ศาลปกครองยังไม่วินิจฉัยและมีคำสั่งกรณีดีแทคฟ้อง บอร์ด กสท และ กสท เกี่ยวกับสัญญาการให้บริการมือถือรูปแบบใหม่ ขณะที่ 'จิรายุทธ' ยังมั่นใจ เพราะทำตามระเบียบพัสดุกสท
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. เวลา 16.35 น.นิติกรศาลปกครองได้โทรศัพท์แจ้งไปยังฝ่ายกฎหมายบริษัท กสท โทรคมนาคม และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ว่า ศาลปกครองยังไม่มีการวินิจฉัยกรณีดีแทคยื่นฟ้องคณะกรรมการ (บอร์ด) กสท และ กสท กรณีการทำสัญญาดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA และ 3G HSPA กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หลังดีแทคได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 โดยนายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางด้วยตัวเอง เพื่อร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวกับสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง กสท กับ กลุ่มทรู ที่มีเซ็นสัญญากันไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 54
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 พ.ค. เช่นกัน เจ้าหน้าที่ศาลปกครองแจ้งว่ามีตัวแทนจากกลุ่มทรูเดินทางมายื่นเอกสารเพิ่มเติม และมีตัวแทนจากดีแทคจากสาขาสีลม มาขอคัดสำเนาคำฟ้อง แต่ยังไม่มีคำสั่งใดๆ จากศาลออกมา จึงไม่สามารถคัดสำเนาคำฟ้องได้ ขณะที่แหล่งข่าวจากกลุ่มทรูปฏิเสธว่า ไม่มีตัวแทนจากทรูเดินทางมายื่นเอกสารแต่อย่างใด
ด้านนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า การฟ้องร้องดังกล่าวหากศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว กสท ต้องมีการประชุมฝ่ายบริหารด่วน เพื่อรายงานบอร์ด และหากมีคำสั่งลักษณะนี้จะส่งผลกระทบกับฐานลูกค้าที่มีอยู่ขณะนี้ 1 ล้านราย แต่ถ้าศาลไม่มีคำสั่งแผนงานที่วางไว้ก็ดำเนินต่อไป
'ผมไม่ได้ก้าวล่วงศาลนะ เพราะศาลวินิจฉัยออกมาอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตาม แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีคำสั่งให้คุ้มครอง เนื่องจากเราทำตามระเบียบพัสดุ'
ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มทรูได้รับผลกระทบแน่นอนไม่ว่าศาลจะมีคำตัดสินอย่างไร แต่ทรูจะอยู่ข้างกสท และทรูยังคงให้บริการมือถือตามสัญญารูปแบบใหม่ที่ทำร่วมกับกสท เพราะเป็นการดำเนินงานอย่างถูกต้อง และภายในเดือนส.ค.นี้จะให้บริการ 3G ได้ครอบคลุม 20 จังหวัด และภายในสิ้นปีนี้จะครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับการยื่นฟ้องของดีแทคต่อศาลปกครองกลาง เพราะผู้บริหารดีแทคเห็นว่า สัญญาระหว่าง กสท กับ ทรู เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันด้านโทรคมนาคม ส่วนสาระสำคัญเกี่ยวกับการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองดังกล่าว ดีแทคร้องขอให้ศาลมีคำสั่งใน 3 เรื่องหลักคือ 1.ต้องการให้ศาลยกเลิกการอนุมัติของ บอร์ด กสท ที่มีมติให้ กสท เซ็นสัญญากับกลุ่มทรู 2.ต้องการให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกธุรกรรมใดๆ ที่เกิดจากสัญญาฉบับดังกล่าว 3.ต้องการให้ศาลระงับการดำเนินงานต่างๆ ตามเงื่อนไขสัญญาจนกว่าศาลจะวินิจฉัยและมีคำสั่งออกมา
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมาศาลปกครองได้นัดไต่สวนคดีพิพาทระหว่างดีแทคกับกสท โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งเดิมศาลนัดจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดในวันที่ 18 พ.ค. 54 โดยในการไต่สวน กสท ชี้แจงว่าหากศาลมีมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะส่งผลกระทบ 6 เรื่องหลักคือ 1. ทำให้ กสท และคู่สัญญาเสียหาย เนื่องจากขณะนี้กลุ่มทรูได้จัดหาอุปกรณ์และแหล่งเงินทุนแล้ว 2. สัญญาขายส่งบริการระหว่าง กสท และ ทรูไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง 3. รายได้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายเสียหายหลายหมื่นล้านบาท 4. กสท ต้องหยุดบริการ 5. กสท จะไม่ได้จัดหาเทคโนโลยี 3G ให้ประชาชนได้ใช้ 6. ประชาชนจะเสียโอกาสจากการไม่มีเทคโนโลยี HSPA
***เข้าบอร์ดกสทช.สัปดาห์หน้า
พ.อ. นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่แทน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้ากสทช.จะมีการประชุมเรื่องสัญญา กสท กับ ทรู เกี่ยวกับการทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อหุ้นฮัทชิสัน เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับการทำสัญญาดังกล่าว หลังจากวันที่ 18 พ.ค. 54 ที่ประชุมใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง แต่ยังไม่สามารถสรุปผลเรื่องดังกล่าวได้
การประชุมในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณากรณีดังกล่าวเป็นวาระเฉพาะจากสัญญาทั้ง 6 ฉบับ ในประเด็นหลักคือ 1. พิจารณาเอกสารจากสำนักงาน กสทช. 2. การประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทการขายส่งบริการและขายต่อบริการ 3. พิจารณาขั้นตอนการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3
4.พิจารณาการประกอบกิจการโทรคมนาคม เรื่องการที่ กสท ทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ระบบ HSPA จำนวนสัญญา 6 ฉบับ เป็นการมอบคลื่นความถี่ให้บริษัท บีเอฟเคที หรือ บริษัท เรียล มูฟ เข้ามาบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเข้ามาเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทน อันเป็นการกระทำขัดต่อ มาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือไม่
Company Relate Link :
Dtac
CAT
ที่มา: manager.co.th