Author Topic: บรอดแบนด์ ซิตี้ ครบเครื่องไลฟ์สไตล์อินเทอร์เน็ต  (Read 932 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline IT

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1175
  • Karma: +6/-0
  • Gender: Male
  • Assist. I.T. Manager
    • mv



* ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภูธรระอุ หลัง 'ทีทีแอนด์ที' เปิดศึกความเร็ว 3 เมก ราคา 590 บาท
       
       * กลุ่มทรู เปิดฉากคอนเซ็ปต์ 'บรอดแบนด์ซิตี้' ไฮสปรีดอินเทอร์เน็ตต้องมาครบ wireline+wireless
       
       * ประเดิม 'เมืองพัทยา' เป็นแห่งแรก มั่นใจศักยภาพผู้ใช้กำลังซื้อสูง
       
       เมื่อเร็วๆ นี้ ทางบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้รายงานภาวะการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยว่า ภาวะการแข่งขันในปีนี้ ผู้ให้บริการจะเร่งแข่งขันกันขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากอัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ในเขตเมืองก็คาดว่าผู้ให้บริการจะยังออกโปรโมชั่นและกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ รวมทั้งจะหันมาใช้กลยุทธ์แข่งขันกันพัฒนาความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ทำให้อัตราค่าบริการเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
       
       โดยในปี 2551 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 15,400,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีประมาณ 13,400,000 คน คิดเป็น 24.3% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แม้จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของทั่วโลก แต่เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง เนื่องจากข้อจำกัดด้านโครงข่ายและเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลต่อความแตกต่างในด้านความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
       
       ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์จำวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปีนี้ว่า จะมีประมาณ 17,000,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10% ส่งผลให้อัตราส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 26.6%
       
       ปัจจัยที่ทำให้ตลาดอินเทอร์เน็ตในปีนี้เติบโตขึ้นนั้น 'อัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ต' ที่ราคาเริ่มลดลง ขณะที่ 'ฐานผู้ใช้' ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำสามารถเติบโตได้อีกมาก รวมแนวโน้มการแข่งขันในการเปิดให้บริการของผู้ให้บริการมีการขยายการลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนที่ขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกทช.แบบที่ 3 สำหรับบริการ Network Provider & Service Provider มีถึง 17 บริษัท ซึ่งมีหลายๆ บริษัท ที่เริ่มลงทุนวางโครงข่ายกันบ้างแล้ว
       
       'การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกรุเทพฯ และปริมณฑลเริ่มทรงตัว ขณะที่การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัดมีการเติบโตเพียง 5-6% จึงยังมีโอกาสการขยายตัวอีกมาก' วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ ทรู ออนไลน์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโอกาสทางการตลาดของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้ฟัง
       
       วิเชาวน์ กล่าวว่า หลังจากที่ทรู อินเทอร์เน็ตได้เปิดตัวบรอดแบนด์ความเร็ว 8 เมกในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปเมื่อเดือนที่แล้ว มีผู้สนใจสมัครใช้งานเฉลี่ยวันละ 100 คนซึ่งเป็นการตอบรับที่ดี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เริ่มมองหาการขยายตลาดในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น
       
       'เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วที่ทรูบุกเบิกการทำตลาดบรอดแบนด์ในกรุงเทพฯ ได้สร้างมาตรฐานการให้บริการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเร็ว จากความเร็ว 512 เค มาเป็นเป็น 1 เมก แล้วก็กระโดดมาเป็น 2 เมก จนล่าสุดการให้บริการ 8 เมกที่ถือเป็นมาตรฐานที่เหนือกว่าบริการบรอดแบนด์ในประเทศออสเตรเลีย'
       
       ประกอบกับความพร้อมของบริษัท ทรู ยูนิเวอร์แซล คอมเวอร์เจ้นซ์ จำกัด บริษัทในเครือกลุ่มทรูที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ประเภท Network Provider & Service Provider จากกทช. ตั้งแต่ 8 ธันวาคม 2549 ที่มีการวางโครงข่ายโทรคมนาคมในต่างจังหวัดบางโครงข่ายมีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการ ทำให้กลุ่มทรูประกาศเปิดตัวบริการบรอดแบนด์ในต่างจังหวัด โดยเลือกพื้นที่อย่าง 'พัทยา' จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่แรกที่เปิดตัวบรอดแบนด์ซิตี้อย่างเป็นทางการโดยพร้อมให้บริการทันที 10,000 พอร์ต
       
       วิเชาวน์ กล่าวว่า จากการลงสำรวจความต้องการในพื้นที่ต่างจังหวัดพบว่า พัทยา มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตมาก เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาพักผ่อนเป็นจำนวนมาก โดยมีพฤติกรรมการใช้งานที่แตกต่างจากท้องที่อื่น ประกอบกับทางกลุ่มทรูมีแนวคิดในการทำตลาดที่ไม่เหมือนใครตรงที่ต้องการตอบโจทย์ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ จึงอยากให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้งานอินเทอร์เน็ต
       
