ผู้บริหารไอบีเอ็มและฮิตาชิออมรอน กับนวัตกรรมเครื่องฝากถอนและอัปเดทสมุดธนาคารอัตโนมัติ อีสมาร์ท ซีอาร์เอ็ม (e-Smart Cash Recycling Machine TS-EA 45)
ไอบีเอ็มร่วมกับฮิตาชิออมรอน เปิดตัวนวัตกรรมใหม่เครื่อง อี-สมาร์ทแคช รีไซคลิ่ง แมชชีน ในไทยเป็นแห่งแรกในอาเซียน ให้ลูกค้าฝากถอนและอัพเดทสมุดธนาคารได้ในเครื่องเดียว เพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการลูกค้าได้มากขึ้น ประหยัดพลังานจากเครื่องแบบเดิมถึง 30% โดยลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวทำธุรกรรมจากเครื่องอัตโนมัติหลายเครื่อง
นายยศ กิมสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า ไอบีเอ็มร่วมกับฮิตาชิออมรอน พัฒนานวัตกรรมเครื่องฝากถอนและอัพเดทสมุดธนาคารอัตโนมัติ อีสมาร์ท ซีอาร์เอ็ม (e-Smart Cash Recycling Machine TS-EA 45) ขึ้น และนำมาเปิดตลาดในเมืองไทยเป็นครั้งแรกอาเซียน นับเป็นการปฏิวัติการฝากถอนเงินและอัปเดทสมุดจากเครื่องอัตโนมัติหลายเครื่อง เพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าสามารถฝากเงิน ถอนเงิน อัพเดทรายการในสมุดบัญชี และสามารถทำธุรกรรมอื่นๆ ได้ในเครื่องอีสมาร์ท ซีอาร์เอ็มเพียงเครื่องเดียว โดยลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวอีกหลายครั้ง ในขณะเดียวกันธนาคารก็ได้ประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการเงินในตู้ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเติมเงิน ลดค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ตั้งตู้ และยังสามารถเปิดให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
“เครื่องอีสมาร์ทซีอาร์เอ็ม รุ่นใหม่นี้จะลดปัญหาการที่ต้องเติมเงินในเครื่องบ่อยเพราะใส่ธนบัตรได้มากขึ้นถึง 17,300 ฉบับ ขณะที่เครื่องมีขนาดเล็กลง ประหยัดพลังงานกว่าเครื่องรุ่นเดิมถึง 30%”
จุดเด่นของเครื่องคือระบบป้องกันความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีระบบตรวจสอบการติดตั้งเครื่องคัดลอกข้อมูลบนช่องรับบัตร เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ทันที สามารติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบเส้นเลือดนิ้วมือ (Finger Vein Reader) เพิ่มเติม สำหรับตรวจเช็คความเป็นเจ้าของบัญชีที่แท้จริง นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบภาพจากกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติได้ในทันที
การเปิดตัวเครื่อง e-Smart CRM (TS-EA 45) ในประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นการทำตลาดของไอบีเอ็มและฮิตาชิ-ออมรอน แห่งแรกของโลก โดยอยู่ระหว่างการเปิดตัวแนะนำให้กับธนาคารชั้นนำในประเทศไทยหลายแห่ง โดยคาดว่าจะส่งมอบเครื่องรุ่นใหม่ให้กับลูกค้าในประเทศไทยได้ประมาณไตรมาส 2 ของปี 2554
นายยศ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีการสั่งซื้อตู้เอทีเอ็มในประเทศไทยปีละประมาณ 1,500-2,000 เครื่อง ในจำนวนนี้เป็นการซื้อทดแทนเครื่องเก่าที่หมดอายุประมาณ 25% ส่วนที่เหลือเป็นการซื้อเครื่องใหม่ โดยฮิตาชิ-ออมรอนมีส่วนแบ่งในตลาด 70-75% และคาดว่าในปีนี้จะมีส่วนแบ่งในระดับเดิม โดยจะชูจุดขายของไอบีเอ็มในเรื่องความน่าเชื่อถือด้านการบริการของไอบีเอ็มบวกกับสินค้าที่ดีของฮิตาชิ-ออมรอนร่วมทำตลาดในไทย
นอกจากนี้ไอบีเอ็มและฮิตาชิออมรอนได้คิดค้นโซลูชั่นใหม่ๆ ตลอดจนเครื่องรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมให้บริการลูกค้า เช่น เครื่อง Teller Assier Unit ทำหน้าที่เป็นเครื่องลิ้นชักให้กับพนักงานแบงก์ ตรวจนับเงินเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการลูกค้า สามารถรับลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
Company Related Link :
IBM
ที่มา: manager.co.th