ไอบีเอ็มพยากรณ์ 5 เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2015 หรืออีก 5 ปีนับจากนี้ ได้แก่ แบตเตอรีพลังงานอากาศ ระบบนำความร้อนจากเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์มาใช้ประโยชน์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถพยากรณ์สภาพการจราจร เซ็นเซอร์ส่งข้อมูลสิ่งแวดล้อมจากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์พกพาเพื่อการวิจัย และที่สำคัญคือโทรศัพท์มือถือที่สามารถฉายภาพจำลอง 3 มิติโฮโลแกรม ลักษณะเดียวกับในภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์สได้
การพยากรณ์ครั้งนี้ของไอบีเอ็มเกิดจากการรวบรวมข้อมูลของนักวิจัยมากกว่า 3,000 คนที่ไอบีเอ็มมีอยู่ โดยรายงานจากหนังสือพิมพ์บลูมเบิร์ก (Bloomberg) ย้ำว่า 5 เทคโนโลยีที่มีโอกาสเป็นจริงได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าคือสิ่งที่อธิบายวัฒนธรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรมของไอบีเอ็ม นั่นคือการอุทิศตัวเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ในโลกกลมๆใบนี้
โจเซฟีน เชง (Josephine Cheng) รองประธานสถาบันวิจัยอัลมาเดน (Almaden lab) ของไอบีเอ็ม ให้สัมภาษณ์ถึงความเชื่อของไอบีเอ็ม ที่ว่าโลกแห่งแบตเตอรีจะถูกพัฒนาจากการใช้ลิเธียมไอออนมาเป็นวัตถุดิบที่ให้ความหนาแน่นในการจุพลังงานมากขึ้นแน่นอน เพื่อเพิ่มความประสิทธิภาพด้านอายุการใช้งานต่อเนื่องของแบตเตอรี
ที่น่าสนใจคือ ไอบีเอ็มเชื่อว่าแบตเตอรีในอนาคตจะสามารถชาร์จใหม่ได้โดยใช้เพียงอากาศที่อยู่รอบแบตเตอรี บางรายงานนั้นใช้คำว่า breathing batteries เพื่อให้เห็นภาพว่าจะเป็นแบตเตอรีที่สามารถหายใจได้
ในศูนย์วิจัย Almaden เทคโนโลยีแบตเตอรีเป็นหนึ่งในหลายงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ไอบีเอ็มที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ โดยรายงานชี้ว่า ทีมวิจัยไอบีเอ็มสามารถพัฒนาแบตเตอรีสำหรับรถไฟฟ้าที่สามารถแล่นต่อเนื่อง 500 ไมล์ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้งแล้ว จุดนี้ไอบีเอ็มเชื่อว่า แบตเตอรีในโลกอนาคตจะสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานกว่าปัจจุบันถึง 10 เท่าตัว
นักวิเคราะห์แสดงความเห็นต่อรายการเทคโนโลยีที่ไอบีเอ็มประกาศออกมา ว่าเป็นเรื่องที่ดีและมีคุณค่าต่อโลกทั้งในแง่ธุรกิจและคุณภาพชีวิต
ไอบีเอ็มระบุว่าปี 2009 ไอบีเอ็มได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นเงินมูลค่า 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 6.1% ของรายได้รวม โดยแม้ตัวเลขนี้เป็นสัดส่วนที่ลดลงจาก 10% ซึ่งไอบีเอ็มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1990 แต่ก็เป็นสัดส่วนที่มากกว่าคู่แข่งอย่างเอชพี (Hewlett-Packard) ซึ่งรายหลังนั้นเตรียมไว้เพียง 2.4% ในปีที่ผ่านมา
นี่ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดของไอบีเอ็ม นับจากเดือนพฤศจิกายนที่ไอบีเอ็มประกาศเปิดโครงการวิจัยร่วมในประเทศสิงคโปร์ โดยไอบีเอ็มระบุว่าได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจากสำนักงานสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการในประเทศสิงคโปร์ เป้าหมายหลักของโครงการคือการเน้นพัฒนาเครือข่ายระบบเซ็นเซอร์เพื่อรูปแบบการให้บริการสาธารณะแบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพยากรณ์และจัดการระบบสาธารณะทั้งระบบน้ำ การขนส่ง และพลังงาน
รายงานระบุว่า ความร่วมมือกับรัฐบาลสิงคโปร์ของไอบีเอ็มจะให้ความสำคัญกับระบบวิเคราะห์ ที่สามารถเข้าใจการคำนวณทางวิทยาศาสตร์และพฤติกรรมในสังคม (จากรูปแบบทางเศรษฐกิจและความต้องการของผู้บริโภค) ซึ่งมีผลต่อการควบคุมระบบน้ำ พลังงาน และการขนส่ง เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายในการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหา ซึ่งไอบีเอ็มจะทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีทั้งหมดต่อเนื่องใน 5 ปีนับจากนี้
ที่มา: manager.co.th