Author Topic: "คลัง"รื้อสัมปทานยื้อรายได้เข้ารัฐ ดันแนวทาง"สคร."เข้าครม.ใน1เดือนก่อน3Gคลอด  (Read 1177 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai

คลังดันต่อหาแนวทางล้างไพ่สัมปทานมือถือ เตรียมนำผลศึกษาของ สคร.หารือใน "ครม.เศรษฐกิจ" ก่อนเสนอ "ครม." ใหญ่พิจารณาภายใน 1 เดือน ฟาก "ดีแทค" ลุ้นสุดตัวหวังปาฏิหาริย์มีจริง เสนอตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย "คลัง-ไอซีที-กทช." ร่วมมือวางมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้ ขณะที่ "กทช." ย้ำจุดยืนไม่เกี่ยวแปรสัญญา เดินหน้าเปิดเวทีประชาพิจารณ์ไลเซนส์ 3G



จากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังเข้ามา ดูแล และเสนอรูปแบบการแปรสัญญาสัมปทานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว และสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำผลศึกษาของ สคร.หารือกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) รวมทั้ง บมจ.ทีโอทีและ บมจ.กสท โทรคมนาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็น และจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเสนอมาหลายแนวทาง คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ใหญ่ใน 1 เดือน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในการหารือกับกทช. กระทรวงการคลังได้นำเสนอแนวความคิดที่จะให้มีการแปรสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ให้ได้ข้อยุติในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเปิดประมูลใบอนุญาต 3G เพราะเกรงว่าผู้ประกอบการเดิมอาจมีการโอนลูกค้าไปใช้เครือข่ายใหม่ เพื่อลดต้นทุนจากสัญญาสัมปทานเดิมที่จ่ายส่วนแบ่งรายได้ 20-30% ขณะที่การโอนย้ายลูกค้ามาอยู่โครงข่ายใหม่จะเสียค่าใบอนุญาตปีละ 6.5%

ดังนั้นเมื่อมีการนำส่วนต่างของรายได้ที่ลดลงไปคำนวณกับระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่แล้ว คาดว่าจะทำให้ทีโอที และ กสทฯ สูญเสียรายได้ปีละ 235,000 ล้านบาท ทำให้ทั้ง 2 แห่งประสบปัญหาขาดทุน กระทรวงการคลังต้องสูญเสียรายได้จากเงินปันผล และภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 18,240 ล้านบาท และเพื่อให้เกิดการ แข่งขันที่เป็นธรรมและไม่ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ทางกระทรวงการคลังจึงเสนอแนวคิดที่จะให้มีการแปรสัญญาสัมปทานกับคู่สัญญาเอกชนทั้งหมด โดยเสนอให้มีการขยายระยะเวลาสัมปทาน เดิมออกไปอีก 15 ปี และปรับลดส่วนแบ่งรายได้จาก 20-25% เหลือ 12.5% พร้อมให้ กทช.ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจาก 6.5% เพิ่มขึ้นเป็น 12.5%

อยˆางไรก็ตาม ตัวเลขส่วนแบ่งรายได้ หรือค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ 12.5% เป็นเพียงตัวเลขที่สมมติขึ้น

"คลังขอให้ กทช.กำหนดให้ชัดเจน ตอนนี้ยังไม่ทราบ อาจอยู่ที่ 10% หรือ 17% ต้องไปถาม กทช. แต่ในหลักการจะเป็นเช่นนี้ จากนั้นก็ส่งให้ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจภายใน 1 เดือน จริง ๆ โครงข่าย 2G เดิมก็มีมูลค่า แค่ติดอุปกรณ์เสริมก็กลายเป็น 3G ได้ แต่ต้องป้องกันไม่ให้มีการลักลอบใช้เครือข่าย ส่วนเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ในอดีต ซึ่งกฤษฎีกาชี้ว่าไม่ถูกต้องตาม กม.นั้นยังไม่ได้มีการหารือในประเด็นนี้"

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กทช.ไม่ได้เข้าไปมีบทบาทใด ๆ ในแนวคิดที่จะให้มีการ แปรสัญญาสัมปทาน และหากจะมีการดำเนินการอย่างใดต่อไปก็แล้วแต่การพิจารณาของทางกระทรวงการคลัง โดย กทช.ยังมีจุดยืนเหมือนเดิมว่า การแปรรูปสัญญาสัมปทานไม่เกี่ยวข้องกับ กทช.

