ลู่ทางในการทำเงินจากเพลงบนอินเทอร์เน็ตของบรรดาค่ายเพลงใหญ่ของโลกซึ่งมีกันอยู่ไม่กี่ค่าย อาจจะตีบตันมากในประเทศที่ไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะประเทศที่มีจำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกอย่างจีน แผ่นดินใหญ่
และไม่ว่าใครก็รู้ว่าเพลงถูกส่งผ่านกันทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เพราะความสะดวกสบายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ การเข้ารหัสป้องกันการก๊อบปี้สุดท้ายก็พ่ายแพ้ไปแล้ว
จีนเป็นตลาดใหญ่ที่น่าจะ เป็นช่องทางได้ และชวนให้ทดลองอะไรใหม่ๆ
ค่ายเพลงใหญ่ 2-3 ค่าย เช่น อีเอ็มไอ, วอร์เนอร์ และยูนิเวอร์แซล จึงหันไปจับมือกับกูเกิลยักษ์ใหญ่เสิร์ช เอ็นจิ้น ที่ไม่เคยทำมาหากินกับค่ายเพลงมาก่อน เปิดให้คนจีนในประเทศจีนสามารถดาวน์โหลดเพลงจากเว็บไซต์ไปฟังได้เลยฟรีๆ
พูดง่ายๆ คือหวังขายเพลงไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ให้ดาวน์โหลดไปฟังได้ฟรี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทราฟฟิกและหารายได้จากโฆษณามาแบ่งกันระหว่างกูเกิลกับค่ายเพลงที่ยอมปล่อยเพลงให้
อันที่จริงนี่ไม่ใช่เกมธรรมดาๆ ในเชิงธุรกิจ แต่มันซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่านั้น เพราะกูเกิลไม่ใช่เสิร์ชเอ็นจิ้นในจีน บริษัทท้องถิ่น Baidu ครองตลาดเอาไว้ใหญ่กว่า การจะดึงคนเสิร์ชผ่านอินเทอร์เน็ตมาใช้ให้ได้อย่าง Biadu เนื้อหาสำหรับการค้นหาจะต้องมีสิ่งที่คนต้องการ
การเข้าถึงและดาวน์โหลดเพลงฟรีได้เป็นจุดหนึ่งที่กูเกิลเองก็เชื่อว่าดึงมาได้ แต่โดยปกติทำไม่ได้หากค่ายเพลงไม่ยินยอม ต่างจาก Baidu ที่ไม่สนใจแม้เวลานี้จะมีการฟ้องร้องกันอยู่ก็ตาม
ก็คงต้องติดตามดูว่ารูปแบบความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกูเกิลกับค่ายเพลงใหญ่ เพื่อเปิดฟรีดาวน์โหลดเพลงในจีน หวังยอดคนใช้งานและตามมาด้วยโฆษณาจะประสบความสำเร็จหรือไม่
แต่ตัวเลขมันฟ้องว่า 84 เปอร์เซ็นต์ของคนจีนที่ใช้อินเทอร์เน็ตดาวน์โหลดเพลงจากเว็บไซต์ และส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นริงโทน
จะดึงคนเหล่านี้มาเป็นลูกค้าเพื่อหา รายได้ก็ต้องปรับตัวเข้าหา แทนที่จะไล่ฟ้องกันไปเรื่อยๆ เพราะการไล่ฟ้องนั้นแม้กระทั่งศิลปินเพลงเองหลายกลุ่มก็ไม่เห็นด้วย
เพราะเท่ากับผลักแฟนเพลงไปเป็นศัตรู
ที่มา: matichon.co.th