"โนเกีย" เดินเกมลึกถึงช่องทางขายหลังจัดโครงสร้างการจัดจำหน่ายใหม่ทั่วประเทศ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แบ่งเขต 3 ดิสทริบิวเตอร์ "ดับบลิวดีเอส-ยูดี-เอ็มลิ้งค์" คุมพื้นที่กระจายสินค้าลงตลาด พร้อมส่งทีมคลุกวงใน "ดีลเลอร์-เชนสโตร์-โมเดิร์นเทรด" ช่วยบริหารสินค้าและแผนการตลาดหวังทวงส่วนแบ่งตลาดคืนจากคู่แข่ง ฟากเครื่องใหม่ "5800" ฮอตลุ้นยอดทะลุหมื่นเครื่อง
ตั้งแต่ปลายปี 2551 ที่ผ่านมา "โนเกีย" ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในตลาดปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือใหม่เพื่อแก้ปัญหาการขายสินค้าตัดราคา ทั้งนี้ในการประชุมตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2552 ที่ผ่านมา โนเกียได้มีการประกาศใช้โครงสร้างใหม่ มีผลตั้งแต่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป
โดยมีการแบ่งพื้นที่ในการกระจายสินค้าของผู้ค้าส่ง (ดิสทริบิวเตอร์) ทั้ง 3 ราย ได้แก่ บมจ.เอ็มลิ้งค์ คอร์ปอเรชั่น ดูแลภาคใต้ กลาง และตะวันออก, บริษัท ยูไนเต็ด ดิสทริบิวชั่น บิซซิเนส จำกัด (ยูดี) ดูแลภาคเหนือ และอีสาน ส่วนบริษัท ไวร์เลส ดีไวส์ ซัพพลาย จำกัด (ดับบลิวดีเอส) ดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ และเครือข่ายเทเลวิซทั่วประเทศ
ทั้งนี้ โนเกียได้เปิดเผยตัวเลขยอดจองซื้อเครื่องรุ่นใหม่ 5800 ที่เปิดให้จองซื้อล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์และร้านค้าต่างๆ ว่ามีถึง 6,000 เครื่องแล้ว (ณ สิ้นเดือน ม.ค.) ไม่รวมยอดขายผ่าน "ไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป" ระหว่าง 29 ม.ค.-1 ก.พ. ที่ผ่านมา คาดว่าถึงวันที่ 20 ก.พ.ซึ่งเป็นวันรับเครื่อง ยอดขายอาจทะลุ 1 หมื่นเครื่องด้วย
นายไพโรจน์ ถาวรสภานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีจีโฟน จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โนเกียต้องการจัดสรรสินค้าให้พอดีกับปริมาณการขายในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าไหลข้ามเขตจนเกิดปัญหาการขายสินค้าตัดราคาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา และเชื่อว่าถ้าคุมราคาทั้งค้าปลีกและค้าส่งได้จะทำให้ทุกฝ่ายมีกำไรมากขึ้น ส่งผลให้ร้านค้ากระตือรือร้นที่จะขายสินค้ามากขึ้น เพราะขายแล้วมีกำไร จากเดิมตัดราคากันจนไม่เหลืออะไรจึงมีร้านค้าย่อยเป็นจำนวนมากหันไปนำสินค้าเฮาส์แบรนด์เข้ามาขาย เนื่องจากมีกำไรมากกว่า
ประกอบกับสินค้าเฮาส์แบรนด์ในปัจจุบัน มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าและเทคโนโลยีดีขึ้นกว่าในอดีตมาก อีกทั้งยังมีฟังก์ชั่นในการใช้งานตรงใจผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นใช้ 2 ซิมหรือดูทีวีได้ ซึ่งแบรนด์ใหญ่ๆ ไม่มีฟังก์ชั่นดังกล่าว