       'การเข้าไปทำตลาดอินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัด ทรูต้องการให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้งาน และจะไม่ทำตลาดด้วยการประกาศสงครามราคา เพราะมีผู้แข่งขันในตลาดมากก็จะทำให้กลไกราคาลดลงไปเอง'
       
       โครงข่ายบริการบรอดแบนด์ในพัทยานั้น เป็นการลงทุนภายใต้บริษัท ทรู ยูนิเวอร์แซล คอมเวอร์เจ้นซ์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน บรอดแบนด์ ไวไฟได้ทั่วประเทศ โดยมีการลงทุนเรื่องโครงข่ายในต่างจังหวัดทั่วประเทศไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท
       
       'พัทยา เป็นการเปิดให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งเมืองเป็นแห่งแรก'
       
       วิเชาวน์ กล่าวอีกว่า แนวคิดการให้บริการของกลุ่มทรูแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นที่เปิดให้บริการเฉพาะบางส่วน แต่สำหรับมาตรฐานของกลุ่มทรูในการเปิดให้บริการบรอดแบนด์ จะมีบริการให้ครบทั้งบรอดแบนด์มีสายที่เหนือกว่าคู่แข่งด้วยเทคโนโลยี เอดีเอสแอล2+ ที่มีศักยภาพรองรับความเร็วได้สูงสุดถึง 20 เมกะไบต์ ทำให้กลุ่มทรูสามารถเปิดให้บริการแคมเปญไฮสปีดอินเทอร์เน็ตสูงสุด 8 เมกในเขตอำเภอเมืองพัทยา
       
       โปรโมชั่นพิเศษสำหรับเมืองพัทยามีด้วยกัน 3 แพกเกจ ได้แก่ หนึ่ง ทรูไลฟ์พลัส ได้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็ว 3 เมกในประเทศและ 256 กิโลบิตต่างประเทศแบบไม่อั้น พร้อมโปรโมชั่น โฟร์อินวันจากทรูมูฟ ใช้บริการไวไฟ เอดจ์ จีพีอาร์เอสและบริการมือถือในราคา 579 บาทต่อเดือน สอง โฟร์อินวัน สำหรับเจาะผู้นิยมเล่นเน็ตผ่านมือถือ เริ่มต้นที่ 129 บาทต่อเดือน ใช้บริการได้ทั้งไวไฟความเร็ว 256 เค นาน 10 ชั่วโมงต่อเดือน และเอดจ์ จีพีอาร์เอส อีก 10 ชั่วโมงต่อเดือน สำหรับ 3 เดือนแรก หลังจากนั้นใช้ไวไฟ เอดจ์ จีพีอาร์เอส รวมกัน 15 ชั่วโมงต่อเดือน และค่าโทร.ทรูมูฟในเครือข่ายทรูมูฟไม่อั้นตั้งแต่ ตี5-ก่อน 5 โมงเย็น หลังจากนั้นหรือโทร.นอกเครือข่ายคิดนาทีแรก 2 บาท นาทีต่อไปนาทีละ 1 บาท และ สาม เล่นเน็ตพร้อมโทรต่างประเทศ เมื่อซื้อซิมอินเตอร์ราคา 49 บาท สามารถเล่นไวไฟความเร็ว 1 เมกฟรีเดือนละ 1 ชั่วโมง พร้อมโทร.ต่างประเทศเริ่มต้นนาทีละ 1 บาท
       
       'แพกเกจที่เปิดตัวในพัทยาครั้งนี้เหมือนกับในกรุงเทพฯ ทุกประการ โดยเฉพาะ 8 เมกเป็นความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ด้วยราคา 1,990 บาทต่อเดือน แต่จากการสำรวจพบว่า ความต้องการใช้งานความเร็วอินเทอร์เน็ตของคนพัทยาอยู่ที่ 4 เมกสำหรับดาวน์โหลดเว็บไซต์ในประเทศ และ 2 เมกสำหรับดาวน์โหลดเว็บไซต์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นความต้องการเดียวกับผลการสำรวจของผู้ใช้ในกรุงเทพฯ ซึ่งทรูได้กำหนดราคาตามความต้องการไว้ด้วย'
       
       นอกจากบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในเฟสแรกจำนวน 10,000 พอร์ตแล้ว การสร้างบรอดแบนด์ซิตี้ของกลุ่มทรูคงจะสมบูรณ์แบบไปไม่ได้หากขาดจุดเด่น 'ไวไฟ' ซึ่งทางภาคภูมิใจว่า เป็นผู้นำอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สายที่บุกเบิกให้คนไทยมีอิสระสามารถท่องเน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา โดยปัจจุบันมีจุดให้บริการ ไวไฟ บาย ทรูมูฟ ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 16,000 จุด เฉพาะในเมืองพัทยาทางบริษัทได้ขยายจุดให้บริการไวไฟทั่วเมืองอีกกว่า 400 ฮอตสปอตทั้ง Indoor และ Outdoor เพื่อให้ชาวเมืองพัทยาใช้ชีวิตออนไลน์แบบไฮสปีดทั้งในบ้านและนอกบ้าน
       
       'บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทุกแพกเกจในเมืองพัทยาจะได้รับไวไฟ บาย ทรูมูฟ ความเร็ว 1 เมก ไม่อั้นนาน 3 เดือน'
       
       นนท์ อิงคุทานนท์ ผู้จัดการทั่วไป ไวร์ไลน์ บรอดแบนด์ เซอร์วิส บิซิเนส บริษัท ทรู กล่าวว่า การวางโครงข่ายเอดีเอสแอล 2+ รองรับการใช้งาน ครอบคลุมทุกการสื่อสาร โดยช่วงแรกทรูจะเน้นบริการบรอด แบนด์ และไว-ไฟ เป็นหลัก ซึ่งพัทยาติดตั้งจุดเชื่อมต่อไว-ไฟ แล้ว 400 จุด แต่ถ้าผู้บริโภคสนใจจะใช้โทรศัพท์บ้านด้วยทรูก็มีบริการ ปัจจุบันมีผู้ใช้บรอดแบนด์บนโครงข่ายของบริษัท ทรู ยูนิเวอร์แซลฯ อยู่แล้ว 600,000-700,000 ราย
       
       'เชื่อว่า เมื่อถึงสิ้นปี จะมีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในพัทยาไม่ต่ำกว่า 7,000 พอร์ตแน่นอน'
       
       นนท์ กล่าวอีกว่า ภายใต้งบลงทุนด้านโครงข่ายไม่ต่ำกว่าจังหวัดละ 100 ล้านบาท โดยเน้นการเชื่อมต่อคอนเวอร์เจนซ์ในบริการของกลุ่มทรู อาทิ การเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตจากมือถือผ่านไว-ไฟ การใช้งานบรอดแบนด์ โดยจังหวัดที่จะเปิดบริการต้องมีไว-ไฟ รองรับด้วย
       
       จังหวัดต่อไปที่มีศักยภาพพร้อมเปิดให้บริการ 'บรอดแบนด์ซิตี้' ที่ทางกลุ่มทรูมีแนวโน้มที่จะเปิดเป็นจังหวัดต่อไป ก็คือ เชียงใหม่
       
       'เวลานี้ ทรูได้ลงโครงข่ายบรอดแบนด์ที่เชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว' แหล่งข่าวในกลุ่มทรูให้ข้อมูล
       
       ก่อนหน้านี้ทางด้านบริษัท ทริปเปิ้ล ที บรอดแบนด์ จำกัดในเครือบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกํด (มหาชน) พยายามกระตุ้นความต้องการตลาดบรอดแบนด์ในต่างจังหวัดก่อนใคร ด้วยการเปิดแพกเกจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต 'แม็กซ์เน็ต' 3 เมกในประเทศราคา 590 บาท โดยใช้การตลาดกว่า 100 ล้านบาทเพื่อโปรโมทแพเกจดังกล่าวทั้งในต่างจังหวัดทั่วประเทศซึ่งถือเป็นฐานลูกค้าสำคัญ เนื่องจากทีทีแอนด์ทีมีโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพฯ อยู่ในมือ 1,500,000 เลขหมายอยู่ในมือ โดยมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มที่ชื่นชอบการดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมากๆ หรือกลุ่มเจน ซี หรือเจเนอเรชัน ออฟ คอนเทนต์เป็นหลัก
       
       'ที่ผ่านมาการให้บริการบรอดแบนด์ความเร็ว 3 เมกะบิต จะมีราคาราว 790 บาทต่อเดือน การที่แม็กซ์เน็ตปรับราคาลงมาเหลือที่ 590 บาทต่อเดือน จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมบรอดแบนด์ให้เติบโตขึ้น' พิชญ์ โพธารามิก ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท จัสมิน กล่าว
       
       พร้อมทั้งยังได้ทุ่มงบประมาณ 3,000 ล้านบาท สำหรับการขยายเครือข่ายการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ ทำให้ทีทีแอนด์ทีมีเครือข่ายให้บริการ 'แม็กซ์เน็ต' เพิ่มขึ้นอีก 300,000 พอร์ต เป็น 900,000 พอร์ต โดยมีเป้าหมายที่จะขยายฐานผู้ใช้เพิ่มเป็น 700,000 รายจากที่ปัจจุบันมีอยู่ 400,00 รายเท่านั้น
       