"ที่ได้พบกับ รมว.คลังเป็นเพียงการเรียกเข้าไปถามว่า ถ้าจะทำแบบนี้ตามกม.ทำได้หรือไม่ ผมเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกม.มากนัก ตอบเท่าที่ตอบได้ อะไรไม่แน่ใจก็กลับมาหารือ กทช. เรื่องการขึ้นค่าใบอนุญาต อ.สุธรรม อยู่ในธรรม ชี้แจง มาว่า เป็นเรื่องผิด กม. กทช.ไม่สามารถปรับขึ้นได้ตามใจชอบ เกี่ยวกับต้นทุนการให้บริการของเอกชนด้วย ส่วนการแปรสัญญาเป็นใบอนุญาตเป็นสิ่งที่ทำได‰ ตามหากคู่สัญญา 2 ฝ่ายเห็นชอบตรงกัน ส่วนการขยายอายุสัมปทานทำไม่ได้"

ขณะที่เงื่อนไขในการให้ใบอนุญาต 3G เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดไว้แล้วและจะต้องดำเนินไปตามที่ระบุไว้ ผู้จะขอใบอนุญาตก็ต้องปฏิบัติตาม โดยในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ กทช.จะจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นสาธารณะต่อเงื่อนไขการออกใบอนุญาต มือถือ 3G หลังรับฟังความคิดเห็นแล้ว คาดว่าจะมีการประกาศหลักเกณฑ์การออก ใบอนุญาตได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้

แหล่งข่าวจากบริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์แสดงความเห็นวˆา การแปรสัญญาสัมปทานเดิมให้เสร็จก่อน กทช.ออกใบอนุญาต 3G เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังสมควรดำเนินการ เพราะเมื่อมีใบอนุญาตใหม่ แม้สัญญาสัมปทานเดิมจะยังไม่หมดอายุแต่ส่วนแบ่งรายได้ที่รัฐเคยได้จะหายไปแน่นอน จากการโอนย้ายลูกค้าจาก 2G ไปยัง 3G ดังนั้นแนวทางการเปลี่ยนสัญญาเป็นใบอนุญาตโดยยืดอายุสัญญาออกไปพร้อมลดการจ่ายส่วนแบ่งลงก็เพื่อรักษารายได้ของรัฐไว้ แต่เอกชนอาจกังวลว่า จะมีปัญหากับการประมูลใบอนุญาต 3G เพราะในเงื่อนไขการประมูลระบุว่า หากผู้รับใบอนุญาต 3G เป็นรายเดียวกับผู้ให้บริการภายใต้สัมปทานจากทีโอทีหรือ กสทฯ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องยุติการให้บริการที่อยู่ภายใต้สัมปทานเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการอนุญาตนั้น

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า บริษัทยินดีที่จะเจรจาเพื่อแปรสัญญาสัมปทาน หากเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมโดยรวม แต่ในขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน ตนมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมามีความพยายามมาหลายรัฐบาลแล้วแต่ไม่สำเร็จ

ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกลยุทธ์องค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า หากกระทรวงการคลัง กระทรวงไอซีที และ กทช.ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายเพื่อหารือกันเพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรคในการแปรสัญญาสัมปทานมือถือได้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะกำลังจะมีการเปิดประมูลใบอนุญาตมือถือ 3G เร็ว ๆ นี้ แม้ไม่สามารถผลักดันให้มีการแปรสัญญาสำเร็จได้จริง แต่อาจนำไปสู่การวางมาตรการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม ให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้

"แปรสัญญาถ้าทำได้ก็ดี ซึ่งคงยาก แต่ถ้าทำไม่ได้อย่างน้อยก็นำไปสู่การแก้เรื่องอื่น เช่น เงื่อนไข 3G เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต เช่นที่บอกให้มีการใช้ทรานมิสชั่นร่วมกัน หรือที่บอกว่า เมื่อสิ้นสุดสัมปทานแล้วห้ามทำต่อ ถามว่า แล้วลูกค้าจะไปไหน ใครจะดูแล สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ภาษาผมเรียกว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่ไอซีทีกับคลังมี รมต.จากพรรคเดียวกัน ขณะที่ กทช.ใหม่ก็มีความรู้และกล้าตัดสินใจ ถ้าทั้งหมดคิดร่วมกันน่าจะทำให้เกิดสิ่งดี ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอุตสาหกรรมนี้ได้"

