Author Topic: เทคนิคการเลือกซื้อ UPS - ไฟตก ไฟดับ ฟ้าผ่า ไฟกระชาก ป้องกันพีซีที่คุณรักแล้วหรือยัง  (Read 2659 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai

         ปัจจุบันมีผู้เข้าใจว่าการเลือกซื้อ UPS นั้นพิจารณาเพียงขนาด (VA), ระยะเวลาสำรองไฟ (Backup Time) และราคา ก็น่าจะครบถ้วนแล้ว แต่ในความเป็นจริงยังมีปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการเลือกซื้อ UPS อีกหลายข้อ ที่สำคัญมันคืออุปกรณ์หน้าด่านแรกๆ ที่รับมือกับอาการร้ายแรงทางไฟฟ้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไฟตก ไฟดับ ไฟกระชาก ฟ้าผ่า เพาเวอร์ของผมเคยเจ๊งไปต่อหน้าต่อตาด้วยสาเหตุจากไฟดับในช่วงฝนตก และตามมาด้วยไฟกระชาก (ไฟกระชากก็คือ ไฟติดแล้วก็ดับอีก) เพราะไม่มี UPS ทำให้ต้องเสียบไฟตรงเมื่อไฟดับ และไฟเข้ามาอีก กระชากกันต่อเนื่อง 2-3 ครั้งส่งผลให้อุปกรณ์นั้นพังในทันทีครับ นั่นคือเรื่องของไฟกระชาก ถ้าเป็นฟ้าผ่าล่ะครับ เคยเจอกันบ้างไหม เคยได้ยินมั้ยที่เขาพูดกันว่าอย่าเล่นคอมพ์เวลาฝนฟ้าคะนอง เขาไม่ได้หลอกครับ โดนกันไปหลายรายแล้ว ถึงฟ้าจะไม่ผ่าบ้านเราตรงๆ แต่ไปผ่าลงในละแวกใกล้เคียงก็ตาม ความรุนแรงกินอาณาบริเวณมาถึงบ้านคุณได้ครับ มาถึงด้วยอะไร สายไฟและสายโทรศัพท์ไงครับ ตัวดีเลย ลองหาข้อมูลใน Google ดูภาพประกอบก็ได้ครับ เมนบอร์ดเอย โมเด็มเอย พังกันไปเป็นแถบครับ และถ้าเป็นเมนบอร์ดพังด้วยสาเหตุนี้ ส่งผลให้หมดประกันทันทีนะครับ เพราะอยู่นอกเหนือประกันนั่นเอง ทีนี้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีปราการด่านแรกที่รับมือกับสิ่งเหล่านี้ครับ


UPS ชนิด True Online มีความปลอดภัยสูงสุด

ทำไมต้องหน่วย VA?
          ความจุของ UPS นั้นจะบอกเป็น VA ซึ่งทำให้เกิดความสับสนเพราะไม่สามารถคำนวณได้ว่ามันจุเท่าไหร่ ผมจะแนะนำวิธีการที่จะใช้ดูความสามารถของ UPS โดยการดูที่ Power Factor ซึ่งแทบทุกยี่ห้อจะบอกไว้ เมื่อเราได้ค่า Power Factor ของ UPS ตัวนั้นแล้วให้นำมาคูณกับค่า VA จะทำให้ได้หน่วยเป็น Watt ที่ UPS ตัวนั้นๆ สามารถรองรับได้ รูปแบบการคำนวณจะเป็นแบบนี้ครับ
          ตัวอย่างที่ 1 - UPS ยี่ห้อหนึ่งขนาด 500 VA มี Power Factor 0.6
          UPS ตัวนี้จะสามารถรองรับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ 500 x 0.6 = 300 Watt
          ตัวอย่างที่ 2 - UPS ยี่ห้อหนึ่งขนาด 500 VA มี Power Factor 0.8
          UPS ตัวนี้จะสามารถรองรับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ 500 x 0.8 = 400 Watt

