Author Topic: เรียงหน้าชิงแชร์ฮาร์ดดิสก์พกพา  (Read 1408 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai

ตลาดฮาร์ดดิสก์พกพายอดโตพุ่งกระฉุด หลังผู้บริโภคนิยมเก็บข้อมูลดิจิตอล แวลลู เผยยอดขายบัปฟาโล่ 10,000 เครื่องต่อเดือน  เตรียมลุยขยายตลาดต่างจังหวัด ขณะที่อีเอ็มซี  ประกาศรุกตลาดคอนซูเมอร์สตอเรจ  ส่ง "ไอโอเมก้า" เจาะตลาดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล 

นายธงชัย พรรควัฒนชัย กรรมการบริหาร ฝ่ายช่องทางการจัดจำหน่าย บริษัทเดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด  ตัวแทนจำหน่าย ตลาดฮาร์ดดิสก์พกพา หรือ เอ็กเทอนอล ฮาร์ดดิสก์ และอุปกรณ์ไอที ยี่ห้อบัปฟาโล่   เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าตลาดฮาร์ดดิสก์พกพา หรือ เอ็กเทอนอล ฮาร์ดดิสก์ เป็นอุปกรณ์ไอทีที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในปีนี้   โดยมีการเติบโตตามตลาดโน้ตบุ๊ก  และเน็ตบุ๊ก    รวมถึงการเก็บภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล และเก็บภาพยนตร์บลูเลย์ ที่มีขนาดไฟล์ใหญ่ขึ้น     ซึ่งโดยภาพรวมแล้วคาดว่าปีนี้ตลาดฮาร์ดดิสก์พกพามีการเติบโตราว 30%    โดยปีนี้บริษัทมียอดขายเฉลี่ยต่อเดือน 10,000 เครื่อง    ซึ่งการทำตลาดครึ่งปีหลังจากมุ่งเน้นการขยายตลาดไปยังต่างจังหวัด   ที่มีแนวโน้มการซื้อโน้ตบุ๊กไปใช้งานมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาสู่ตลาดครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีฮาร์ดดิสก์พกพา ที่ใช้เทคโนโลยี e-SATA ที่ช่วยให้มีความเร็วโอนถ่ายข้อมูลเร็วขึ้นออกมาสู่ตลาด     โดยขณะนี้ผู้ผลิตกำลังรอให้เทคโนโลยีดังกล่าวราคาลดลง      ขณะเดียวกันขณะนี้บัปฟาโล่ ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ คือ เทอร์โบพีซี    ซึ่งช่วยให้การโอนถ่ายข้อมูลเร็วกว่ายูเอสบี 2.0 มากถึง 2 เท่าตัว   สามารถโอนรูป 1,000 รูปภายใน 34 วินาที 

ด้านนายราจีฟ มูกุล รองประธานฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่นของไอโอเมก้า กล่าวว่า จากแนวโน้มการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) กับความนิยมใช้คอมพิวเตอร์เพื่อความบันเทิงมากขึ้น  และการขยายตัวของชุมชนสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียล เน็ตเวิร์ก ส่งผลให้การขยายตัวของข้อมูลดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าปริมาณข้อมูลดิจิตอลที่สร้างขึ้นในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้น 44 เท่าจากปี 2552 ถึง 2563 จากระดับกิกะไบต์ ขยายไปสู่เทราไบต์ และเพิ่มเป็นระดับ เซตตาไบต์ในเร็วๆนี้

นอกจากนี้ ปัญหาการสูญหายของข้อมูล  ที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และโน้ตบุ๊ก โดยสำรวจพบว่า ในตลาดอเมริกา และยุโรป กว่า 60% ไม่มีการแบ็กอัพ ข้อมูล ขณะที่ในเอเชีย มีสัดส่วนการไม่แบ็กอัพข้อมูลถึง 80%  เพราะไม่เห็นความสำคัญของข้อมูล และมองว่าเทคโนโลยียากเกินไป ถือเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญ และต้องการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Storage) สูงมากขึ้น

              ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว Iomega ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ อีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น ได้พัฒนาอุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบพกพา  เพื่ออีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ใช้งานต้องการอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีราคาย่อมเยา  คุ้มค่า  ในรูปลักษณ์ดีไซน์ล้ำสมัย  โดยกลุ่มสินค้าของไอโอเมก้าแบ่งออกเป็น 2  กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป  และกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

สำหรับกลุ่มคอนซูเมอร์ จะเน้นทำตลาดโดยกลุ่มฮาร์ดไดรฟ์แบบพกพาและแบบตั้งโต๊ะในตระกูลไอโอเมก้า eGo ขนาดความจุ 320-500 กิกะไบต์ที่มีมาพร้อมกับดีไซน์ทันสมัย หลากลายสีสัน รวมถึงรุ่น Compact ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด ความจุสูงถึง 1 เทราไบต์   นอกจากนี้ยังมีรุ่นพกพาและตั้งโต๊ะ ซูเปอร์สปีด ยูเอสบี  3.0 และรุ่นความจุสูง FireWire 800 Mac edition ซึ่งมีความจุสูงถึง 2 เทราไบต์  ทั้งนี้ eGo ทุกรุ่นติดตั้ง ไอโอเมก้า โปรเท็กชั่น สวีท ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดซอฟต์แวร์ด้านการปกป้องข้อมูล ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างให้อีเอ็มซี กับคู่แข่ง

  สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์เน็ตเวิร์กสตอเรจอะเรย์ ไอโอเมก้า StorCenter ix12-300r อุปกรณ์สตอเรจแบบติดตั้งบนแร็ก จะเน้นไปที่ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงหน่วยงานขององค์กรขนาดใหญ่ เช่น เวิร์กกรุ๊ป แผนก และสำนักงานสาขา ซึ่งต้องการขยายพื้นที่ความจุ เสถียรภาพ และฟีเจอร์ที่เหนือชั้น โดยไม่จำเป็นต้องจัดสรรบุคลากรด้านไอทีสำหรับดูแลอุปกรณ์สตอเรจโดยเฉพาะ

ด้านกลยุทธ์การทำตลาด ได้แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ขายผ่านช่องทางการจัดหน่าย , 2.การตลาดทางเลือกใหม่ผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ , 3.ทำตลาดพ่วงไปกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโทรคมนาคม และผู้ค้าคอมพิวเตอร์ และ   4. กลยุทธ์การเข้าหากลุ่มลูกค้าโดยตรง    ในขณะที่กลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดกลางและเล็ก และโซโห (Small Office & Home Office) เน้นทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่าย รวมไปถึงการทำตลาดขายพ่วงไปกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ค้าคอมพิวเตอร์ ควบคู่ไปกับการขายผ่านออนไลน์ เป็นต้น

"ตลาดคอนซูเมอร์ และเอสเอ็มอี ถือเป็นกลุ่มที่เราไม่เคยทำตลาดมาก่อน ดังนั้นการเข้ามาของไอโอเมก้า ถือว่ามาช่วยเติมเต็มตลาดในส่วนที่ขาดไปให้สมบูรณ์มากขึ้น"

สำหรับแบ่งการตลาดอีเอ็มซี ไอโอเมก้า เป็น 1 ใน3 ของตลาด โดยมีผู้นำตลาดคือ ดับบลิวดี รองลงมา คือ ซีเกท สำหรับในตลาดยุโรป ไอโอเมก้า เป็นอันดับ  2 ส่วนตลาดเอเชียอีเอ็มซี เพิ่งเริ่มทำตลาดไอโอเมก้า   ซึ่งคาดว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นท็อป  3 ทั้งในตลาดไทย และเอเชียให้ได้ในเร็วๆนี้

ที่มา: thannews.th.com


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)