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ได้เรียกให้ ผู้บริหารของทีโอที, กสทฯ รวมถึงคณะกรรมการมาตรา 22 ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสัญญาสัมปทานมือถือ และการให้บริการดาวเทียมไทยคม เพื่อกำชับให้ทำรายงานสรุปความเห็นเกี่ยวกับปัญหาสัญญาสัมปทานให้ครบทุกประเด็นตามกรอบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

"เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจนได‰ให‰กลับไปเพิ่มเติมรายละเอียดให้ครบถ้วน อาทิ ถ้าสรุปว่า สัญญาสัมปทานฉบับใดทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ก็ต้องชี้แจงได้ว่า มีมูลค่าเท่าใด มีวิธีคำนวณค่าเสียหายโดยใช้พื้นฐานใดบ้าง ทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาจะทำอย่างไร จะไม่มีการต่อเวลาอีก ทุกรายต้องส่งรายงานมาให้ทันวันที่ 7 ก.ค. เวลา 16.30 น."

ส่วนแนวคิดของกระทรวงการคลังกับการแปรสัญญาสัมปทานนายจุติกล่าวว่า ต้องรอให้กระทรวงการคลังทำข้อสรุปมาให้พิจารณาก่อน

ทั้งนี้ การแปรสัญญาสัมปทานต้องพิจารณาหาแนวทางที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างรายได้ที่ต้องนำส่งเข้ารัฐ การบริการประชาชน ราคาค่าบริการที่คิดกับประชาชน และความก้าวหน้าของประเทศ ไม่เน้นหนักไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บมจ.ทีโอทีกล่าวว่า การแปรสัญญาสัมปทานเป็นใบอนุญาตจะทำให้ปัญหายุ่งกว่าเดิม ไม่นับประเด็นที่ไม่แน่ใจว่าทำได้ไหมตามกม.ไหม เป็นไปได้สูงว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึง พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม ปัญหาใหญ่อยู่ที่การจัดการทรัพย์สินตามสัญญาเนื่องจากไม่ว่าสถานีฐาน โครงข่าย ล้วนสร้างขึ้นด้วยเงื่อนไข BTO หากเปลี่ยนเป็นระบบใบอนุญาตต้องคิดว่า ใครต้องชดเชยให้ใครเท่าไร เพราะรัฐเสียรายได้ในอนาคต เอกชนเสียสิทธิในการบริหารโครงข่ายก่อนหมดสัมปทาน ที่จะถกเถียงกันมากคือรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยที่ต้องเห็นพ้องกัน 2 ฝ่าย

"ผลตีความของกฤษฎีกาว่าสัมปทาน ยังไม่ได้ดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จะถูกดึงเข้ามาเถียงกันไม่จบ ยุ่งกว่าเดิมแน่"

ที่มา: prachachat.net


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)


Related Topics

  Subject / Started by Replies Last post
0 Replies
7546 Views
Last post February 14, 2009, 12:00:18 AM
by Webmaster
0 Replies
6218 Views
Last post March 03, 2009, 06:05:12 PM
by Reporter
0 Replies
2696 Views
Last post March 10, 2009, 08:43:28 AM
by Reporter
0 Replies
2400 Views
Last post April 29, 2009, 11:26:27 AM
by Reporter
0 Replies
5094 Views
Last post May 03, 2009, 05:52:53 PM
by IT
0 Replies
2754 Views
Last post June 03, 2009, 01:07:14 PM
by IT
0 Replies
3879 Views
Last post August 28, 2009, 09:43:46 AM
by IT
0 Replies
4914 Views
Last post February 24, 2010, 08:43:26 AM
by Nick
0 Replies
3270 Views
Last post June 02, 2010, 02:52:50 PM
by Nick
0 Replies
7493 Views
Last post June 10, 2010, 02:08:06 PM
by Nick