Author Topic: สุขเสียวเพียงครู่คราว แต่ปวดร้าวชั่วนิรันดร์ : จัน ดารา 2  (Read 780 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai





“ฉันเกลียดสงคราม ฉันเกลียดสงครามจริงๆ นะ เคน”

       ท่ามกลางซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนและคนเจ็บคนตายกลาดเกลื่อนเต็มท้องถนนจากอานุภาพการถล่มของระเบิดจากเครื่องบินรบ จัน ดารา เอ่ยขึ้นกับเพื่อนหนุ่มอย่างไอ้เคน กะทิงทอง เขาชิงชังสงคราม เขาสะเทือนใจในหายนะอันเป็นผลพวงแห่งสงคราม แต่ทว่านับตั้งแต่ลืมตาดูโลก ชีวิตเขากลับถูกดึงให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามอยู่ตลอดเวลา และที่ยิ่งไปกว่านั้น เขาเองก็เปรียบเสมือนเครื่องจักรตัวใหญ่ในการร่วมขับเคลื่อนให้สงครามนั้นดำเนินไปด้วย

       
       มันคือสงครามแห่งการแย่งชิงอำนาจ สงครามแห่งความโกรธเกลียดฝังลึก และนำไปสู่การล้างแค้นอย่างมืดบอดโง่เขลา เป็นวงจรแห่งเวรกรรมที่ยิ่งถลำลึก ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้สดชื่นหัวใจ นอกจากความมืดดำที่ครอบงำจิตใจให้ลุ่มหลงยิ่งขึ้นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด...
       
       หลังจากที่ จัน ดารา โดนกระทำอย่างสาหัส และต้องจรจัดออกจากบ้านวิสนันท์แล้วเดินทางขึ้นเหนือเพื่อไปพักพิงอยู่บ้านคุณท้าวยายที่จังหวัดพิจิตร ในภาคปฐมบท...มาในภาคนี้ จัน ดารา ได้รับรู้ความจริงบางอย่างเกี่ยวกับรากเหง้าที่มาของตัวเองอันก่อให้เกิดความคับแค้นอย่างยากจะยอมรับ และแม้ว่าเขาจะพยายามเอาทางธรรมเข้าข่ม แต่ดูเหมือนว่าเพลิงแห่งความคับแค้นอันสุมแน่นอยู่ในใจนั้นมันไม่เคยมอดดับและรอวันปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และอาจเรียกได้ว่านรกเข้าข้างเขาก็ไม่ผิดนัก เมื่อสถานการณ์ในบ้านวิสนันท์เกิดการพลิกผันเปลี่ยนแปลง บวกกับแรงกระตุ้นจากคุณท้าวยาย ทำให้จัน ดารา เดินทางเข้าเมืองหลวงอีกครั้ง ด้วยหัวใจที่แบกความแค้นมาจนล้นปรี่ มันคงถึงเวลาของเขาซะทีที่จะได้ชำระหนี้แค้น...
       
       ครับ, ก็อย่างที่รู้ว่า ก่อนจะมี จัน ดารา ปัจฉิมบท มันเคยมีปฐมบทมาแล้ว แม้เมื่อว่ากันอย่างถึงที่สุด ด้วยต้นทุนของฉบับนิยาย สามารถบอกเล่าให้จบได้ในภาคเดียว เหมือนกับที่เวอร์ชันก่อนหน้านี้ของ นนทรีย์ นิมิบุตร ได้ทำไว้แล้ว แต่ก็อย่างที่ หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า นี่คือการตีความใหม่ เท่าๆ กับเป็นการรีไรท์นิยายของครูอุษณา เพลิงธรรม ให้เป็น “จัน ดารา เวอร์ชันหม่อมน้อย” อย่างเต็มรูปแบบ เฉพาะอย่างยิ่ง การโฟกัสประเด็นของหนังให้แอบอิงเป็นเรื่องการเมืองและการแสวงหาอำนาจ เมื่อดู จัน ดารา มาจนถึงภาคปัจฉิมบท เราจะแจ่มแจ้งกับโจทย์ที่อยู่ในใจของหม่อมน้อยได้ชัดเจน
       
       ผมเคยตั้งข้อสงสัยว่าเพราะอะไร หม่อมน้อยถึงต้องใส่ฉากที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองของประเทศเข้ามาด้วย ไล่มาตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ผมมาเข้าใจและเห็นภาพชัดก็ในภาคปัจฉิมบทนี้ คือแต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง “ผู้เป็นใหญ่” ในบ้านของวิสนันท์ มักจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นฉากหลังใส่เข้ามาด้วย สิ่งนี้สะท้อนกันและกันอยู่ในทีถึงเรื่องของ “อำนาจการปกครอง” หรือ “ความเป็นใหญ่” ที่ผลัดใบเปลี่ยนขั้ว
       