       ไวไฟ ซิตี้
       สนามทดลองตลาด
       
       ส่วนพื้นที่ไหนยังไม่พร้อมในการเปิดให้เห็นบรอดแบนด์ซิตี้ นนท์ กล่าวว่า ทางกลุ่มทรูก็มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการไวไฟทั่วเมืองหรือในพื้นที่ที่มีศักยภาพด้วย ซึ่งรูปแบบการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเปิดให้บริการไว-ไฟ แก่ประชาชนฟรี
       
       'เวลานี้เปิดบริการไปแล้ว 2 จังหวัด คือ กรีน-ไวไฟ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และที่หาดใหญ่ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อไว-ไฟ 300 จุด ความเร็ว 512 กิโลบิตต่อวินาที สัญญา 3 ปี ครอบคลุมการใช้งานของประชากร 120,000 ราย'
       
       ก่อนหน้านี้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอทีจับมือกับเทศบาลเมืองศรีราชาภายใต้ชื่อโครงการ 'ศรีราคา ไวไฟ ซิตี้' เปิดให้บริการไว-ไฟ ความเร็ว 512 กิโลบิตต่อวินาที ครอบคลุมพื้นที่ 2 กิโลเมตร ฟรีแก่ประชาชน โดยมีอายุสัญญา 3 ปีเช่นเดียวกัน โครงการนี้เป็นไวไฟแห่งที่ 2 ของทีโอทีต่อจากพัทยา 'ไวไฟ ออน เดอะ บีช' แตกต่างตรงที่โครงการหลังเป็นการลงทุนของทีโอที
       
       โดยโครงการไวไฟที่ทางทีโอทีดำเนินการในครั้งนี้เป็นผลมาจากการปรับโมเดลทางการตลาดของทีโอทีจากเดิมที่เน้นการขยายจุดให้บริการไวไฟตามปั้มน้ำมัน มาเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการสร้างรายได้จากบริการไวไฟในรูปแบบของการเหมาจ่ายเป็นรายเดือนแทน
       
       โครงข่ายอินเทอร์เน็ตไวไฟที่ทำกับเทศบาลเมืองศรีราชาในครั้งนี้ ครอบคลุมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองทั้งหมด 2 ตารางกิโลเมตร ซึ่งทางเทศบาลรับผิดชอบค่าบริการรายเดือน 820,000 บาทให้ทีโอที เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใช้บริการฟรี ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทีโอทีติดตั้งโครงข่ายให้บริการไวไฟในพื้นที่สาธารณะของเทศบาลเมืองพัทยาและหัวหินมาแล้ว แต่ยังไม่มีเทศบาลไหนสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ฟรี
       
       ขณะที่ทีโอทียังสามารถขายบัตรชั่วโมงอินเทอร์เน็ตเพิ่มสำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการความเร็วสูงกว่าที่เปิดให้ใช้ฟรี
       
       การลงทุนในในครั้งนี้ ทางทีโอทีได้ลงทุนติดตั้งโครงข่ายไวไฟ 25 จุด ใช้งบลงทุนไป 4,500,000 บาท เพื่อให้บริการในพื้นที่สาธารณะของเทศบาลเมืองศรีราชารวม 10 แห่ง อาทิ สวนสาธารณะเกาะลอย สวนสุขภาพเทศบาลเมืองศรีราชา โดยประชาชนจะใช้บริการฟรีในความเร็ว 512 เค หากต้องการความเร็วสูงขึ้น ซื้อบัตรชั่วโมง ไว-ไฟเพิ่มได้ ความเร็วสูงสุดถึง 2 เมก โดยทีโอทีจะเป็นผู้จัดการเก็บล็อกไฟล์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และบำรุงรักษาระบบทั้งหมด โดยทางทีโอทีคาดว่า ไม่เกิน 3 ปีจะคืนทุนได้
       
       ผู้ใช้บริการสามารถลงทะเบียนรับรหัสผ่านเพื่อใช้บริการได้บนเว็บไซต์ทันที หลังเชื่อมต่อกับระบบไวไฟของทีโอทีแล้ว โดยการเชื่อมต่อแต่ละครั้งได้ครั้งละ 1 ชั่วโมง ไม่จำกัดการใช้ต่อเดือน
       
       ปัจจุบันภาคตะวันออกมีสัดส่วนรายได้ให้ทีโอทีประมาณ 2,500 ล้านบาท มีเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน 300,000 เลขหมาย บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต 70,000 พอร์ต โดยตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มอีก 30,000 พอร์ต
       
       จากปรับมาใช้โมเดลในรูปแบบนี้ของทีโอที ก็เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ที่ลดลงจากโทรศัพท์พื้นฐานที่นับวันมีการใช้งานที่ลดลง

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)