"ผู้ค้าส่งรายหลักของโนเกียยังเป็นยูดี เอ็มลิ้งค์ และดับบลิวดีเอส เหมือนเดิมเพียงแต่จะแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบในการกระจายสินค้าไปยังแต่ละพื้นที่ต่างกัน เช่น ยูดีดูแลภาคเหนือ และอีสาน มีไมโครดิสทริบิวเตอร์ 10 ราย เอ็มลิ้งค์ดูภาคใต้ กลาง และตะวันออก มีไมโครดิสทริบิว เตอร์ 20 ราย ส่วน WDS ดูแล กทม. เป็นต้น โดยโนเกีย และดิสทริบิวเตอร์แต่ละรายจะเลือกไมโครดิสทริบิวเตอร์ในแต่ละพื้นที่อีกที ไม่ใช่ร้านค้าที่มีอยู่ทั้งหมดจะได้รับเลือก ทำให้ต้องปรับตัวไปขายแบรนด์อื่น"
นอกจากนี้ นโยบายการตลาดของ โนเกียในปีนี้ยังจะเข้ามาทำงานใกล้ชิดกับตัวแทนจำหน่ายและช่องทางขายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไมโครดิสทริบิวเตอร์ เชนสโตร์ และโมเดิร์นเทรดมากขึ้น โดยจะมีการเข้าร่วมประชุมวางแผนการทำตลาด การคาดการณ์สินค้า เพื่อปรับโมเดลสินค้าร่วมกันทั้งแบบรายเดือนและรายไตรมาส จากเดิมเน้นทำงานใกล้ชิดกับดิสทริบิวเตอร์เป็นหลัก ไม่ได้เจรจากับระดับเชนสโตร์ และไมโครดิสทริบิวเตอร์โดยตรง
"ต้นปีที่แล้วโนเกียเริ่มเข้ามาคุยกับเชนสโตร์บ้าง แต่ก็ยังไม่มากเท่าขณะนี้ที่มีการวางแผนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นประโยชน์กับดีลเลอร์มากเพราะมีข้อมูลช่วยในการตัดสินใจ จากเดิมที่เราตัดสินใจร่วมกับดิสทริบิวเตอร์เท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโมเดลการขายตรงของคู่แข่งที่เข้าถึงดีลเลอร์โดยตรงทำให้โนเกียต้องลงมาปรับบทบาทให้เข้ามาใกล้ชิดกับช่องทางมากขึ้น รวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดที่ตกลงจากที่เคยสูงถึง 60%"
อย่างไรก็ตาม แม้โนเกียจะปรับช่องทางจำหน่ายใหม่ และลงมาใกล้ชิดร้านค้ามากขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นลงไปดูในระดับหน้าร้านหรือมีการปรับโครงสร้างมาร์จิ้น และให้เงินสนับสนุนการทำตลาดไปยังช่องทางขายแต่อย่างใด ขณะที่คู่แข่งบางรายลงมาขนาดนั้น
นายไพโรจน์กล่าวว่า ซัมซุงเป็นแบรนด์ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาดมากที่สุด และอัดฉีดงบฯการตลาดทุกรูปแบบหากเทียบคู่แข่งรายอื่นทั้งโมเดลการขายตรงไปยังช่องทางการจำหน่ายทำให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคู่ค้า ตั้งแต่มาสเตอร์ดีลเลอร์ และดีลเลอร์ รวมถึงการนำรุ่น โลว์เอนด์เข้าโมเดิร์นเทรด ทำให้ส่วนแบ่งตลาดตีตื้นขึ้นมาจนปัจจุบันน่าจะถึง 20% แล้ว ทั้งปีนี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มเป็นกว่า 30% ด้วย
สำหรับภาพรวมตลาดในปีนี้น่าจะใกล้เคียงปีที่ผ่านมาที่ 8-9 ล้านเครื่อง โดย ยอดขายเดือน ม.ค.ถือว่าไม่แรงมากแม้จะ มีการอั้นกำลังซื้อตั้งแต่ปลายปี จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เริ่มดีขึ้นทำให้มู้ดการจับจ่ายเริ่มกลับมา เชื่อว่าปีนี้จะยังพอไปได้โดยปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3 พัน-3.5 พันบาท และในปีที่ผ่านมาโนเกียมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดกว่า 40% รองลงมาคือ ซัมซุง ไอ-โมบาย แอลจี และอื่นๆ
ที่มา:
http://www.matichon.co.th