ซีอีโอโนเกีย Stephen Elop (ซ้าย) และซีอีโอไมโครซอฟท์ Steve Ballmer (ขวา)
ภาพล้อเลียนที่นำ Nokia N8 สมาร์ทโฟนของโนเกีย มาใส่ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โฟน 7
ตามคาด โนเกียและไมโครซอฟท์แถลงรายละเอียดความร่วมมือร่วมกันที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเปิดเผยถึงบทสรุป 9 ความร่วมมือที่เชื่อว่าเป็นการใช้ความแข็งแกร่งของทั้ง 2 ค่ายในการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโลกรูปแบบใหม่ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลดีทั้งกับผู้ใช้ นักพัฒนา โอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และนานาธุรกิจทั่วโลก
ซีอีโอโนเกีย Stephen Elop และซีอีโอไมโครซอฟท์ Steve Ballmer ประกาศทั้ง 9 บทสรุปความร่วมมือระหว่างโนเกียและไมโครซอฟท์นี้ในรูปจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณชน โดยระบุว่าทั้ง 9 ข้อเป็นหลักใหญ่ใจความที่โนเกียและไมโครซอฟต์จะเดินไปด้วยกันในอนาคต ท่ามกลางรายละเอียดที่ยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน
1. โนเกียจะถือเอาระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน (Windows Phone) เป็นกลยุทธ์หลักในธุรกิจสมาร์ทโฟนของโนเกีย โดยจะพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของคุณสมบัติอื่น เช่น เทคโนโลยีการถ่ายภาพ ซึ่งโนเกียคุยว่าตัวเองเป็นผู้นำในตลาดอยู่
2. โนเกียจะมีส่วนสนับสนุนและกำหนดทิศทางอนาคตของระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน โดยจะนำความเชี่ยวชาญที่โนเกียมีมาใช้ ทั้งด้านการออกแบบฮาร์ดแวร์ การรองรับภาษาถิ่น การแบ่งกลุ่มตลาด และความสามารถในการทำให้วินโดวส์โฟนมีระดับราคาที่เข้าถึงช่วงตลาดที่กว้างขึ้น
3. โนเกียและไมโครซอฟท์จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนา ดำเนินพันธกิจด้านการตลาดร่วมกัน รวมถึงแบ่งปันทิศทางการพัฒนา เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาอุปกรณ์เคลื่อนที่ในอนาคต
4. บิง (Bing บริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ของไมโครซอฟท์) จะให้บริการบนอุปกรณ์และบริการของโนเกียทุกระดับ เพื่อให้ผู้ใช้โนเกียสามารถค้นหาข้อมูลบนเทคโนโลยียุคหน้าบนบริการบิงได้สะดวก ขณะที่บริการแอดเซ็นเตอร์ (Microsoft adCenter) จะให้บริการค้นหาโฆษณาบนอุปกรณ์และบริการของโนเกีย
5. บริการแผนที่ของโนเกีย Nokia Maps จะเป็นบริการหลักในนานาบริการด้านแผนที่ของไมโครซอฟท์ ตัวอย่างเช่น Nokia Maps อาจถูกรวมลงในบริการเสิร์ชเอนจิ้นอย่างบิง และแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ของไมโครซอฟท์อย่างแอดเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างเป็นเครื่องมือค้นหาและการโฆษณาในท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
6. โนเกียจะใช้ข้อตกลงด้านการชำระเงินที่โนเกียมีกับโอเปอเรเตอร์มากมายทั่วโลก มาทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อบริการ "Nokia Windows Phone" ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีการใช้งานเครดิตการ์ดต่ำ
7. นักพัฒนาที่สนใจสร้างแอปพลิเคชันสำหรับ Nokia Windows Phones จะสามารถพัฒนาได้จากโปรแกรมชุดเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ (development tools) เพิ่มความยืดหยุ่นให้นักพัฒนาทั่วโลก
8. ไมโครซอฟท์จะลงเงินทุนในการพัฒนาระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน และบริการคลาวด์คอมพิวติง (cloud services) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทำงานที่หลากหลายขึ้นอีกบนโทรศัพท์มือถือ ทั้งในด้านการทำงานและชีวิตประจำวัน
