ลักษณะการทำงานของ Facebook Liked Results (ภาพ 1) พิมพ์คำค้นหาในบิง (ภาพ 2) ผลการค้นหาจะปรากฎภาพเพื่อนเฟสบุ๊กที่กด like เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ใช้รู้ว่าเว็บเพจใดถูกแนะนำโดยใคร (ภาพ 3) ผู้ใช้สามารถเข้าสู่ลิงก์ตามปกติ
ลักษณะการทำงานของ Facebook Profile Results (ภาพ 1) พิมพ์ชื่อบุคคลที่ต้องการค้นหาในบิง (ภาพ 2) ผลการค้นหาจะปรากฎชื่อบัญชีเฟสบุ๊กที่มีความเป็นไปได้โดยพิจารณาข้อมูลผู้ติดต่อเดิม ผู้ใช้สามารถกดเพิ่มรายชื่อเพื่อนได้โดยตรงบนบิง (ภาพ 3) ปรากฏหน้าเพิ่มรายชื่อเพื่อนในเฟสบุ๊กตามปกติ
หากไม่เพิ่มชื่อ ก็สามารถส่งข้อความเชิญ (ภาพ 3) ได้
ไมโครซอฟท์ (Microsoft) จับมือเฟสบุ๊ก (Facebook) หนีกูเกิล (Google) เปิดตัว 2 คุณสมบัติการสืบค้นเชิงสังคม (Social Search) ใหม่ในบริการเสิร์ชเอนจิ้น "Bing (บิง)" หนึ่งในนั้นคือ Facebook Liked Results ฟีเจอร์ที่จะทำให้ชาวเฟสบุ๊กสามารถรับรู้ได้ว่าเพื่อนฝูงคนรู้จักได้กด"Like"หรือชื่นชอบผลการค้นหาข้อมูลใดบ้าง เชื่อการมีชื่อเพื่อนที่รู้จักการันตีไว้ข้างผลเสิร์ชจะทำให้ชาวออนไลน์สามารถเข้าถึงผลการค้นหาที่ตรงใจได้รวดเร็วกว่าเดิม
เฟสบุ๊กอธิบายความเป็นมาของคุณสมบัตินี้ไว้ในบล็อกของบริษัทว่า แม้ชาวออนไลน์จะใช้เสิร์ชเอนจิ้นหรือเครื่องมือการค้นหาข้อมูลออนไลน์เป็นตัวช่วยในการค้นหาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ แต่ท้ายที่สุดแล้วชาวออนไลน์เกือบทุกคนก็จะเชื่อมั่นในข้อมูลจากบุคคลที่เชื่อใจมากกว่า เช่น การถามเพื่อนฝูงเพื่อหาร้านกาแฟที่ดีที่สุดในเมือง หรือการคุยกับเพื่อนเพื่อหาสุดยอดรายการทีวีที่ไม่ควรพลาด แนวคิดนี้เองที่ทำให้เฟสบุ๊กจับมือกับบิง เพื่อให้คำแนะนำของเพื่อนฝูงสามารถปรากฏบนหน้าผลการเสิร์ชออนไลน์
ผลคือเมื่อสมาชิกเฟสบุ๊กพิมพ์คำค้นหาข้อมูลบนบิงหรือบริการค้นหาเว็บไซต์บนเฟสบุ๊ก (ให้บริการโดยบิง) ก็จะพบภาพใบหน้าของเพื่อนฝูง ปรากฏถัดจากลิงก์เว็บเพจที่เพื่อนเหล่านั้นชื่นชอบ ซึ่งจะทำให้เป็นแนวทางให้ชาวเฟสบุ๊กได้รู้ว่าเว็บไซต์ใดที่เพื่อนฝูงแนะนำไว้
อีกฟีเจอร์หนึ่งที่บิงและเฟสบุ๊กร่วมมือกันเปิดตัว คือ Facebook Profile Results เป็นคุณสมบัติที่จะทำให้ชาวออนไลน์สามารถค้นหาข้อมูลผู้คนบนบิงได้ดีขึ้น จุดประสงค์คือการเปิดทางให้สมาชิกเฟสบุ๊กสามารถค้นหาเพื่อนเก่าหรือติดต่อกับเพื่อนใหม่ได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างเช่น หากมีการเสิร์ชชื่อ Matthew Kim ในบิง แทนที่บิงจะแสดงผลการเสิร์ชคนทั่วโลกที่ชื่อ Matthew Kim แต่บิงจะแสดงผลค้นหาเฉพาะคนที่มีความเป็นไปได้ด้วยการพิจารณาข้อมูลจากบัญชีผู้ติดต่อรายอื่นในเฟสบุ๊ก และเมื่อพบแล้ว ผู้ใช้เฟสบุ๊กจะสามารถเพิ่มชื่อผู้ติดต่อได้บนหน้าเพจบิงโดยตรง
ความร่วมมือระหว่างเฟสบุ๊กและไมโครซอฟท์แบบแนบชิดที่แสดงถึงความสัมพันธ์เกินธรรมดานี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากไมโครซอฟท์นั้นเคยเทเงินทุนกว่า 240 ล้านเหรียญเพื่อซื้อหุ้นเฟสบุ๊กสัดส่วน 1.6% แน่นอนว่าความร่วมมือนี้มีโอกาสสูงที่จะทำให้บิงสามารถต่อสู้กับกูเกิล ซึ่งนำหน้าไปก่อนด้วยคุณสมบัติแสดงผลเสิร์ชแบบเรียลไทม์ (กูเกิลแสดงข้อความสถานะบนเครือข่ายสังคม ที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่อัปเดทแบบเรียลไทม์ไว้บนหน้าผลลัพท์การค้นหามาระยะหนึ่งแล้ว)
ปัจจุบัน บิงมีสถิติการใช้งานในสหรัฐฯราว 27-30% (สถิติหลังร่วมมือให้บริการบนยาฮูแล้ว) ขณะที่กูเกิลมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 65-71% การร่วมมือระหว่างบิงและเฟสบุ๊กจะทำให้บิงมีโอกาสเข้าถึงผู้ใช้เฟสบุ๊กที่มีจำนวนมากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกได้ง่ายขึ้น โดยคุณสมบัติใหม่ทั้ง 2 จุดนี้จะเริ่มให้บริการในสหรัฐฯช่วงเดือนตุลาคมนี้
ที่มา: manager.co.th