"กูเกิล"เปิดแนวรบจับเอสเอ็มอีไทย อัดกิจกรรมผนึกเอเยนซี่เปิดตลาด"เสิร์ชมาร์เก็ตติ้ง"
"กูเกิล" เร่งเครื่องตลาดเอสเอ็มอีในไทย ตั้งทีมฝ่ายขายและการตลาดดูแลลูกค้าไทยโดยเฉพาะ เดินหน้าอัดกิจกรรมกระตุ้นตลาด รับปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัว ลูกค้าสนใจออนไลน์มาร์เก็ตติ้งเพิ่ม พร้อมขยายเครือข่ายเอเยนซี่สร้างความรู้ความเข้าใจ "เสิร์ช มาร์เก็ตติ้ง"
นายซารีฟ เอล อันซารี หัวหน้างาน ออนไลน์และตัวแทนขายกูเกิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ตลาดเอสเอ็มอีในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีสัดส่วนประมาณ 85% ของธุรกิจในไทย ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 858,291 ราย และมีประมาณ 100,000 รายที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่เอสเอ็มอีต้องการหารายได้เพิ่ม และลดค่าใช้จ่าย ไม่สามารถโฆษณาผ่านสื่อแมสได้ ทำให้การทำตลาดแบบเสิร์ช ออนไลน์มาร์เก็ตติ้งในตลาดไทยจึงมีศักยภาพเติบโตสูง เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ควบคุมได้และมีผลตอบแทนที่สูง
ดังนั้น กูเกิลจึงหันมาโฟกัสตลาดไทยมากขึ้น โดยได้ตั้งทีมงานทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด และฝ่ายโลคอลไลซ์ ที่เป็นคนไทยเพื่อดูแลลูกค้าประเทศไทยประจำอยู่ในสิงคโปร์
กลยุทธ์ของกูเกิลในการรุกตลาดเอสเอ็มอี คือ การทำโปรโมชั่นเพื่อเข้าถึงลูกค้า ล่าสุดกูเกิลไดร่วมกับพาร์ตเนอร์ คือ Tarad.com, Net Design และ WeloveShopping.com โดยลูกค้าที่ซื้อหนังสือเกี่ยวกับ AdWords หรือเข้าร่วมสัมมนาในเครือข่ายพันธมิตรจะได้รับคูปองมูลค่า 1,500-2,500 บาทเพื่อให้ลูกค้ากลุ่ม เอสเอ็มอีได้ทดลองใช้งานและเห็นผล ประโยชน์จริงด้วย รวมถึงยังมีการจัดงานกิจกรรมสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงแพลตฟอร์มของ AdWords ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น พัฒนารูปแบบการจ่ายเงินที่รองรับกับ ผู้ประกอบการในไทย และการสร้างกิจกรรมการตลาดและการเทรนนิ่งร่วมกับเอเยนซี่ที่เป็นพาร์ตเนอร์ด้วย
"ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีเป็นฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของเสิร์ชมาร์เก็ตติ้งอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ทำกิจกรรมมากนัก แต่ตอนนี้เราเน้นมากขึ้น และโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเอสเอ็มอีโดยตรง"
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลงโฆษณากับกูเกิลจำนวนหลายพันราย และมีการเติบโตของผู้ใช้ AdWords ประมาณดับเบิลดิจิต โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว บริการ ค้าปลีก อาทิ บริษัทไอทีเวิร์ค บริการซอฟต์แวร์และตรวจสอบลายนิ้วมือ, บริษัทซุปเปอร์มูฟ บริการรถเช่า, บริษัทบางกอกซิตี้สมาร์ท ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ขณะที่เว็บไซต์ซึ่งเป็นเครือข่ายกับกูเกิลในไทยมีประมาณ 10,000 แห่ง
นายซารีฟกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกูเกิลมีส่วนแบ่งการตลาดเสิร์ชในไทย 98.75% โดยรายได้มากกว่า 90% ของกูเกิลมาจากการโฆษณาออนไลน์ เป็นการคิดรายได้ในรูปแบบ pay per click จากผู้ลงโฆษณา และค่าธรรมเนียมรายเดือนสำหรับการใช้กูเกิล แอปพลิเคชั่นในตลาดองค์กร
สำหรับภาพรวมโฆษณาทางออนไลน์ในไทยมีมูลค่าประมาณ 900 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของตลาดรวมโฆษณารวม 9 หมื่นล้านบาท โดยที่พฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอันดับ 1 คือ การใช้เสิร์ช 31.4% อีเมล์ 23% และอ่านข่าวออนไลน์ 10.3%
นางสาวพรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกูเกิลได้ร่วมมือกับเอเยนซี่โฆษณาหลายราย เช่น เครือกรุ๊ปเอ็ม และเอเยนซี่ที่ทำตลาดเฉพาะเสิร์ชมาร์เก็ตติ้งอย่างเดียวเพื่อให้เป็นผู้สนับสนุนโฆษณาของกูเกิล และมีแผนที่จะขยายเอเยนซี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ให้การสนับสนุน AdWords ของกูเกิลเป็นระยะยาวนานและผ่านการเทรนนิ่งจะได้รับใบรับรองจากกูเกิลด้วย
ที่มา: matichon.co.th