ไมโครซอฟท์ประกาศเปิดทดสอบ Office 365 ในวงกว้างเมื่อ 19 เมษายนที่ผ่านมา
ไมโครซอฟท์จุดพลุทดสอบบริการ Office 365 แล้วใน 38 ประเทศทั่วโลกหลังจากเริ่มทดสอบบางประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เปิดให้ชาวออนไลน์ใช้บริการซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ออฟฟิศและซอฟต์แวร์นานาชนิดของไมโครซอฟท์ผ่านเครือข่ายคลาวด์ในราคาแสนประหยัด เบื้องต้นรองรับ 17 ภาษา คาดว่าจะเพิ่มจำนวนภาษาก่อนเริ่มให้บริการจริงภายในปีนี้
Office 365 เป็นบริการหลักซึ่งไมโครซอฟท์เปิดตัวเมื่อครั้งแถลงกลยุทธ์ธุรกิจด้านเทคโนโลยีการประมวลผลกลุ่มเมฆหรือคลาวด์คอมพิวติง เพื่อแข่งขันกับกูเกิลและยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตรายอื่นที่เริ่มให้บริการซอฟต์แวร์ออนไลน์บนคลาวด์อย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยไมโครซอฟท์วางตัว Office 365 ให้เหนือกว่าบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ทั่วไปด้วยการเป็นชุดผลิตภัณฑ์พร้อมบริการแบบครบวงจรสำหรับองค์กรธุรกิจ ที่ต้องการใช้ซอฟต์แวร์สำหรับงานสำนักงานยุคใหม่ซึ่งไม่ต้องยึดติดกับเครื่องที่ลงโปรแกรมไว้ แต่สามารถเรียกใช้โปรแกรมได้บนทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ครั้งนี้ การประกาศเปิดทดสอบ Office 365 ในวงกว้างทำให้ไมโครซอฟท์ถูกมองว่ามีความพร้อมในการให้บริการจริงมากขึ้นทุกที โดยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า Office 365 เวอร์ชันทดสอบจะเปิดใช้งานใน 38 ประเทศ 17 ภาษา ผู้ใช้จะสามารถใช้โปรแกรมสร้างงานเอกสาร Microsoft Office, โปรแกรมระบบจัดการงานเอกสารเวอร์ชันออนไลน์ SharePoint Online,โปรแกรมระบบจัดการอีเมลออนไลน์ Exchange Online และระบบจัดการการสื่อสารในองค์กร Lync Online ในราคาเริ่มต้นเพียง 6 เหรียญสหรัฐ (ราว 180 บาท) ต่อเดือน
การประกาศทดสอบ Office 365 อย่างจรังจังยังทำให้หลายฝ่ายจับตาดูการ"รีแบรนด์"ของหน่วยธุรกิจชุดโปรแกรมออนไลน์ซึ่งไมโครซอฟท์ให้ชื่อเรียกในขณะนี้ว่า BPOS (Business Productivity Online Suite) โดยครั้งนี้ ไมโครซอฟท์อุดช่องโหว่ที่มีอยู่ด้วยการปรับให้ Office 365 มีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากขึ้น ที่สำคัญคือการเปิดให้ธุรกิจมีสิทธิ์เลือกใช้งานโปรแกรมออนไลน์ได้น้อยลง คาดว่าจะโดนใจองค์กรขนาดเล็กที่ไม่ต้องการเสียค่าลิขสิทธิ์โปรแกรมที่แพงเกินไป
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเปิดตัว Office 365 Marketplace ตลาดจำหน่ายแอปพลิเคชันและบริการสำหรับองค์กรธุรกิจแบบออนไลน์ จุดนี้ไมโครซอฟท์แถลงว่าผู้ประกอบการจะสามารถเลือกใช้แอปพลิเคชันจัดการงานได้ราว 100 แอปพลิเคชัน และบริการมืออาชีพอีกกว่า 400 บริการ
