Author Topic: อีคอมเมิร์ซไทย โตแต่ไร้ทิศทาง จี้รัฐตีกรอบให้ชัด  (Read 1169 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

"แบงก์ชาติ-กระทรวงพาณิชย์ นักวิชาการ" ประสานเสียงประเทศไทยพัฒนา อีคอมเมิร์ซแบบไร้ทิศทาง จี้รัฐบาลวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอีคอมเมิร์ซและกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ให้ชัดเจน พร้อมชงแก้กฎหมายธุรกรรม อีคอมเมิร์ซรอบที่ 3 ด้านไอซีทียอมรับตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องรออีกยาว
เวทีสัมมนาเรื่อง "ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทางเลือกทางรอดธุรกิจไทย" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา นายฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เรื่องธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นการเตรียมการเพื่ออนาคต สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในตอนนี้คือการเร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ประเทศไทยไม่ได้ขาดนวัตกรรม เรามีความคิด สร้างสรรค์สูง แต่ปัญหาคือการเชื่อมโยงโครงข่ายอีเซอร์วิสต่างๆ ตอนนี้คนไทยต้องพกบัตรสำหรับบริการต่างๆ เต็มกระเป๋าไปหมด ขณะที่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดก็มีรูปแบบการให้บริการที่ต่างกัน

สิ่งสำคัญคือควรเชื่อมโยงให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะระบบอีเพย์เมนต์ให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรดแมปพัฒนาอีเพย์ของ ธปท. และสิ่งที่ยังขาดในตอนนี้คือหน่วยงานกลางที่เป็นคนเก็บหลักฐานทางธุรกรรมอย่างอีอินวอยซ์ต่างๆ

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวเสริมอีกว่า ถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอีคอมเมิร์ซให้ชัดเจนว่าใครมีหน้าที่ทำอะไร โดยมองเป็นภาพรวมและกระจายงานกันให้ชัดเจน นอกจากนั้นควรมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าทำไปเพื่ออะไร มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เมื่อทำแล้วจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างไร เพื่อแสดงเหตุผลในการใช้เงินของรัฐบาล

นายชัยณรงค์ โชไชย นักวิชาการพาณิชย์ ระดับเชี่ยวชาญ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากลไกภาครัฐในการส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีทุกหน่วยงาน แต่ไม่ครบวงจร แถมยังมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นไม่ใช่แค่ในระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย แต่เป็นความเชื่อมั่นระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองที่ไม่ยอมรับในข้อมูลของหน่วยงานอื่น

"ประเทศเกาหลี ทุกหน่วยงานรัฐมี เป้าหมายที่ชัดเจนในการก้าวไปสู่ u-Korea มีมาตรฐานในการรับส่งข้อมูลเดียวกัน ใช้ข้อมูลร่วมกันได้ ขณะที่ในประเทศไทยแค่จะพัฒนาให้ธนาคารเป็นจุดสั่งพิมพ์ใบรับรองนิติบุคคล เพิ่มความสะดวกให้เอกชน กรมก็ต้องประสานงานและชี้แจงกับอีก 8-9 หน่วยงาน หรือการจะให้ธนาคารออกใบเสร็จตราครุฑได้ ก็ต้องประสานกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งไม่แน่ว่าจะยอมหรือไม่ จะทำอะไรแต่ละอย่าง ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย"

ขณะที่นางสุรางคณา วายุภาพ อนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมาย คณะ กรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ไทยไม่พร้อมในการทำอีคอมเมิร์ซ แต่มีโอกาสในการพัฒนา มีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่เกี่ยวข้อง แต่ที่น่าห่วงคือภาครัฐที่หวังเข้ามาสนับสนุนกลับมีปัญหา

อย่างกระทรวงพาณิชย์เน้นการเพิ่มมูลค่าแต่ไม่มีแอ็กชั่นที่ต่อเนื่อง อย่างโครงการทรัสต์มาร์ก เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้เว็บไซต์ ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญมากก็ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน หรือกระทรวงไอซีที ต้องตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรวมงานเป็นจุดเดียวแต่ก็ทำได้ยากเพราะการเมืองเปลี่ยนแปลงบ่อย

"ไอซีทีเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย เปลี่ยนทุกครั้งก็ต้องชงเรื่องเสนอใหม่ ไม่ใช่ทำงานช้า แต่เพราะกระบวนการทำงานตามกฎหมายกำหนดให้เป็นเช่นนั้น จึงคิดว่าอาจต้องปรับแก้ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งที่ 3 ให้สะท้อนความจริงของการทำงานให้มากขึ้น คนมักเห็นว่ากฎหมายที่จะมาดูแลเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะเมื่อเกิดการฉ้อโกง แต่จริงๆ การปรับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่เป็นปัญหา จึงควรมีการแก้ไขในจุดนี้ด้วย"

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด กล่าวว่า ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาเป็น 10 ปี แรกๆ ไม่รู้เลยว่าภาครัฐเข้ามาช่วยอะไรบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ดีขึ้น มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยสนับสนุน ไม่ต่างคนต่างทำ แต่สุดท้ายไม่ได้ผลเหมือนเดิม เป็นไปได้หรือไม่ที่จะจับทุกหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมารวมกันเพื่อให้มีเป้าหมายงานเดียวกัน มีความรับผิดชอบชัดเจน และประชาสัมพันธ์นโยบายหรือผลงานให้สาธารณะทราบด้วย

"ภาครัฐมักทำโครงการดีๆ แล้วก็เก็บไว้ใช้อยู่คนเดียว เปิดตัวแล้วก็ปิดเลย น่าจะประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้ไปใช้ด้วย ดึงเอกชนเข้าไปช่วยด้วย และมีโรดแมปในการพัฒนาที่ชัดเจน"

ด้านนายอังสุมาล ศุนาลัย รองปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวถึงความคืบหน้าของการตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ กำลังทำเรื่องขอตั้งหน่วยงานใหม่ไปยัง กพร. เพื่อขออัตรากำลังและงบประมาณ ตอนนี้จึงเป็นเพียงกลุ่มงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที

ที่มา: matichon.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)