เกย์นที
"เกย์นที" ออกโรงไม่เห็นด้วยกับโครงการ "จิ๋มเอื้ออาทร" เผยเป็นการทำธุรกิจที่ไม่มองถึงผลกระทบต่อสังคมโดยยกเรื่องป่วยเป็นโรคมาอ้าง พร้อมเตรียมยื่นหนังสือถึงรมต.สาธารณสุข
ฮือฮาไม่น้อยสำหรับโครงการ Sister’s Hand หรือที่เรียกกันว่า “จิ๋มเอื้ออาทร” ครั้งที่ 2 เพื่อคัดหา 5 สาวประเภทสองเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศฟรี จัดโดยโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยมี "นก ยลดา" ในฐานะนายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยเป็นกระบอกเสียง
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมาก โดยบางฝ่ายก็เห็นด้วย ขณะที่อีกไม่น้อยก็แสดงความไม่เห็นด้วยซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเกย์ชื่อดัง "นที ธีระโรจนพงษ์" จากเครือข่ายองค์กรอัตลักษณ์ทางเพศที่มองว่าโครงการนี้เห็นการทำธุรกิจซึ่งไม่รับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างว่าคนเหล่านี้ป่วย
"มีอยู่ 3 ประการที่ทางเราไม่เห็นด้วย หนึ่งก็คือมันเป็นโครงการที่มันจะเป็นการปลุกกระตุ้นคนทั้งประเทศให้รู้เรื่องเหล่านี้โดยการโฆษณา เป็นการกระตุ้นคนในวงกว้าง ทำให้เด็กๆ บางคนอาจจะเข้าใจผิด คล้ายๆ กับว่าถูกโปรโมชันล่อ ซึ่งมันอาจจะทำให้เกิดกะเทยเทียมขึ้น คือบางคนอาจจะยังสับสนอยู่ แต่พามาเจอนี้ก็อาจจะปรู๊ดไปเลย แล้วพอมารู้ตัวทีหลัง อ้าวทำไงล่ะ ผ่าไปแล้ว"
"สองเขาบอกว่าจะเอื้ออาทร นั่นก็แสดงว่าจะรับคนที่ไม่มีฐานะ ซึ่งแล้วหลังจากการผ่าตัดไปแล้วล่ะ เพราะว่าค่าใช้จ่ายมันไม่ได้อยู่ที่ค่าผัดตัดอย่างเดียว มันอาจจะต้องมีอย่างอื่นตามมาอีกเยอะ แล้ว 30-40 ปีเขาจะอยู่กันอย่างไร"
"สุดท้ายข้อสามอันนี้สำคัญมากที่มีการอ้างว่าโครงการนี้เป็นการช่วยเหลือบุคคลที่มีความผิดปกติด้านอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity Disorders (GID)) มีสภาพจิตใจไม่ตรงกับเพศของตัวเอง ซึ่งส่งผลกระทบนะ น้องหลายคนอยู่ๆ ก็ถูกถามว่าแปลงเพศแล้วหรือยัง ถ้าไม่แปลงยังเป็นโรคอยู่ ทั้งๆ ที่แต่ก่อนเขาหลุดพ้นจากคำว่าโรคอะไรต่างๆ ไปแล้ว แต่กลับกลายว่าตอนนี้มาถูกสังคมเอามาตีตราว่าเป็นโรคเข้าให้อีก"
เผยบ่ายวันพรุ่งนี้ทางกลุ่มเครือข่าวองค์กรอัตลักษณ์ทางเพศ กลุ่มเกย์การเมืองไทย บางกอกเรนโบว์ รวมถึงกลุ่มผู้หญิงไม่แท้ไม่ปลอม เตรียมจะยื่นหนังสือถึง "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมยืนยันไม่ได้เกาะกระแส
"เรารู้ว่าปีนี้เป็นปีที่สองแล้วที่เขาทำ เพียงแต่ครั้งแรกที่เราไม่ออกมาเพราะเรามองว่าเขาทำกันแบบค่อนข้างจะเงียบๆ แต่ปีนี้มันมีการประโคมกันมาก ซึ่งมันมีผลในวงกว้าง มันเป็นการกระตุ้นเตือน มีผู้ปกครองหลายคนโทร.มาบอกจะทำอย่างไร ลูกรบเร้าอยากจะแปลงเพศเพราะรู้สึกว่าที่ตนเองเป็นอยู่มันเป็นโรค บางคนถึงขนาดบอกให้พ่อแม่เอาที่เอานาไปจำนองเลยนะ"
"มีคนหนึ่งโทรมาบอก พี่นที น้องชายอยู่ดีๆ ก็มาบอกว่าอยากจะแปลงเพศเพราะรู้เรื่องโครงการนี้ เขาโกรธมาก บอกนี่มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่เห็นมีใครออกมาชี้แจงอะไรเลย น้องคนหนึ่งโทรมาปรึกษาจะทำอย่างไรดีพี่ เพราะเขาจะลงสมัคร อบต. คือเป็นกะเทยก็ระดับนึงแล้วนะ แต่ตอนนี้ยังถูกมองว่าเป็นโรคเข้าให้อีก"
"คือใครพร้อมจะผ่า จะตัด จะเฉาะ เราไม่ว่า เราไม่ห้ามอะไรอยู่แล้ว แต่การมาเร่งเร้าด้วยการโปรโมชั่นอะไรทำนองนี้ทางเรามองว่าเป็นการกระทำที่ไม่มองถึงผลกระทบที่มันจะมีต่อสังคมเอาเสียเลย"
ที่มา: manager.co.th