สื่อต่างประเทศรายงาน กูเกิล (Google) กำลังผนึกกำลังกับยักษ์การเงินอย่างซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เสริมเขี้ยวเล็บให้ชาวโลกสามารถจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการได้ด้วยโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (โมบายเพย์เมนต์) เบื้องต้นพบว่ากูเกิลไม่ได้หวังแทนที่บริษัทบัตรเครดิตเพื่อชิงรายได้จากค่าธรรมเนียม แต่ระบบนี้จะทำให้กูเกิลสามารถทำรายได้จากการโฆษณาและการตลาดได้มากขึ้น
สำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นอลอ้างแหล่งข่าวไม่ระบุนามว่า กูเกิลกำลังซุ่มพัฒนาการจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือที่ง่ายกว่าเดิมเพื่อยกระดับธุรกิจโฆษณาออนไลน์ โดยข้อมูลระบุว่าด้วยโครงการนี้ กูเกิลจะสามารถให้ข้อมูลลูกค้าแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นได้มากขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายโฆษณาและทำตลาดด้วยการให้ส่วนลดผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่อยู่ใกล้บริเวณร้านได้ดีกว่าเดิม
ในแง่ของผู้ใช้ โครงการนี้จะทำให้ผู้ถือบัตรเดบิตและบัตรเครดิตของซิตี้กรุ๊ป สามารถใช้งานแอปพลิเคชันจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ โดยจะสามารถรับโฆษณาหรือส่วนลดพิเศษ ขณะเดียวกันก็สามารถบริหารข้อมูลเครดิตและควบคุมการใช้จ่ายได้สะดวกผ่านแอปฯในโทรศัพท์มือถือ
นอกจากซิตี้กรุ๊ปและมาสเตอร์การ์ด รายงานยังระบุว่าโครงการนี้ยังมีบริษัทเวอริโฟนซิสเต็มส์ (VeriFone Systems Inc.) บริษัทผู้ผลิตเครื่องอ่านบัตรเครดิตเข้าร่วมด้วย โดยเวอริโฟนจะพัฒนาระบบอ่านชิป NFC เพื่อให้การจ่ายเงินทำได้ด้วยการวางโทรศัพท์ไว้ใกล้เครื่องอ่าน จุดนี้ ดัค เบอร์เกอรอน (Doug Bergeron) ซีอีโอของเวอริโฟนเชื่อว่า เทคโนโลยี NFC จะถูกติดตั้งในสมาร์ทโฟนทั้งไอโฟน แบล็กเบอรี่ และโทรศัพท์มือถือค่ายอื่นๆ
NFC หรือ Near Field Communication เป็นเทคโนโลยีชิปที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้โทรศัพท์มือถือชำระค่าสินค้าและบริการได้แทนเงินสดหรือบัตรเครดิต นอกจากสมาร์ทโฟน ชิป NFC ยังถูกติดไว้ในบัตรโดยสารรถไฟ-รถใต้ดิน เช่น Suica ของญี่ปุ่น, Oyster Card ของอังกฤษ และ Octopus Card ของฮ่องกง เพื่อให้ผู้ถือบัตรสามารถจ่ายค่าบริการอื่นๆแทนเงินสดได้ด้วยการแตะบัตรกับเครื่องอ่าน ล่าสุด มีรายงานว่ากูเกิลและแอปเปิลจะพัฒนาระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนที่รองรับการทำงานของ NFC โดยแอปเปิลยังไม่มีการยืนยันใดๆ แต่กูเกิลยืนยันแล้วว่า ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รุ่นใหม่ 2.3 จะสามารถรองรับ NFC ได้
