Author Topic: เตือนสถาบันการเงิน งัดระบบไอทีรับมือฟอกเงินพุ่ง  (Read 787 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai

สิ่งที่สถาบันการเงินต้องทำ คือ นอกจากจะเรียกเอกสารที่ออกโดยราชการแล้ว ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องนั้น ตรวจสอบแหล่งอ้างอิง ต้องมีการเปรียบเทียบรายชื่อบุคคล

โดย...พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์

กระแสการฟอกเงินกลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังจากที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. มีคำสั่งให้ตรวจสอบบัญชีการเงินบุคคล 152 คน เพราะมีเหตุให้สงสัยว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้เงินสนับสนุนการก่อการร้าย หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับกลุ่มก่อการร้าย หรือก่อความไม่สงบในประเทศ

การจัดการกับเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ใหม่มากในประเทศไทย ด้วยเพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีการก่อการร้ายเกิดขึ้น แต่ในต่างประเทศเอง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้หลายประเทศตระหนักในเรื่องนี้ และที่สำคัญกลุ่มประเทศ จี20 ก็เห็นชอบและสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ มีการวางระบบเพื่อตรวจสอบการฟอกเงิน

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เปิดเผยว่า การตรวจสอบบัญชีการเงิน 152 คน ปปง. ต้องใช้เวลาเกือบเดือนกว่าจะรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วน ซึ่งถือว่าใช้กำลังคนมากและใช้เวลามากเกินไป


แต่หากมีการประกาศใช้กฎกระทรวงเรื่องเกี่ยวกับการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ จะเป็นการบังคับให้สถาบันการเงินต้องขอให้ลูกค้ามีการแสดงตน มีการตรวจสอบความถูกต้อง และการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง หรือเรียกว่า เควายซี/ซีดีดี หาก ปปง. ต้องการข้อมูลก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว

ถ้าประกาศใช้เมื่อไร สถาบันการเงิน ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ ผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ จะต้องเตรียมข้อมูลให้เข้าสู่ระบบภายใน 2 ปี โดยต้องตรวจสอบข้อมูลลูกค้าทุกวัน และหากพบธุรกรรมที่ผิดปกติต้องรายงานต่อ ปปง. ภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นมีโทษปรับ 5 แสนบาทต่อธุรกรรม และปรับเพิ่มอีก 5,000 บาทต่อวัน หากไม่แจ้ง
คำถาม คือ สถาบันการเงินต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง

สิ่งที่สถาบันการเงินต้องทำ คือ นอกจากจะเรียกเอกสารที่ออกโดยราชการแล้ว ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องนั้น ตรวจสอบแหล่งอ้างอิง ต้องมีการเปรียบเทียบรายชื่อบุคคลกับรายชื่อผู้ที่เป็นผู้ก่อการร้ายหรืออยู่ในองค์กรก่อการร้ายจาก ยูเอ็นลิสต์ โอเอฟเอซี อียู หรือเอยู โดยต้องมีการชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจหลักเกณฑ์นี้ ซึ่งทั้งหมดนี้หากมีการใช้ระบบไอทีและซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วยในการจัดเก็บและจัดแบ่งข้อมูลจะมีส่วนช่วยอย่างมาก

เพราะบัญชีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีอยู่อาจมีเป็นหลักร้อยล้านบัญชี ยิ่งการฟอกเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น การตรวจสอบด้วยพนักงานไม่สามารถทำได้ครอบคลุมแน่นอน

หลังจากนั้นต้องคอยตรวจสอบและพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงเป็นประจำทุกวันจากข้อมูลของลูกค้าที่มีอยู่ เช่น ลูกค้าบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อเดือน แต่สามารถทำธุรกรรมการเงิน เช่น โอนหรือซื้อได้ด้วยเงินสดเป็นหลักแสนบาทติดต่อกัน หรือการมีเงินเข้าบัญชีอย่างไม่มีสาเหตุติดต่อกัน หรือพฤติกรรมอื่นใดที่เข้าข่ายเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย

ตรงนี้สถาบันการเงินอาจรายงานต่อ ปปง. เพื่อให้มีการตรวจสอบต่อไปได้ และดังที่กล่าวว่าปัจจุบันการฟอกเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการอีเพย์เมนต์ หากตรวจพบการเติมเงินเข้าบัญชีอย่างผิดปกติ หรือแม้แต่การเติมเงินโทรศัพท์มือถือที่สามารถขายได้มากผิดปกติติดต่อกันหลายครั้ง

หากสถาบันการเงินไม่ตรวจสอบถือว่ามีความผิด แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีการตรวจสอบอย่างดี ป้องกันและดำเนินการกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็เป็นการ สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันการเงิน ช่วยให้การทำงานโปร่งใส และลดความเสี่ยงที่เกิดจากการกระทำผิดกฎหมาย

ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า เราสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกกฎหมายในการติดตามตรวจสอบพื้นที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ สถาบันและองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ (เอ็นจีโอ) ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มูลนิธิ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร รายชื่อที่ถูกคว่ำบาตร และภูมิศาสตร์ที่มีความเสี่ยงสูง

สำหรับสถาบันและเอ็นจีโอที่มีความเสี่ยงสูง การทำธุรกรรมสามารถถูกติดตามและตรวจสอบได้อย่างละเอียด เพื่อตรวจหารูปแบบและพฤติกรรมที่น่าสงสัยได้ ขณะที่การใช้รายชื่อที่ถูกคว่ำบาตร สามารถดำเนินการติดตามตรวจสอบให้สอดคล้องกับสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ โดยธนาคารจำเป็นต้องคัดกรองการทำธุรกรรมข้ามประเทศสำหรับบุคคล รายชื่อต่างๆ และหน่วยงานที่โดนคว่ำบาตร ตัวอย่างเช่น ธนาคารในสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจร่วมกับธนาคารกลางของอิหร่าน

นอกจากนี้ ในส่วนของภูมิศาสตร์ที่มีความเสี่ยงสูงประมาณ 50-70 ประเทศ กำลังถูกติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดและมีเครือข่ายโยงใยขนาดใหญ่ สถาบันการเงินต่างๆ จะต้องดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ทั้งสามส่วนนี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับการต่อสู้กับกระบวนการฟอกเงิน องค์กรต่างๆ ต้องสามารถดำเนินการ เช่น ประเมินข้อมูลปริมาณมากและตรวจสอบลูกค้า รวมถึงความสัมพันธ์|ทั้งหมดโดยใช้เทคนิคขั้นสูง เช่น เทคนิคการวิเคราะห์การเชื่อมโยง การวิเคราะห์กลุ่มคลัสเตอร์หรือกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกัน สนับสนุนสภาพแวดล้อมการสืบสวนตรวจสอบแบบรวม เพื่อเร่งความเร็วในกระบวนการตัดสินใจ ให้คะแนนความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าในสายผลิตภัณฑ์ต่างๆ นำระบบธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) ไปใช้ผ่านการวิเคราะห์เฉพาะกิจ เพื่อให้ระบบสามารถมองย้อนกลับไปที่ข้อมูลและเรียนรู้จากข้อมูลนั้นได้

การเตรียมระบบให้พร้อมถือเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งแซสมีประสบการณ์ในหลายประเทศมา 4-7 ปี สามารถติดตั้งระบบให้เสร็จพร้อมทดลองใช้ได้ภายใน 12 เดือน มีซอฟต์แวร์ที่รองรับภาษาไทย และประยุกต์ให้เข้ากับกฎหมายไทย อีกทั้งหากสถาบันการเงินขนาดเล็กที่ไม่พร้อมลงทุน ก็สามารถเลือกใช้เป็นบริการได้เช่นกัน เมื่อ ปปง. ต้องการข้อมูล ซอฟต์แวร์สามารถสรุปให้ได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา: posttoday.com


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)