หนึ่งในสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์จากซัมซุง ล่าสุด นักสำรวจพบว่าแอนดรอยด์มีส่วนสนับสนุนให้ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนสามารถแซงหน้ายอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซีได้แล้วในขณะนี้
บริษัทวิจัยตลาดไอดีซี (IDC) เปิดเผยตัวเลขสำรวจตลาดสินค้าไอทีช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2010 ที่ผ่านมา พบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซีมียอดจำหน่ายน้อยกว่าสมาร์ทโฟนเป็นไตรมาสแรก โดยตลาดสมาร์ทโฟนมีอัตราการเติบโตถึง 87% สวนทางกับคอมพิวเตอร์พีซีที่มีอัตราการเติบโตน้อยเกินคาด คิดเป็นสัดส่วน 3% เท่านั้น
ไอดีซีให้ข้อมูลว่า ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคนั้นจัดส่งสินค้าประเภทสมาร์ทโฟนราว 100.9 ล้านเครื่องสู่ตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2010 ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2009 ขณะที่ยอดจัดส่งคอมพิวเตอร์พีซีมีจำนวนน้อยกว่า รวม 92.1 ล้านเครื่อง คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 3% ต่ำกว่าคาดการณ์
รามอน ลามาส นักวิเคราะห์ไอดีซีเชื่อว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าสมาร์ทโฟนกำลังขยายตัวคลุมตลาดพีซี โดยให้เหตุผลว่าสมาร์ทโฟนและพีซีนั้นมีวัตถุประสงค์ในการทำงานต่างกัน และผู้บริโภคโดยทั่วไปก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานทั้ง 2 อุปกรณ์ เนื่องจากพีซียังมีความสำคัญสำหรับการทำงานเอกสาร การแต่งภาพ และการสร้างคอนเทนต์หลากชนิด
เมื่อไม่ใช่สมาร์ทโฟน นักวิเคราะห์ไอดีซีกลับมองว่าคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์พกพาหน้าจอสัมผัสไร้แผงแป้นพิมพ์ คือต้นเหตุที่นำไปสู่ยุคขาลงของพีซี โดยยกตัวอย่างว่า ยอดจำหน่ายพีซีนั้นได้รับผลกระทบมากจากคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตยอดฮิตอย่างไอแพด (iPad) ของแอปเปิล และมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากขึ้นจากนานาแท็บเล็ตที่กำลังจะแจ้งเกิดในอนาคต
ไอดีซีเชื่อว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนโลกขยายตัวก้าวกระโดด หนึ่งคือราคาที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะยังไม่ถึงระดับต่ำกว่า 100 เหรียญซึ่งเป็นระดับที่การสำรวจพบว่าเป็นระดับที่ผู้บริโภคพอใจจ่ายมากที่สุด สองคือความน่าสนใจของซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะในแอนดรอยด์ (Android) ระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งกูเกิลพัฒนาขึ้น
จุดนี้ไอดีซีวิเคราะห์ว่าแอนดรอยด์มีส่วนหนุนให้ตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากค่ายมือถือทั้งเอชทีซี (HTC), ซัมซุง, โมโตโรลาและอื่นๆต่างโหมผลิตมือถือแอนดรอยด์สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าการใช้งานแอนดรอยด์จะเพิ่มขึ้นถึง 133 ล้านรายในปีหน้า (2012) สร้างรายได้การโฆษณาในแอปพลิเคชันให้แก่นักพัฒนาแอนดรอยด์มูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ และทำให้กูเกิลมีรายได้การโฆษณาเพิ่มขึ้นราว 1,300 ล้านเหรียญต่อปี
ปัจจัยที่ 3 คือผู้บริโภคมีพฤติกรรมการเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์มือถือที่บ่อยกว่าการเปลี่ยนเครื่องพีซี โดยการวิจัยพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักรอเวลา 3-5 ปีจึงจะเปลี่ยนพีซี ขณะที่ในวงการโทรศัพท์มือถือ ผู้บริโภคมักมีทางเลือกในการอัปเกรดมือถือใหม่ในเวลาที่สั้นกว่า ซึ่งหากพิจารณาผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะเห็นได้ชัดว่าระยะเวลาการรับประกันพีซีโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3 ปี ขณะที่ระยะสัญญาใช้โทรศัพท์มือถือต่อเนื่องมักกำหนดไว้ที่ 2 ปี
Company Related Link :
IDC
ที่มา: manager.co.th