ประเภทของ UPS
          1. True Online UPS (Double Conversion UPS) เป็น UPS ที่มีความสามารถดีที่สุด แต่ต้องแลกกับราคาแสนแพง โดยหลักการทำงานคือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต่อเข้ากับ UPS นี้จะไม่ได้รับกระแสไฟฟ้าโดยตรงจากสายไฟเลย เพราะระบบจะจ่ายกระแสไฟเข้าสู่แบตเตอรี่ก่อน ก่อนที่จะส่งกระแสไฟที่มีความราบเรียบเข้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ โดยจะมีอุปกรณ์ที่มีไว้สำหรับเป็นตัวปรับแรงดันไฟให้มีความสม่ำเสมอ ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเกิดไฟตก ไฟเกิน ไฟกระชากได้เลย ซึ่งจากที่เครื่อง UPS แบบนี้มีราคาที่แพงมาก จึงไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์โดยทั่วไป แต่เหมาะที่จะนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่เกิดความผิดพลาดไม่ได้ เช่น เครื่องมือแพทย์, เซิร์ฟเวอร์, ตู้ ATM, ระบบคอมพิวเตอร์สื่อสาร, ระบบคอมพิวเตอร์การเงินหรือธนาคาร เพราะจำเป็นที่จะต้องการคุณภาพของพลังงานไฟฟ้าที่สมบูรณ์
          2. Standby UPS (Off line UPS) UPS ชนิดที่สองนี้ถือได้ว่าเป็น UPS ที่มีราคาถูก ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของ UPS มีขนาดเครื่องที่เล็กและมีความซับซ้อนภายในเครื่องน้อยที่สุด โอกาสเสียจึงน้อยแต่ถ้าเกิดเสียขึ้นมาจริงๆ ก็สามารถที่จะซ่อมได้ไม่ยากนัก มีระดับการป้องกันปัญหาทางด้านไฟฟ้าต่ำด้วย คือป้องกันไฟดับได้อย่างเดียว แต่ในปัจจุบัน UPS รุ่นใหม่ๆ จะมีวงจรที่ใช้ในการตรวจสอบความผิดพลาดของกระแสไฟ โดยเมื่อเกิดปัญหาทางไฟฟ้าขึ้น วงจรก็จะสลับจากการใช้ไฟบ้านเปลี่ยนเป็นไปจากแบตเตอรี่ที่ได้สำรองไว้ ซึ่งระหว่างการสลับกระแสไฟนี้จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นและอาจทำให้คอมพิวเตอร์เกิดปัญหาขึ้นได้ โดยจะไม่เหมือนกับแบบแรกที่สามารถปรับระดับไฟให้มีความสม่ำเสมอได้ ซึ่งเป็น UPS ที่หาได้ยากในปัจจุบันแล้ว
          3. Line Interactive UPS สำหรับ UPS แบบนี้เป็น UPS ที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปหรือนำมาใช้กับเซิร์ฟเวอร์ขนาดเล็กก็ได้ เป็น UPS ที่มีราคาไม่สูง หาได้ง่ายในปัจจุบัน มีระดับการป้องกันที่ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว ความซับซ้อนของอุปกรณ์อยู่ในระดับปานกลาง การซ่อมบำรุงทำได้ไม่ยากนัก ถือได้ว่าเป็น UPS ที่มีคนใช้มากและในปัจจุบันก็มี UPS แบบนี้ออกมาจำหน่ายอย่างมากมาย ในส่วนของการทำงานของ UPS ชนิดนี้จะมีการทำงานที่คล้ายๆ กับ UPS แบบ Standby แต่จะมีความสามารถที่สูงกว่า จะมีการเพิ่มอุปกรณ์ที่เรียกว่า Stabilizer เข้าไป ซึ่งจะคอยตรวจสอบระดับแรงดันไฟฟ้าที่จะป้อนให้กับอุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมและคอยทำหน้าที่ควบคุมระดับแรงดันไฟฟ้าให้มีความสม่ำเสมอตลอด นับว่าเป็น UPS ที่เหมาะสมกับเรามากเลยทีเดียว


UPS ชนิด Line Interactive ได้รับความนิยมสูงสุดเพราะประสิทธิภาพดีและราคาไม่สูงมาก

ความสามารถในการสำรองไฟฟ้า
          UPS แต่ละตัวก็จะมีความสามารถในการสำรองไฟฟ้าหรือค่า Backup Time ที่แตกต่างกัน ซึ่งค่านี้หมายความว่า ระยะเวลาที่ UPS ของคุณสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปให้อุปกรณ์ต่อพ่วงได้ โดยนับหลังจากเกิดกระแสไฟฟ้าดับหรือเหตุขัดข้องเกี่ยวกับไฟฟ้าต่างๆ ไปจนถึงเวลาที่ UPS ไม่สามารถดึงพลังงานของแบตเตอรี่เพื่อส่งให้อุปกรณ์ต่อพ่วงต่อไปได้ โดยระยะเวลาดังกล่าวนั้นจะมีค่าที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถของ UPS ที่ใช้งานอยู่ ซึ่งบางเครื่องอาจสามารถสำรองไฟไว้ได้เป็นเวลานานในช่วงระหว่าง 10 – 30 นาที ซึ่งในการบอกค่า Backup Time เป็นช่วงเวลานั้นก็เพราะว่าไม่สามารถบอกค่าที่แน่นอนในการสำรองไฟได้ เพราะเราไม่ทราบว่าอุปกรณ์ที่นำไปต่อเข้ากับ UPS นี้มีจำนวนมากเท่าไร ยิ่งจำนวนของอุปกรณ์ต่อเชื่อมมีจำนวนมากขึ้นเท่าใด ระยะเวลาในการสำรองไฟนั้นก็มีค่าน้อยลงเท่านั้น ดังนั้นในการเลือกซื้อ UPS จึงควรที่จะหา UPS ที่มีระยะเวลาในการสำรองไฟที่มีค่ามากๆ ยิ่งมากยิ่งดี