นี่ถือเป็นอีกความเคลื่อนไหวในรอบหลายเดือนที่ตอกย้ำว่าไมโครซอฟท์กำลังพยายามดำเนินกลยุทธ์ด้านคลาวด์อย่างจริงจัง ด้วยการเสนอบริการไอทีบนคลาวด์ที่หลากหลายแก่กลุ่มธุรกิจทั่วโลก ทั้งหมดนี้ถือเป็นการปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งกูเกิลซึ่งสามารถชิงลูกค้าและหน่วยราชการบางแห่งไปเป็นลูกค้าได้ ขณะเดียวกัน บริษัทเกิดใหม่อย่าง Salesforce.com ก็ได้รับความสนใจจากนานาบริษัทที่ต้องการตัวเลือกใหม่นอกเหนือจากไมโครซอฟท์
เหตุผลที่หลายบริษัทต้องการตัวเลือกใหม่ที่ไม่ใช่การซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมกับไมโครซอฟท์ตามปกติ คือความยืดหยุ่นและความประหยัดในการใช้งาน โดยที่ผ่านมา บริษัทที่ซื้อโปรแกรมสร้างงานเอกสารและนานาโปรแกรมจัดการงานและการสื่อสารในองค์กรของไมโครซอฟท์ จะต้องใช้งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการลงโปรแกรมไว้เท่านั้น และต้องเสียค่าลิขสิทธิ์โปรแกรมตามจำนวนผู้ใช้งาน แถมต้องเสียเงินซื้อโปรแกรมเวอร์ชันใหม่อีกครั้งหากมีการอัปเกรดโปรแกรมเวอร์ชันใหม่
แต่บริการโปรแกรมบนคลาวด์คอมพิวติงจะทำให้บริษัทสามารถเรียกใช้โปรแกรมได้บนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์พกพาใดก็ได้ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แถมยังมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่า และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อใช้งานโปรแกรมเวอร์ชันใหม่
เหล่านี้ทำให้บริการโปรแกรมออนไลน์บนคลาวด์คอมพิวติงกลายเป็นเทรนด์แรงที่บริษัทองค์กรทั่วโลกให้ความสนใจ และคาดว่าจะหันมาใช้บริการโปรแกรมออนไลน์นี้อย่างเป็นล่ำเป็นสันมากขึ้นในอนาคต แน่นอนว่าไมโครซอฟท์รู้ดีว่าตัวเองต้องปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง จนทำให้ไมโครซอฟท์ตัดสินใจแจ้งเกิด Office 365 ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ออนไลน์ Windows Azure และบริการอื่นๆในช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับ Office 365 รายงานระบุว่าไมโครซอฟท์ได้ตกลงเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตแบล็กเบอรีอย่าง Research In Motion ในการเชื่อมเซิร์ฟเวอร์ BlackBerry Enterprise เข้ากับศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ เพื่อให้บริการ Office 365 แก่ผู้ใช้แบล็กเบอรีทั่วโลก ที่น่าสนใจคือ แท็บเล็ตซึ่งผู้ผลิตแบล็กเบอรี่กำลังจะวางจำหน่ายนาม PlayBook จะสามารถส่งออกและแสดงข้อมูลในบริการ Office 365 จากเครื่องแบล็กเบอรีของผู้ใช้ได้ผ่านบริการ BlackBerry Bridge ด้วย
นอกจาก Office 365 ข่าวคราวล่าสุดจากไมโครซอฟท์ในขณะนี้คือกรณีพิพาทเรื่องสิทธิบัตรเทคโนโลยีซึ่งบริษัท i4i สัญชาติแคนาดายื่นฟ้องไมโครซอฟท์เป็นเวลากว่า 4 ปีโดยกล่าวหาว่าไมโครซอฟท์ละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีของ i4i ในโปรแกรม Microsoft Word ทั้งเวอร์ชันปี 2003 และ 2007 โดยไมโครซอฟท์จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ตัดสินให้ไมโครซอฟท์จ่ายเงินมูลค่ากว่า 300 ล้านเหรียญ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปใดเพิ่มเติม
ที่มา: manager.co.th