“อินเทล”ประเมินไอทีครึ่งปีแรกยังเติบโตระดับ 5% ล่าสุดเข็นชิพซีออน 5500 เจาะตลาดเซิร์ฟเวอร์ไทย ชูจุดเด่นลดต้นทุน แต่ประสิทธิภาพประมวลผลเพิ่ม
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดไอทีครึ่งปีแรกยังเติบโต 5% โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา หาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นเป้าหมายของการมีพีซีเครื่องแรก ที่มีปริมาณความต้องการซื้อค่อนข้างสูง
“ตลาดไอทีครึ่งปีแรก ผมมองว่ายังโตในระดับ บวกลบ 5% แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่ายังเป็นแรงบวก โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่วันนี้ ผู้ค้าคอมพิวเตอร์มุ่งไปที่ตลาดนี้มากขึ้น เพราะการขยายตัวการใช้คอมพิวเตอร์ยังต่ำกว่า 10% ดังนั้นยังมีพื้นที่อีกมาก โดยเฉพาะพีซีกลุ่มนักเรียน”
ขณะที่ตลาดกรุงเทพฯ แม้กระแสพีซีจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แต่ตลาดการเปลี่ยนพีซีมาเป็นโน้ตบุ๊ค รวมทั้งเน็ตบุ๊ค การเติบโตยังแข็งแรงอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคอมซูเมอร์ที่กินส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์ปัจจุบันกว่า 60%
เขา กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่กลุ่มคอนซูเมอร์ก็จะไม่ได้หยุดซื้อไปเลย สภาพการจะหยุดเป็นช่วงๆ ฉะนั้น จึงถือว่ากำลังซื้อยังมีอย่างต่อเนื่อง ยิ่งถ้าไม่มีปัจจัยลบเข้ามา กลุ่มนี้จะมีกำลังซื้ออยู่ตลอด
ล่าสุด อินเทล ยังได้เปิดตัวชิพซีออน 5500 ตัวใหม่ สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (เซิร์ฟเวอร์) ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ที่ได้ปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ นับตั้งแต่อินเทลเปิดตัวชิพเซิร์ฟเวอร์ตัวแรกเมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยชิพนี้มีจุดเด่นการประหยัดพลังงาน แถมยังประมวลผลเร็วกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ 2.5 เท่า แต่การลงทุนเท่าเดิม
นายเอกรัศมิ์ คาดว่า ปี 2552 ตลาดเซิร์ฟเวอร์ในกลุ่มองค์กรทั่วโลกจะจัดซื้อใหม่ทั้งหมด 8 ล้านเครื่อง จากปัจจุบันที่องค์กรทั่วโลกมีใช้งานอยู่แล้วราว 30 ล้านเครื่อง ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 80% ใช้ชิพของอินเทล
ส่วนของเซิร์ฟเวอร์ในตลาดไทย ปัจจุบันมีราว 3-4 หมื่นเครื่อง เป็นโลคอลแบรนด์ราว 3,000 เครื่อง ที่เหลือเป็นอินเตอร์แบรนด์ เช่น ไอบีเอ็ม เอชพี เป็นต้น
พร้อมกันนี้ เขากล่าวถึงสภาวะการเมืองที่ไม่นิ่งขณะนี้ว่า อาจเป็นปัจจัยลบของภาคองค์กรธุรกิจเรื่องการใช้จ่ายไอที มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป ก็อาจทำให้ปีนี้ภาพรวมของประเทศ ในมุมมองของนักลงทุนย่ำแย่ลงอีก
อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า ภาครัฐยังน่าจะมีบทบาทในแง่ของการผลักดันให้เกิดบรอดแบนด์ทั่วประเทศ เพราะจะทำให้ตลาดไอซีที โดยรวมโตขึ้น
"แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นการผลักดันที่ชัดเจนทั้งจากกระทรวงไอซีที และ กทช. ก็หวังว่ารัฐจะหันมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะถ้าทำได้ทุกอย่างก็จะดีขึ้นทั้งระบบ"
ที่มา: bangkokbiznews.com