เนคเทคเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้ออนไลน์ในไทยประจำปี 2553 พบแนวโน้มพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น ใช้งานผ่านที่บ้านและที่ทำงานเพิ่มกว่าปีที่แล้ว อีเมลยังเป็นเบอร์หนึ่งของการใช้งานอินเทอร์เน็ต ขณะที่คนไทยเริ่มนิยมใช้งานแอปฯบนมือถือเพิ่มขึ้น
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยประจำปี 2553 ผ่านแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 14,067 รายในเดือนส.ค.ถึงเดือนต.ค. 2553 พบว่า พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในปี 2553 แตกต่างจากปีก่อนๆ โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านบรอดแบนด์ แบบเอดีเอสแอลโดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 52.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีเพียง 40.3%
ขณะที่การเชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์มีการใช้งานลดลงอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้งานหันมาใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มขึ้น สถานที่ใช้งานก็เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้ตามสถานศึกษาหันมาใช้ที่บ้านและที่ทำงานเพิ่มขึ้น รวมกันประมาณ 94.1% โดยเป็นการใช้ช่วงเวลา20.00-24.00 น.สูงถึง 37.3% ขณะที่กิจกรรมยอดนิยมยังเป็นการรับ-ส่งอีเมล คิดเป็น 27.2% ค้นหาข้อมูล 26.1% ติดตามข่าว 14.1% และอี-เลิร์นนิ่ง 8.2%
ปัญหาที่เกิดจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้น ยังเป็นเรื่องความเร็วของการใช้บริการไม่ตรงตามที่ผู้ให้บริการระบุมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยในการเลือกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่จะต้องคิดอัตราค่าใช้บริการในราคาที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับความเร็วที่จะได้รับ
ส่วนปัญหาที่พบจาการใช้อินเทอร์เน็ต เรื่องไวรัสยังคงเป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่ง 40.2% รองลงมาเป็นเครื่องความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล 36.4% ปัญหาอีเมลขยะอยู่ที่ 24.2%
"น่าสังเกตว่าปีนี้การเลือกซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่กิจกรรมเพื่อความบันเทิง อาทิ การสนทนาออนไลน์ เล่นเกมออนไลน์มีสัดส่วนลดลง โดยการรับส่งอีเมลและการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ยังคงเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด" ดร.ชฎามาส ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวเสริม
ส่วนสินค้าและบริการที่มีการสั่งซื้อบนอินเทอร์เน็ต หนังสือและการสั่งจองบริการต่างๆ เช่น ตั๋วภาพยนตร์ โรงแรม ยังคงได้รับความนิยมในอัตราที่สูง ขณะที่การสั่งซื้อเครื่องสำอางและน้ำหอม การประมูลออนไลน์ ยาบำรุงและวิตามิน รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับความนิยมสูงขึ้น ส่วนสาเหตุของผู้ที่ไม่ซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต ยังคงเป็นเรื่องของการที่ไม่สามารถเห็นสินค้าหรือจับต้องสินค้าก่อนเป็นสาเหตุหลักอยู่ รองลงมาเป็นเรื่องความไม่ไว้ใจผู้ขาย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าความไม่ต้องการส่งข้อมูลบัตรเครดิตผ่านอินเทอร์เน็ตได้เพิ่มความสำคัญขึ้นมาเป็นอันดับที่สาม สอดคล้องกับปัญหาเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ตอบเห็นว่า ภาครัฐควรพิจารณาในเชิงนโยบายเป็นอันดับต้นๆ
ดร.พันธ์ศักดิ์กล่าวถึงการเพิ่มคำถามพิเศษเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ว่า ความนิยมของการใช้แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารให้มีความทันสมัยและรองรับการใช้งานแอปฯที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะกระแสของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ และแท็บเล็ต พีซี โดยข้อมูลที่สำรวจสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติได้
ผลการสำรวจสำหรับคำถามพิเศษเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้แอปฯของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนไทยพบว่า 60% ยังใช้บริการส่งข้อความสั้น (SMS) เป็นหลัก และมีการใช้ GPRS ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น จากความนิยมของผู้บริโภคในการเข้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก
"มีการใช้แอปฯผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุดถึง 91.6% ที่เหลือเป็นการใช้งานผ่านอุปกรณ์นำทางผ่านดาวเทียมหรือจีพีเอส การใช้งานผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา การใช้งานผ่านเครื่องแปลภาษา และการใช้งานผ่านเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์"
ส่วนประเภทของแอปฯ ที่ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือนิยมใช้งานมากที่สุด คือรับ-ส่งอีเมล 33.5% สังคมออนไลน์ 20.2% ท่องเว็บไซต์ 20.2% และติดตามข่าว 11.5% ส่วนปัญหาของการใช้งานที่พบ 42.3% ระบุราคาแพง และ19.9% ระบุไม่สามารถใช้ได้บางพื้นที่
ดร.ชฎามาส กล่าวในตอนท้ายว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่มีการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทย พบว่ามีผู้ตอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ตน้อยกว่า 2 ปีมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ขณะที่การใช้บรอดแบนด์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก33% ในปี2547เพิ่มเป็น70% ในปีนี้
Company Related Link:
Nectec
ที่มา: manager.co.th