       “เรื่องของ จัน ดารา” ในแบบฉบับของหม่อมน้อย จึงเป็น จัน ดารา ที่จะบอกในเรื่อง “การเมือง” และ “อำนาจ” อย่างตรงไปตรงมา และเป็นธรรมชาติของผู้มีอำนาจหรือมีความเป็นใหญ่ที่มักจะต้องใช้อำนาจนั้นอย่างลุ่มหลงและบ้าคลั่ง เราจะเห็นว่า ตอนที่คุณหลวงมีอำนาจ ตัวละครหลักอย่างจัน ดารา ก็แทบไม่ต่างอะไรจากทาสที่ไร้ค่า เขาได้รับการปฏิบัติด้วยความหยาบคายต่ำช้า และก็เป็นที่แน่นอนว่า เมื่อจัน ดารา เป็นฝ่ายได้ครองอำนาจขึ้นมาบ้าง เขาก็ไม่ลังเลเลยที่จะบ้าคลั่งและหลงใหลไปกับมัน การ “เอาคืน” เหมือนห่วงโซ่แห่งเวรกรรมที่ถ้าคิดไม่ได้ หยุดไม่เป็น ก็จะเฉกเช่นวัฏจักรที่เวียนซ้ำรอยเดิม เพียงแต่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ว่าใครจะเป็น “ผู้กระทำ” หรือ “ผู้ถูกกระทำ” ตามวิถี “ทีใครทีมัน”
       
       ในฐานะที่ได้เป็นทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ มาริโอ้ เมาเร่อ ถือว่าพัฒนาขึ้นมามากในแง่การแสดง ไม่เสียแรงที่ปวารณาตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิของหม่อมน้อย เขาทำให้เราเชื่อในบทบาทของการเป็น จัน ดารา ได้แบบไม่มีอะไรติดใจ ซึ่งตรงข้ามอย่างเหลือหลายกับเมคอัพใบหน้าของเขาตอนแก่ที่ชวนให้นึกถึง “ถุงเท้าคู่นั้น” (?) ที่เขาใช้สวมหัวในเรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” และไม่แน่ใจว่า เป็นถุงเท้าคู่เดิมนั้นหรือเปล่าที่น้าวาดก็เอามาสวมหัวในหนังภาคปัจฉิมบทนี้?
       
       อันที่จริง ผมมองว่าหม่อมน้อยก็มักจะหลุดอะไรในแบบที่ไม่ควรหลุดทำนองนี้อยู่แล้ว ผมใช้คำว่า “หลุด” เพราะมันไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย แต่มันทำให้เกิดความรู้สึกตะหงิดๆ ขณะที่ได้เห็นได้ฟัง อย่างเสียงพากย์ของคุณแก้ว (โช นิชิโนะ) ผมพูดไว้ตั้งแต่ภาคแรกแล้วว่า ทำไมไม่พากย์ให้มันเนียนๆ เป็นไทยไปเลย โดยไม่ต้องดัดเสียงให้ดูเหมือนคนญี่ปุ่น หรือเพราะเห็นว่าเธอเป็นนักแสดงญี่ปุ่น แต่บทในหนัง เธอคือคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ แล้วผมสังเกตท่าทีคนดูในโรงที่ดูรอบเดียวกัน ตั้งแต่คุณแก้วพูดคำแรก คนในโรงก็ขำกันออกมา และก็ขำทุกครั้งที่ตัวละครตัวนี้พูด
       
       เช่นเดียวกัน ไดอะล็อกบางส่วนก็ดูเยอะเกินความจำเป็น อย่างคำของคุณท้าวยาย “หนูจันทร์เจ้าขา” ถ้าจังหวะดีๆ มันจะทำให้รู้สึกหลอนได้ดีเหมือนกัน แต่เมื่อเยอะเกิน กลับกลายเป็นตลก และในช่วงที่ไม่ควรตลก ก็มีการยืดไดอะล็อกให้ฟังดูตลกไปซะอย่างนั้น เหมือนกับว่า สถานการณ์คับขันซีเรียสอยู่ ยังมีการแซวกันหรืออะไรทำนองนั้น แบบเดียวกับที่หนังตลกของหม่ำ จ๊กม๊ก มักจะทำ
       
