"เชคพอยต์"ส่งสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ เบลดใหม่ลงตลาด เผยทิศทางปีนี้มุ่งเน้นตลาดราชการ การศึกษา เชื่อยังมีกำลังซื้อ ขณะเดียวกัน ยังจะมีการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ส่วนรายได้ปีนี้ในไทยตั้งเป้าโต 10%
นางสาวธนนันท์ มานีกุล ผู้จัดการฝ่ายขายประจำประเทศไทย บริษัท เชค พอยต์ ผู้ให้บริการด้านการรักษาความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า เชคพอยต์ได้นำสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์เบลด (Software Blade) ใหม่ออกสู่ตลาด ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นสถาปัตยกรรมแรกของอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยของธุรกิจได้อย่างครอบคลุม ทั้งยังยืดหยุ่น และสามารถจัดการได้โดยง่าย
สถาปัตยกรรมใหม่นี้จะเปิดให้องค์กรธุรกิจสามารถเลือกเครื่องมือที่ต้องการได้จากไลบรารีซอฟต์แวร์เบลดกว่า 20 รายการ สำหรับปรับแต่งการป้องกันความปลอดภัยที่จำเป็นและแบบไดนามิกให้แก่เกตเวย์ของระบบความปลอดภัยที่มีลักษณะการทำงานและไซต์ที่แตกต่างกันได้ ทำให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะสามารถซื้อตามความจำเป็นในการใช้งานได้
ผู้บริหารเชคพอยต์มองว่า ระบบความปลอดภัยของบริษัทขนาดใหญ่ กลาง และเล็กกำลังกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น เพราะต้องรับมือกับภัยคุกคามเกิดใหม่ที่มีอย่างต่อเนื่อง หลายองค์กรมีความต้องการเกี่ยวกับความจำเป็นในการใช้ผลิตภัณฑ์แพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์ ส่วนจัดการ และระบบการตรวจสอบรายวันที่มีจำนวนมาก แต่สถาปัตยกรรม Software Blade ของเชคพอยต์จะช่วยให้ธุรกิจมีแพลตฟอร์มแบบรวม ที่สามารถปรับใช้กับแอปพลิเคชันความปลอดภัยข้ามระบบและเป็นแบบโมดูลที่เป็นอิสระต่อกัน ซึ่งเรียกว่า Software Blade เช่น ไฟร์วอลล์, เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN), ระบบป้องกันการบุกรุก (IPS), การจัดการนโยบายป้องกันไวรัส หรือเครื่องมือต่างๆ โดยสถาปัตยกรรมนี้จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกเครื่องมือซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมกับความต้องการและรวมเข้ากับเกตเวย์ที่มีการจัดการจากส่วนกลางได้ เป็นชุดเดียว
"เมื่อต้องการจัดการกับความเสี่ยงใหม่ๆ องค์กรธุรกิจสามารถรวมระบบความปลอดภัยจำนวนมากด้วยการเปิดใช้ซอฟต์แวร์เบลดบนแพลตฟอร์มความปลอดภัยของเราได้ง่าย ซึ่งสถาปัตยกรรม Check Point Software Blade จะช่วยให้องค์กรธุรกิจมีความยืดหยุ่นในการสร้างโครงสร้างความปลอดภัยแบบรวม ที่สามารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้"
ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์เบลดทำให้ลูกค้าสามารถย้ายฟังก์ชันจากระบบหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่ง หรือแบ่งฟังก์ชันระหว่างระบบและรับประกันได้ถึงประสิทธิภาพของ ซอฟต์แวร์เบลดแต่ละรายการที่สามารถตั้งค่าระดับการใช้งานได้ ทำให้ลูกค้าสามารถปรับขนาดความปลอดภัยได้ตามต้องการขณะที่ค่าใช้จ่ายการเป็นเจ้าของด้านความปลอดภัยโดยรวมก็ลดด้วย
นอกจากนี้ เชคพอยต์ยังได้เปิดตัว Check Point R70 โซลูชันการจัดการและเกตเวย์ความปลอดภัยรุ่นล่าสุดที่ใช้สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ เบลด สำหรับการป้องกันการบุกรุกอย่างสมบูรณ์ ซึ่งผู้บริหารเชคพอยต์เชื่อว่าจะช่วยให้ธุรกิจในทุกขนาดสามารถปรับแต่งโครงสร้างความปลอดภัยเครือข่ายของตนเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการใช้งานและสร้างประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริงผ่านการจัดการจากส่วนกลาง
ผู้บริหารเชคพอยต์กล่าวว่า สำหรับตลาดประเทศไทยโดยเฉลี่ยแล้วเชค พอยต์มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10% ต่อปี และคาดว่าในปีนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก เนื่องจากเชคพอยต์มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
"ปีนี้มุ่งขยายกลุ่มลูกค้าไปที่ตลาดราชการและการศึกษาซึ่งมีกำลังการซื้อที่ยังไม่ลดลง และขยายต่อเนื่อง หลังจากที่เราประสบความสำเร็จมาแล้วในตลาดการเงิน การธนาคาร พร้อมกันนั้นในปีนี้จะขยายช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้นกว่าเดิม"
ที่มา: manager.co.th