9. ร้านจำหน่ายคอนเทนต์และแอปพลิเคชันของโนเกียจะถูกควบรวมเข้ากับร้านไมโครซอฟต์มาร์เก็ตเพลส (Microsoft Marketplace) ของไมโครซอฟท์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
ทั้ง 9 ข้อนี้ มีความหมายเท่ากับสาวกโนเกียอาจจะได้เห็นการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหญ่ความสามารถสูงแบรนด์โนเกีย ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone 7 เบื้องต้นคาดว่ามีโอกาสสูงที่โนเกียจะนำเลนส์คาร์ล ไซส์ (Carl Zeiss) มาใช้กับสมาร์ทโฟนวินโดวส์รุ่นใหม่ นอกจากนี้ ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ยังส่อแววรองรับภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศได้มากขึ้น แถมยังสามารถทำการตลาดในหลายเซกเมนต์ได้โดยไม่ต้องใช้เวลานาน
การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และการแบ่งปันข้อมูลในการพัฒนา ถือเป็นข้อตกลงทั่วไปที่มักเกิดขึ้นหลังจากมีความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัท แต่สิ่งสำคัญคือผลพลอยได้จากข้อตกลง โดยดูเหมือนว่าไมโครซอฟท์จะได้ประโยชน์ไปเต็มมือ เช่น กรณีการเปิดกว้างให้บิงเป็นเครื่องมือค้นหาหลักในอุปกรณ์โนเกีย เชื่อกันว่าจะทำให้ไมโครซอฟท์สามารถทำตลาดแอดเซ็นเตอร์ได้กว้างขึ้น แถมส่วนแบ่งตลาดของบิงก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
จุดนี้เชื่อว่า รายได้จากการขายโฆษณาซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเติบโตตาม จะถูกแบ่งปันกันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่แน่นอน
ที่สำคัญ การควบรวมบริการแผนที่ของโนเกียเข้ากับไมโครซอฟท์ ย่อมแสดงถึงความครบถ้วนของข้อมูลที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้ทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากฐานข้อมูลที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ย่อมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาในท้องถิ่นได้มากขึ้นเป็นธรรมดา
ความร่วมมือข้อ 6 ถูกมองว่าจะทำให้ไมโครซอฟท์สามารถเพิ่มรายได้จากการซื้อขายคอนเทนต์และแอปพลิเคชันได้ เพราะความร่วมมือนี้แปลว่าโนเกียกำลังเตรียมการนำระบบชำระเงินผ่านโอเปอเรเตอร์มาใช้กับ Windows Phone 7 ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาการไม่สามารถสร้างรายได้จากผู้ใช้ในประเทศที่มีอัตราการใช้งานบัตรเครดิตน้อย โดยไม่ใช่เฉพาะไมโครซอฟท์ หลายแพลตฟอร์มก็มีปัญหานี้เช่นกัน
จุดนี้นักวิเคราะห์มองว่า ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลโดยตรงจากความร่วมมือข้อ 6 เพราะคนไทยหลายรายนิยมจ่ายเงินค่าคอนเทนต์รวมกับบิลค่าโทรศัพท์ มากกว่าการหักผ่านบัตรเครดิต
นอกจากนี้ การผนวกคอนเทนต์และแอปพลิเคชันของโนเกียและไมโครซอฟท์ จะทำให้จำนวนแอปพลิเคชันของ Windows Phone 7 เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องรอระยะเวลา เมื่อจำนวนแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้น จุดอ่อนเรื่องการขาดแคลนแอปพลิเคชันในวินโดวส์โฟนก็ถูกลบเลือนลงไปส่วนหนึ่ง
ในภาพรวม ความร่วมมือทั้ง 9 ข้อนี้ยืนยันว่าทั้งโนเกียและไมโครซอฟท์มีแนวคิดว่า การต่อสู้ในสังเวียนโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวเครื่อง (device) แต่อยู่ที่ระบบนิเวศ (ecosystem) แวดล้อมที่เอื้อประกอบกัน เป็นวิสัยทัศน์ที่ทั้งโนเกียและไมโครซอฟท์จะผลักดันร่วมกันนับจากนี้
Company Related Link :
Microsoft
Nokia
ที่มา: manager.co.th