** "Smile" สมาร์ทโฟนรุ่นแรกจาก Spriiing **
เมื่อตลาดสมาร์ทโฟน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตัวเครื่องและระบบปฏิบัติการ แบรนด์ไทยน้องใหม่อย่าง สปริง (Spriiing) จึงหันมาพัฒนาแอปพลิเคชันสร้างคอมมูนิตี ให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กโฟน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารเข้าหากัน พร้อมอัปเดตข้อมูลข่าวสารโปรโมชันต่างๆ โดยไม่จำกัดอยู่บนโอเอสใดโอเอสหนึ่ง หวังสร้างฐานลูกค้า 100,000 คนภายในสิ้นปี 2011 จากงบลงทุนกว่า 200 ล้านบาท
นายชวัล บุญประกอบศักดิ์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สปริง เทเลคอม ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนโลคัลแบรนด์น้องใหม่ 'สปริง (Spriiing)' รวมกับแอปพลิเคชันสปริงกล่าวถึงเป้าหมายของบริษัทว่า ต้องการเป็นพื้นที่ให้นักพัฒนาชาวไทย ได้แสดงฝีมือในการสร้างแอปฯ ร่วมกันภายในคอมมูนิตี ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวไทยทุกคน
'สปริงแพลตฟอร์ม ไม่ได้เป็นแค่แอปฯที่ใช้แชตเหมือนในแบล็กเบอรี แต่เราดึงจุดเด่นของแอปฯหลายๆชนิดมารวมกันไว้ภายในแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างให้กลายเป็นคอมมูนิตีขนาดใหญ่ของคนไทย ซึ่งแนวทางในการพัฒนาจะเน้นไปที่การนำเทคโนโลยี เข้ามาผสานให้สามารถใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์มของเราได้'
เบื้องต้นสปริงแพลตฟอร์ม จะถูกบันเดิลมาพร้อมกับสมาร์ทโฟนในแบรนด์สปริงเท่านั้น แต่ภายในไตรมาส 1 ผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการอื่นๆ จะเริ่มเห็นแอปฯสปริงขึ้นไปให้ดาวน์โหลดกัน ทั้งภายในแอนดรอยด์ มาร์เก็ตเพลส, แบล็กเบอรี แอปเวิลด์ และแอปสโตร์ ของแอปเปิล ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา
** เครื่องถูก สร้างประสบการณ์ให้คนใช้ **
การเปิดตัวของสปริงแพลตฟอร์ม จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีอุปกรณ์รองรับ ทำให้สปริง เลือกที่จะนำเข้าเครื่องของหัวเว่ย ในดีไซน์ที่ดูเป็นเอกลักษณ์ ทันสมัยนิยม มาวางจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสมาร์ทโฟน ในราคาราวๆ 6 พันบาท ซึ่งถือว่าเป็นแอนดรอยด์ เวอร์ชัน 2.1 ที่มาพร้อมกับบริการของกูเกิล และราคาถูกที่สุดในปัจจุบัน
'เราไม่ได้ต้องการขายโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก เพียงแต่ต้องการให้คนใช้มีประสบการณ์ใช้งานสปริงแพลตฟอร์ม ซึ่งจำเป็นต้องมีเครื่องราคาถูกกว่าแบรนด์อื่นๆในตลาด'
สำหรับปีนี้ สปริงวางแผนทำตลาดโทรศัพท์มือถือทั้งหมด 3 รุ่น คือรุ่นสำหรับตลาดเอนทรี ที่ใช้ทำตลาดในปัจจุบัน รุ่นในกลุ่มมิดเทียร์ สเปกกลางๆราคากลางๆ และไฮเอนด์ สำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูง ซึ่งราคาของแต่ละรุ่นก็จะแตกต่างกันออกไป แต่เชื่อว่าจะทำราคาให้ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ ซึ่งอีก 2 รุ่นน่าจะมาในช่วงครึ่งปีหลัง
โดยใช้ช่องทางจำหน่ายของบริษัท ไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย (WDS) ผ่านร้านเทเลวิซ ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีบุคลากรทางด้านการตลาดมากนัก ซึ่งเมื่อมีการเปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จะมีแพกแกจสำหรับลูกค้าเอไอเอส ที่สามารถใช้งานสปริงแพลตฟอร์มได้ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ในราคาประมาณ 30 บาทต่อสัปดาห์
ขณะเดียวกันชวัล มองการเติบโตของสมาร์ทโฟนว่าจะเป็นโอกาสให้สปริงแพลตฟอร์ม สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นจำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่แพลตฟอร์ม รวมถึงให้ความรู้แก่ผู้ใช้ว่าตัวแพลตฟอร์มมีความสามารถอะไรเด่นๆ ที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน
สปริง เทเลคอม เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่กลางปี 2010 ที่ผ่านมา วางงบในการพัฒนารวมกับการตลาดและประชาสัมพันธ์ไว้ที่ราวๆ 200 ล้านบาทถึงช่วงสิ้นปี 2011 โดยกว่าครึ่งเป็นงบในการพัฒนาสปริงแพลตฟอร์ม จากพนักงานกว่า 30 คนในปัจจุบัน ส่วนแนวทางการตลาด และประชาสัมพันธ์ จะเน้นไปที่ออนไลน์มีเดียเป็นหลัก
'เราใช้สื่อออนไลน์มากถึง 70% ในการทำประชาสัมพันธ์ เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าโดยตรง ที่มีโอกาสมาใช้งานสปริงในอนาคต ขณะที่เราไม่สามารถทิ้งสื่อหลักได้ เพราะยังต้องสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าให้ดูมีความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้บริโภค'
นอกจากนี้ สปริงยังได้มีกิจกรรมการตลาดอย่างร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การสนับสนุนในการนำสปริงแพลตฟอร์ม เข้าไปใช้ในงานกีฬามหาวิทยาลัย กิจกรรม'ภารกิจพิชิตเงินล้าน'ค้นหาบุคคลที่มีความสามารถทางด้านการขายชิงเงินรางวัลกว่า 1 ล้านบาท เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์เป็นที่รับรู้มากขึ้น
Company Related Link:
Spriiing
ที่มา: manager.co.th