เอชพี (Hewlett-Packard) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ของโลกประกาศยืนยันแล้วว่า กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อหาทางทำให้ระบบปฏิบัติการที่กูเกิลออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์พกพาอย่างแอนดรอยด์ (Android) สามารถใช้เป็นระบบปฏิบัติการในคอมพิวเตอร์ตัวเล็กสำหรับเล่นอินเทอร์เน็ตหรือเน็ตบุ๊กอยู่จริง นักวิเคราะห์เชื่อ ความพยายามของเอชพีครั้งนี้จะทำให้เอชพีสามารถสร้างเน็ตบุ๊กราคาประหยัดที่ไม่จำเป็นต้องง้อโปรแกรมที่คิดค่าลิขสิทธิ์แสนแพง เพราะผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์อย่าง Google Docs ได้สะดวกรวดเร็ว แต่ปัญหาคือซอฟต์แวร์ของกูเกิลยังไม่พร้อมต่อการทำงานหนักๆบนคอมพิวเตอร์
"ขณะนี้แอนดรอยด์เหมาะใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่" เอวี กรีนการ์ท (Avi Greengart) นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัย Current Analysis กล่าวถึงแอนดรอยด์ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการให้กับสมาร์ทโฟน G1 ของ T-Mobile หลังจากเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมองว่าส่วนติดต่อผู้ใช้ของแอนดรอยด์ยังพัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์เท่าที่ควร
Marlene Somsak ประชาสัมพันธ์เอชพีให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นอลว่า เอชพีได้มอบหมายให้วิศวกรของเอชพีหาทางพัฒนาแอนดรอยด์ให้สามารถรองรับการทำงานบนคอมพิวเตอร์ แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่ในช่วงการทดสอบเท่านั้น ซึ่งเอชพียังไม่มีข้อสรุปว่าจะนำแอนดรอยด์มาติดตั้งไว้ในผลิตภัณฑ์เอชพีหรือไม่ ระบุเพียงว่าเอชพีนั้นเปิดกว้างในการเลือกใช้ระบบปฏิบัติการที่หลากหลาย
เน็ตบุ๊กนั้นเป็นคอมพิวเตอร์ตัวเล็กราคาประหยัดที่ออกแบบมาสำหรับการทำงานพื้นฐานและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยตัวเลขจากไอดีซีพบว่า สินค้าในกลุ่มเน็ตบุ๊กนั้นถูกจัดส่งจำนวนทั้งสิ้นถึง 10 ล้านเครื่องในปี 2008 ที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัวในปีนี้
สำหรับแอนดรอยด์นั้นเป็นระบบปฏิบัติการโอเพ่นซอร์สที่พัฒนาบนเคอร์แนล Linux ถูกวางจุดยืนให้เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์อิเล็๋กทรอนิกส์พกพามาตรฐานเปิดซึ่งผู้ผลิตสามารถนำไปติดในผลิตภัณฑ์ได้ฟรี สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลิตภัณฑ์แอนดรอยด์จะมีราคาต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการรายอื่นซึ่งต้องเสียค่าลิขสิทธิ์อยู่เล็กน้อย โดยจุดเด่นของแอนดรอยด์คือการเปิดทางให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและเข้าสู่บริการออนไลน์ของกูเกิลด้วยอุปกรณ์พกพาที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ เช่นโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่นเน็ตพกพาได้ง่ายยิ่งขึ้น
นักวิเคราะห์นั้นมองว่าหากเอชพีสร้างเน็ตบุ๊กแอนดรอยด์ได้จริง เชื่อว่าจะยังมีความเสี่ยงเนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนในปัจจุบันยังไม่นิยมใช้งานระบบปฏิบัติการลินุกส์เนื่องจากความไม่เคยชิน แต่เชื่อว่าจะส่งให้ตลาดแอนดรอยด์ขยายตัวกว้างยิ่งขึ้น และอาจประสบความสำเร็จในตลาดเกิดใหม่ซึ่งนิยมสินค้าราคาประหยัด เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ระบบปฏบัติการลินุกซ์ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
ที่มา: manager.co.th