมูลของกูเกิลบนไอโฟน
"กูเกิลเพิ่งต่ออายุสัญญาข้อตกลงด้านเทคโนโลยีแผนที่และระบบค้นหาข้อมูลกับแอปเปิลเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และหวังว่าการเป็นพันธมิตรครั้งนี้จะคงอยู่ไปอีกนาน โดยปีที่ผ่านมา กูเกิลได้จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการค้นหาบนไอโฟนให้แอปเปิลเป็นมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านเหรียญต่อปี"
อย่างไรก็ตาม มีข่าวลือว่าแอปเปิลกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบแผนที่ของตัวเอง โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ AppleInsider ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าแอปเปิลเปิดรับสมัครงานในตำแหน่ง iOS Maps Application Developer หรือนักพัฒนาแอปพลิเคชันแผนที่บนระบบปฏิบัติการไอโอเอส ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาบริการอิงสถานที่หรือ location-based service ของแอปเปิลในอนาคต
นอกจากแอปเปิล ประธานบริหารและอดีตซีอีโอกูเกิลยังประกาศว่าได้พยายามเต็มที่ในการร่วมเป็นพันธมิตรกับเฟซบุ๊ก (Facebook) เครือข่ายสังคมยอดฮิตซึ่งมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง โดยชมิดต์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการเจรจาระหว่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก แต่ระบุเพียงว่ากูเกิลจะสามารถพัฒนาบริการได้อีกมากจากข้อมูลเชิงสังคมทั้งจากเฟซบุ๊กและเครือข่างสังคมอื่นๆ
งานนี้อดีตซีอีโอกูเกิลยืนยันชัดเจนว่าแม้กูเกิลจะมองว่าข้อมูลจากบริการเครือข่ายสังคมนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาบริการของกูเกิลมากมายเพียงใด แต่กูเกิลจะไม่มีนโยบายเข้าซื้อกิจการเครือข่ายสังคมเช่นทวิตเตอร์ (Twitter) หรือค่ายอื่น โดยบอกว่ากูเกิลไม่จำเป็นต้องซื้อกิจการเครือข่ายสังคม เพราะกูเกิลสามารถเข้าถึงกลุ่มคนออนไลน์ที่ให้ข้อมูลเชิงสังคมได้อยู่แล้ว
ชมิดต์ยังแสดงวิสัยทัศน์ในงานว่า รูปแบบบริการออนไลน์ในขณะนี้ได้รับอิทธิพลจาก 4 บริษัทหลักได้แก่ อเมซอน (Amazon) แอปเปิล กูเกิล และเฟซบุ๊ก โดยเรียกทั้ง 4 บริษัทว่าเป็น "Gang Of Four" ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดออนไลน์ในระดับที่คู่แข่งรายอื่นยากจะต่อกร จุดนี้ชมิดต์มองว่าอเมซอนครองตลาดช้อปปิง แอปเปิลครองตลาดสินค้ามีสไตล์ กูเกิลครองตลาดข้อมูล ขณะที่เฟซบุ๊กครองตลาดสังคมเพื่อนฝูง
สิ่งที่น่าสังเกตคือไมโครซอฟท์ (Microsoft) ไม่ถูกรวมไว้ใน Gang Of Four ในสายตาชมิดต์ เนื่องจากซีอีโอกูเกิลมองว่าไมโครซอฟท์ยังไม่ได้ผลักดันให้บริการและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
ชมิดต์นั้นเพิ่งยกตำแหน่งซีอีโอให้แลร์รี เพจ (Larry Page) ผู้ก่อตั้งกูเกิลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้ง 2 แบ่งหน้าที่ชัดเจนโดยชมิดต์ดูแลการติดต่อภายนอก ขณะที่เพจดูแลความเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์กูเกิล โดยชมิดต์ยืนยันว่ายังไม่มีแผนจะลาออกจากกูเกิลแม้จะมีข่าวว่าชมิดต์ถูกเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (US Commerce Secretary) ของสหรัฐฯในขณะนี้
Company Related Link :
Apple
Google
ที่มา: manager.co.th