สำนักข่าว wired.com วิเคราะห์ว่า เหตุที่กูเกิลดึงบริษัทบัตรเครดิตยักษ์ใหญ่อย่างซิตี้กรุ๊ปและมาสเตอร์การ์ดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ NFC ของตัวเอง เพราะต้องการสร้างหลักประกันเรื่องความเสถียรและความน่าเชื่อถือของระบบชำระเงินแบรนด์แอนดรอยด์ โดยมองว่าหลังจากกูเกิลไม่สามารถซื้อบริษัทอีคอมเมิร์ชอนาคตไกลอย่าง Groupon กูเกิลจึงมีความเสี่ยงเสียโอกาสทั้งในธุรกิจค้นหาข้อมูลและการโฆษณาในท้องถิ่น (Local) ประกอบกับ NFC คือหนึ่งในคุณสมบัติใหม่ที่จะส่งให้ผู้ใช้เลือกซื้อสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เครื่องใหม่ ทั้งหมดนี้ทำให้กูเกิลเห็นความจำเป็นของการนำระบบชำระเงินบนแอนดรอยด์มาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นธุรกิจโฆษณาในท้องถิ่นของตัวเอง
รายงานระบุว่า ระบบจ่ายเงินด้วยสมาร์ทโฟนของกูเกิลจะทำให้กูเกิลสามารถพิสูจน์ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเห็นประโยชน์ของการซื้อโฆษณากับกูเกิลได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน กูเกิลก็จะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น ทำให้สามารถแก้เกมธุรกิจที่เครือข่ายสังคมอย่าง Facebook และ Groupon สามารถครองใจผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ดีกว่ากูเกิลในขณะนี้
คาดกันว่าระบบชำระเงินด้วยสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ซึ่งมีกูเกิลเป็นผู้สนับสนุนหลักจะสามารถจุดพลุให้บริการได้ภายในปีนี้ หากเกิดขึ้นได้จริง สังเวียนโมบายเพย์เมนต์ในสหรัฐฯจะดุเดือดยิ่งขึ้นเนื่องจากคู่แข่งของมาสเตอร์การ์ดอย่างวีซ่า (Visa) ก็ได้ร่วมกับกลุ่มธนาคารดำเนินโครงการทดสอบระบบชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีในท้องตลาดโดยใช้ชิปและเสาสัญญาณพิเศษเป็นอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มให้ผู้ใช้สามารถนำโทรศัพท์มือถือที่มีอยู่แทนเงินสดได้แล้ว นอกจากนี้ กลุ่มโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในสหรัฐฯ ทั้ง Verizon Wireless, AT&T และ T-Mobile USA ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการ Isis เพื่อร่วมมือกับบริษัท Discover Financial Services Inc. พัฒนาระบบโมบายเพย์เมนต์เพื่อชาวอเมริกัน ทั้งหมดจะแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างดุเดือดแน่นอน
นี่ถือเป็นความพยายามครั้งล่าสุดในการเพิ่มขอบเขตการใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันให้แก่มหาชนคอฮัลโหล จากการสนทนามาสู่ยุคแห่งการเล่นอินเทอร์เน็ต และล่าสุดคือการชอปปิ้ง ล่าสุด ตัวเลขตลาดการจ่ายเงินด้วยอุปกรณ์มือถือนี้มีแนวโน้มเติบโตชนิดหยุดไม่อยู่ โดยบริษัทวิจัย Edgar, Dunn & Co. เปิดเผยว่าตลาดจะมีมูลค่ามากกว่า 6.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 ขณะที่บริษัทวิจัย Federal Reserve คาดว่าจะมีอุปกรณ์ที่รองรับโมบายเพย์เมนต์ในตลาดถึง 70 ล้านเครื่อง บนจำนวนเครื่องอ่าน 150,000 เครื่องซึ่งจะมีการติดตั้งในร้านค้าทั่วสหรัฐฯ
สำหรับตลาดผู้ประกอบการท้องถิ่นในสหรัฐฯ ข้อมูลประจำปี 2009 ระบุว่ากลุ่มธุรกิจอเมริกันซึ่งมีพนักงานต่ำกว่า 100 คนลงไปนั้นมีเม็ดเงินโฆษณาในสื่อท้องถิ่นสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีกต่อเนื่องนับจากนี้
ที่มา: manager.co.th