       มันเป็นความรู้สึกขำเล็กๆ น้อยๆ เมื่อดูหนังของหม่อมน้อยล่ะครับ หรืออาจจะเป็นความจงใจให้เราขำของผู้กำกับก็เป็นได้ ใครจะรู้ แต่เท่าที่รู้ หญิง-รฐา นั้น อาจจะดูไม่เพอร์เฟกต์เต็มร้อยเท่าไรนักกับบทของคุณบุญเลื่อง เมื่อเทียบกับจงลี่ถีในเวอร์ชันของคุณนนทรีย์ คุณหญิง-รฐา นั้นมีความงดงามทางด้านเรือนร่างอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เมื่อเทียบกันในด้านของเซ็กซ์แอพพีล หรือความเย้ายวนแล้ว คริสตี้ ชุง หรือ “จงลี่ถี” ได้ดีกรีสูงกว่าเยอะ อาจจะเพราะได้เปรียบด้านหน้าตาที่แลดูเย้ายวนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วยส่วนหนึ่ง
       
       แต่ถึงกระนั้น ว่ากันอย่างถึงที่สุด หญิง-รฐา ก็ไม่มีอะไรที่ต้องตำหนิในบทบาทด้านการแสดง เธอ “ลงทุน” ทางเนื้อหนัง และ “ลงแรง” ทางฝีมือการเล่น เป็นที่ประจักษ์ อันที่จริง ก็นักแสดงทุกคนไม่มีอันใดติดขัด ดาราทุกคนควรภาคภูมิใจในการได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังซึ่งถือเป็นบันทึกอีกหนึ่งหน้าของหม่อมน้อย
       
       นอกจากเรื่องงานโปรดักชันที่ต้องเนี้ยบและดูสวยงามเสมอในงานของหม่อมน้อย ในความเห็นของผม คิดว่าหม่อมน้อยนั้น “เอาอยู่” พอสมควรกับหนังที่มีเนื้อหาประมาณว่า ความสุขทางเนื้อหนังมังสา มักจะเป็นต้นตอที่มาของหายนะแห่งชีวิต เหมือนส่างหม่องกับยุพดีในเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ความสุขเสียวชั่วครู่คือปฐมเหตุแห่งโศกนาฏกรรมอันสุดเศร้า ในกรณีของคุณหลวงแห่งบ้านวิสนันท์ หรือแม้แต่จัน ดารา เอง ก็ล้วนแล้วแต่เดินอยู่ในเส้นทางสายราคะนี้ และจุดจบก็ไม่ต่างกันมาก
       
       อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ต้นฉบับนวนิยาย หรือแม้กระทั่งหนังในเวอร์ชันของนนทรีย์ นิมิบุตร ประเด็นที่ถูกบดขยี้มากที่สุด เป็นเรื่องปมชีวิตที่เปียกแฉะด้วยเรื่องเพศ กามราคะหรือตัณหาหน้ามืดคือแกนใหญ่ใจความที่ห่มคลุมตัวเรื่องไว้เด่นชัด แต่เวอร์ชันของหม่อมน้อย สิ่งที่ถูกขับเน้นขึ้นมา คือเรื่องของอำนาจในหลากหลายด้าน ไล่ตั้งแต่การยึดครองอำนาจ การต่อรองกับอำนาจ หรือแม้กระทั่งการแสวงหาอำนาจ ทั้งหมดนี้ มีเรื่องใต้สะดือเป็นดั่งเครื่องมือในทางหนึ่ง
       
       เราจะเห็นตั้งแต่ภาคแรกว่า ตอนที่คุณหลวงเริ่มปลุกเสกตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้านายใหญ่แห่งบ้านวิสนันท์นั้น เขาก็ใช้เซ็กซ์เป็นเหยื่อล่อด้วยทางหนึ่ง เขาสถาปนาตัวเองเป็น “พระยาเทครัว” กินรวบหญิงรับใช้ทั้งหมดในบ้าน อำนาจของเขาเริ่ม “พองโต” และถึงจุด “แข็งตัว” อย่างเต็มที่ก็หลังจากเขาฮุบ “สมบัติส่วนตัว” ของน้าวาดได้สำเร็จ ขณะที่น้าวาด (ตั๊ก-บงกช) ก็จัดการต่อรองอำนาจกับคุณหลวงด้วยการใช้เซ็กซ์เป็นเครื่องมือ ตั้งแต่ตอนที่คุณหลวงดอดเข้าไปถึงรังนอนของน้าวาด น้าวาดพูดกับเขาว่า แม้โกรธเกลียดจัน ดารา เพียงใด ก็อย่าทำร้ายกันจนถึงแก่ชีวิต นี่คือตัวอย่างในการสื่อสะท้อนถึงเรื่องอำนาจและการต่อรองได้อย่างเด่นชัด
       
