กลาง - นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
ก่อนหน้านี้ทีมงานเคยพูดถึงการทำตลาดด้วยการใช้แอปพลิเคชันโฟร์สแควร์ หรือโปรแกรม Location Base Service ในเมืองไทย ที่มีหลายเสียงออกมาให้ความเห็นว่ามันยากที่ประสบความสำเร็จในบ้านเรา เนื่องจากหลายๆ ปัจจัย แต่ยังไม่ทันขาดคำ ธนาคารกสิกรไทยก็ลุกขึ้นมาสร้างปรากฏการณ์ "มงกุฏเกลื่อนกรุง" โดยใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นตัวแทนเพื่อประกาศในคนรู้ว่า "กสิกรไทย เป็นผู้นำด้าน Digital Banking" ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด
อะไรคือปรากฏการณ์ "มงกุฏเกลื่อนกรุง"?
มงกุฏเกลื่อนกรุง มาจากการที่ธนาคารกสิกรไทยจัดกิจกรรมเคแบงก์ โฟร์สแควร์ (KBank Foursquare) ที่ต้องการให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสาขาของธนาคารกสิกรได้โดยใช้แอปพลิเคชันโฟร์สแควร์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน เมื่อลูกค้าเข้าไปเช็กอินที่ธนาคารกสิกรที่ร่วมรายการ จะได้รับของกำนัลเป็นหมอนมงกุฏสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าถิ่น (Mayor) บนแอปพลิเคชันดังกล่าว
ถ้าสังเกตุดีๆ ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นกิจกรรม ถ้าใครได้มีโอกาสเดินไปแถวสยามสแควร์ สยามพารากอน เซนทรัล และห้างเดอะมอลล์ในกรุงเทพมหานคร จะเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยถือหมอนมงกุฏสีเหลืองเดินไปมา
ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพเท่านั้นที่เราจะได้เห็นหมอนมงกุฏสีเหลืองกระจายไปทั่ว แต่ยังลามไปถึงพื้นที่ต่างจังหวัดที่ได้เห็นผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเมื่อมีคนเช็กอินและรับหมอนไปแล้ว จะทำการถ่ายรูปและอัปขึ้นเฟซบุ๊กเพื่อบอกให้เพื่อนๆ รู้ เชื่อกันว่า การอัปขึ้นเฟซบุ๊ก 1 คน จะมีเพื่อนสมาชิกเห็นอย่างต่ำ 100 คน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกดิจิตอลที่เรียกว่าปรากฏการณ์ "มงกุฏเกลื่อนกรุง"
นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าถึงที่มาของปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยต้องการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน Digital Banking ให้กับผู้ใช้งานมาโดยตลอด เราประสบความสำเร็จด้านการทำ Mobile Banking และแฟนเพจ Facebook ที่ช่วยทำให้บริษัทสามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ปัจจุบัน Kbank มีแฟนเพจบนเฟซบุ๊กกว่า 120,000 ราย
ล่าสุดธนาคารเริ่มมองเห็นความสำคัญกับโปรแกรม Location Base Service ที่ทำให้ลูกค้าสามารถค้นหาสาขาของธนาคารได้บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน นอกจากนี้ในบางสาขาที่ร่วมรายการเมื่อลูกค้าทำโทรศัพท์มือถือเข้ามาเชกอินในสาขาที่ร่วมรายการ พนักงานธนาคารจะทำการลงแอปพลิเคชัน K-Mobile Banking Plus ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบยอดเงินในบัญชี, โอนเงิน, ชำระค่าบริการ และดูรายการเดินบัญชีย้อนหลัง ผ่านสมาร์ทโฟนที่พกติดตัวได้
"ปรากฏการณ์มงกุฏเกลื่อนกรุงถือเป็นความสำเร็จของกิจกรรมเคแบงก์ โฟร์สแควร์ เห็นได้จากที่เรากำหนดระยะเวลาของกิจกรรมนี้ไว้ 15 วัน แจกหมอน 10,000 ใบ ใน 20 สาขาทั่วกรุงเทพ ตั้งใจไว้ว่าถ้าครบกำหนดหมอนยังแจกไม่หมดก็จะขยายเวลา แต่ผลตอบรับกลับดีเกินคาด โดยวันแรกของการเปิดตัวกิจกรรมมีผู้สนใจเข้ามาเช็กอินกว่า 5,000 ราย จนถึงขณะนี้หมอนที่เราผลิตออกมาหมดแล้ว แต่ยังมีลูกค้าเข้ามาที่สาขาเพื่อจะทำการเช็กอินอยู่ แม้จะยังไม่ครบกำหนดที่เราวางไว้
"ผลของการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว นอกเหนือไปจากฟีดแบคการเข้ามาเช็กอินที่สาขาเพื่อรับหมอนคือ ผู้ร่วมกิจกรรมหลายรายเมื่อได้รับหมอนมาแล้ว จะทำการถ่ายรูปและอัปโหลดภาพไปบนหน้าเว็บเพจเฟซบุ๊กของ KBank เพื่อทำการขอบคุณกับของกำนัลที่ได้รับ นี่ถือเป็นตัวบอกความสำเร็จของกิจกรรม และทำให้เรามองเห็นว่าการทำตลาดบนโฟร์สแควร์สามารถใช้งานได้จริงในบ้านเรา โดยในอนาคตลูกค้าธนาคารกสิกรไทยจะจะสามารถหาตู้ ATM ผ่านทางแอปพลิเคชันโฟร์สแควร์ได้" นายศีลวัตกล่าว
เมื่อมองดูให้ดี จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยทำนั้นแทบไม่แตกต่างจากการทำตลาดแบบที่ร้านขายโดนัทแบรนด์ดังอย่าง Krispy Kreme ทำ คือการใช้ Viral Marketing หรือการทำตลาดด้วยวิธีบอกแบบปากต่อปากเข้า เพื่อให้เกิดประเด็นที่เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ซึ่งก็ตรงไปตามวัตถุประสงค์ที่ธนาคารตั้งไว้
นี่เป็นเพียงอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการทำให้การทำตลาดบนโลกออนไลน์สัมฤทธิผล โดยใช้งบประมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับการใช้สื่ออื่นๆ ก็ต้องรอดูหันต่อไปว่าจะมีบริษัทรายไหนจะเลือกใช้โฟร์สแควร์มาใช้เป็นตัวการทำตลาดจนประสบความสำเร็จอย่างที่กสิกรไทยทำ และบริษัทนั้นจะใช้วิธีไหนในการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆให้เกิดขึ้นบนโลกยุคดิจิตอลเช่นนี้
Company Related Link :
KBank
ที่มา: manager.co.th