จำนวนปลั๊กไฟฟ้า
          ปลั๊กต่างๆ ถือว่ามีความสำคัญค่อนข้างมากในการเลือกซื้อ UPS ในปัจจุบัน ยิ่งจำนวนปลั๊กเชื่อมต่อของ UPS มีมากเท่าไร ก็สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกมากขึ้นเท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่าอุปกรณ์เชื่อมต่อทั้งหลายจะมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ UPS ตามท้องตลาดของบ้านเรานั้นได้มีการเพิ่มปลั๊กสำหรับเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับปริ๊นเตอร์เลเซอร์กันมากขึ้น เพราะว่าราคาของปริ๊นเตอร์เลเซอร์นั้นมีราคาที่สูง ข้อเสียของปลั๊กนี้ก็คือไม่สามารถที่จะสำรองไฟไว้ได้
          นอกจากพอร์ตที่ได้บอกมานี้ ยังมีช่องอีกชนิดหนึ่งที่คนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเหมือนกันคือ ช่องสำหรับเสียบสายโทรศัพท์หรือสำหรับโมเด็ม เพราะพอร์ตเหล่านี้สามารถที่จะป้องกันความเสียหายจากกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่ผ่านเข้ามาทางสายโทรศัพท์ได้ (เช่น กรณีฟ้าผ่า) ทำให้ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ดังกล่าวได้อีกขั้นหนึ่ง


ช่องเชื่อมต่อด้านหลังที่ครบครันของ UPS คุณภาพดี

คุณสมบัติพิเศษอื่นๆ
          - สิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคเห็นว่า UPS นี้มีคุณภาพนั้นก็คือ มาตรฐานของ UPS ที่ UPS นี้ได้รับ เช่น มาตรฐาน ISO 9001 หรือมาตรฐาน มอก. เป็นต้น
          - แบตเตอรี่ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อท่านซื้อ UPS มาก็จะมีแบตเตอรี่อยู่ภายใน UPS นั้นแล้ว แต่เมื่อแบตเตอรี่เกิดเสื่อมขึ้นมา จึงจำเป็นต้องหา UPS ใหม่มาทดแทน ดังนั้นควรจะเลือกแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพ เพราะจะทำให้มีคุณภาพในการสำรองไฟเพิ่มมากขึ้น และมีอายุการใช้งานเพิ่มมากขึ้น
          - ฟังก์ชั่นพิเศษ UPS ที่ดีนั้นควรจะต้องมีไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่องเพื่อที่จะทำให้ทราบว่าตอนนี้เครื่องอยู่ในสถานะใด อีกทั้งยังทำให้สามารถสังเกตเห็นสถานะการทำงานได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ UPS ที่ดีควรต้องมีเสียงเตือนเมื่ออยู่ในสภาวะอันตราย เช่น มีเสียงเตือนว่าไฟในแบตเตอรี่กำลังจะหมด เพื่อทำให้ผู้ใช้สามารถได้ยินได้อย่างชัดเจนและสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน
          - รูปทรงและขนาดของ UPS ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ควรเลือก UPS ที่มีขนาดและรูปทรงที่เหมาะกับการใช้งานของคุณ และต้องดูว่าสถานที่ที่ท่านจะนำ UPS นี้ไปใช้มีขนาดของพื้นที่มากน้อยเท่าไรด้วย เพื่อที่จะได้มี UPS ที่มีขนาดที่เหมาะสมไว้ใช้งานกัน

สรุป
          สิ่งที่ได้บอกมาในข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่ UPS ที่ดีควรจะมี เพราะเป็นสิ่งที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้พีซีตัวโปรดของคุณให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น ปลอดภัยจากสถานการณ์เฉียดตายต่างๆ ได้อย่างที่คุณต้องการ แต่ตามหลักความจริงแล้ว UPS ทุกเครื่องคงจะไม่มีเครื่องไหนที่มันสมบูรณ์แบบไปหมดหรอกครับ อาจจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ขาดไปบ้าง อันนี้ก็อยู่ที่คุณแล้วครับ ว่าจะตัดสินใจเลือกเครื่อง UPS แบบไหนไว้ใช้งาน ที่จะทำให้เกิดความคุ้มค่าและความปลอดภัยมากที่สุดนั่นเอง
 

ที่มา: beta.i3.in.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)