       ภาพกว้างๆ ที่เกิดขึ้นในหนัง จึงเป็นเรื่องของอำนาจ การใช้อำนาจ และการต่อรองกับอำนาจ เรื่องคาวสวาทเป็นเพียงองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางอำนาจอีกชั้นหนึ่ง เมื่อคุณหลวงมีอำนาจ คุณหลวงจะทำอย่างไรหรือเสพสมกับใครก็ย่อมได้ ตราบที่อำนาจอยู่ในมือ
       
       เช่นเดียวกับตอนที่จัน ดารา สวมหัวโขนของคุณหลวงแล้วไปเล่นงานคุณหลวงแบบที่คุณหลวงเคยกระทำต่อเขาในวัยเด็ก ซึ่งถือเป็นฉากช่วงที่ส่งเสริมให้ประเด็นของหนังอันว่าด้วยการแก้แค้นเอาคืน ดูเด่นชัดขึ้นมา ผมคิดว่าฉากที่ดีที่สุดอีกฉากหนึ่งของหนัง ซึ่งดูผ่านๆ อาจดูเหมือนว่าจะใส่เข้ามาเพื่ออะไร นั่นก็คือตอนที่คุณท้าวยายพาจัน ดารา ไปยืนอยู่กลางไร่นาอันกว้างใหญ่ พร้อมอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของที่ดินผืนดังกล่าวว่ามีการตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ใครจะมายื้อยุดฉุดชิง ก็ต้องยื้อแย่งกลับคืน เช่นเดียวกับอำนาจที่ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายแย่งใครก่อน แต่ผลสุดท้ายมันก็จะนำไปสู่การเอาคืนไม่รู้จบสิ้น เรื่องราวใน “จัน ดารา” ผ่านยุคสมัยถึง 4 ยุค 4 แผ่นดิน เราจะเห็นการเคลื่อนเปลี่ยนของอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า และเมื่อขั้วอำนาจเปลี่ยนแต่ละครั้ง มันไม่เคยขาดหายจากสิ่งที่เรียกว่าความเจ็บปวดของอีกฝ่ายหนึ่งเลย
       
       เพราะโลกหมุนวนเป็นวงจร ใครมีอำนาจ สิทธิ์ขาดก็เป็นของคนๆ นั้น “จัน ดารา” ทั้งสองภาค สะท้อนให้เห็นว่า การหลงระเริงในอำนาจและก่อกรรมทำเข็ญไม่รู้เลิกรา ล้วนนำมาแต่ความเจ็บปวดอันไม่มีที่สิ้นสุด หนังมีบทพูดเชิงเตือนสติตัวละครอยู่หลายครั้งหลายตอนว่าเลิกก่อกรรมทำเข็ญได้แล้ว แต่ก็ยากที่คนฟังจะรับฟัง เพราะเอาเป็นว่าได้บ้าคลั่งลุ่มหลงขึ้นมาแล้ว มันก็เหมือนกับเซ็กซ์หรือตัณหากามารมณ์ ยิ่งเสพยิ่งติด และดวงจิตก็ยิ่งมืดบอด
       
       ผมอาจจะขัดใจกับองค์ประกอบของหนังเรื่องนี้บ้าง อย่างน้อยที่สุด ผมคิดว่า “จุดเปลี่ยน” ของตัวละครก็ดูง่ายเกินไป ขาดพลังเหตุผลที่จะส่งแรงสั่นสะเทือนถึงการเคลื่อนเปลี่ยนความคิดของตัวละคร เราอาจจะเกิดความสงสัยว่าเพราะอะไร จัน ดารา ถึงดูเหมือนกลับใจคิดได้และไปหาเคนในวันสงครามทิ้งระเบิดกลางเมือง ช่วงจังหวะที่จะเปลี่ยนนั้นหายไป
       
       กระนั้นก็ตาม ผมยอมรับครับว่า หนังเรื่องนี้ของหม่อมน้อย “ไปถึงสวรรค์” ในด้านประเด็นเนื้อหาอย่างจับต้องสัมผัสได้ ถ้าไม่มัวแต่จดจ้องว่า “หน้าอก” ของคุณหญิง-รฐา จะโผล่มาตอนไหน แล้วไตร่ตรองกับเรื่องราวในหนัง ผมคิดว่ามันมีแง่มุมให้คุณได้ขบคิดอย่างแน่นอน

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)