สุรินทร์ อมรชัชวาลกุล กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท มีเดีย-อินฟินิตี้ จำกัด เจ้าของแบรนด์อาม่า
ผู้สร้างมือถือแบรนด์ “อาม่า” ยืนยัน มือถือรุ่นอาม่า และอาม่าพลัส ปลอดภัยเพราะได้ส่งเครื่องไปทดสอบอีกครั้งหลัง กสทช.ประกาศเพิกถอนใบอนุญาตห้ามวางจำหน่าย ระบุเตรียมยื่นผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ครั้งใหม่พร้อมกับรอจดหมายแจ้งจาก กสทช.ถึงขั้นตอนการดำเนินงานเพิ่มเติม โอดข่าวทำให้เข้าใจผิดว่า กสทช.เพิกถอนทั้งแบรนด์ ย้ำการตรวจสอบความปลอดภัยเป็นหน้าที่หลักเพราะเข้าใจผู้บริโภคดีว่าต้องการอุปกรณ์คุณภาพให้พ่อ-แม่-ญาติผู้ใหญ่ใช้งาน สุรินทร์ อมรชัชวาลกุล กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งบริษัท มีเดีย-อินฟินิตี้ จำกัด เจ้าของแบรนด์อาม่า เปิดเผยว่า หลังจาก กสทช.มีมติเพิกถอนใบอนุญาตจำหน่ายโทรศัพท์มือถือรุ่นอาม่า และอาม่าพลัสเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทมีความกังวลจึงได้จัดส่งโทรศัพท์มือถือรุ่นอาม่าพลัสไปทดสอบที่ศูนย์ปฏิบัติการอีกครั้ง ผลที่ได้รับคือผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดบริษัทจะดำเนินการส่งผลการทดสอบครั้งใหม่ให้ กสทช.พิจารณาอีกครั้ง
“อาม่า และอาม่าพลัสนั้นเหมือนกัน ต่างกันแค่อาม่าเป็นมือถือซิมเดียว แต่อาม่าพลัสมี 2 ซิม เราเลยส่งเฉพาะรุ่นอาม่าพลัสไปทดสอบ ทั้งหมดเป็นการดับเบิลเช็กเพราะความกังวลของเรา”
โทรศัพท์มือถือรุ่นอาม่า และอาม่าพลัส เป็นส่วนหนึ่งในโทรศัพท์มือถือ 280 รุ่นที่ถูก กสทช. สั่งให้ทำลายทิ้งภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีประกาศวันที่ 20 มิถุนายน 2555 โดย กสทช.ระบุในมติว่า เพิกถอนใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ทั้ง 280 รุ่นเนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ผ่านการทดสอบจากต่างประเทศ หรือมีการปลอมแปลง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ทำให้ข้อมูลการทดสอบผิดจากผลการทดสอบต้นฉบับ และไม่ให้ผู้ประกอบการ นำเข้าโทรศัพท์ทั้ง 280 รุ่น รวมถึงห้ามจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม กสทช.ยกเว้นให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์ทั้ง 280 รุ่นอยู่แล้วสามารถใช้งานต่อไปได้โดยไม่มีความผิด
โทรศัพท์มือถือรุ่นอาม่า
สุรินทร์ยอมรับว่าผู้บริโภคอาจเข้าใจผิดว่ามติ กสทช.นี้เป็นการเพิกถอนแบรนด์ แต่ความจริงโทรศัพท์รุ่นที่มีผลกระทบนั้นมีเฉพาะรุ่นอาม่าและอาม่าพลัสเท่านั้น “เรานำเข้าโทรศัพท์มือถือ ก็ต้องทำตามข้อกำหนด กสทช.เพื่อให้ได้ไลเซนส์มา อาม่าและอาม่าพลัสซึ่งเป็นรุ่นที่เราทำตลาดไป 2 ปีที่แล้วเกิดผิดพลาด กสทช.จึงเพิกถอนใบอนุญาตเพราะเอกสารผิด การทดสอบเครื่องเพื่อรักษาความปลอดภัยนั้นเป็นหน้าที่หลักของเรา เรายึดลูกค้าเป็นหลัก และเข้าใจว่าซื้อโทรศัพท์มือถืออาม่าให้พ่อ-แม่ใช้งาน ทุกคนไม่ต้องการเอาพ่อแม่มาเสี่ยง เราจึงส่งให้แล็บเทสต์อีกครั้ง ซึ่งก็พบว่าไม่มีปัญหา ลูกค้าปลอดภัยจริงๆ”
ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแบรนด์อาม่าระบุว่าไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ในขณะนี้ โดยปัจจุบันยังรอความคืบหน้าจาก กสทช.ถึงขั้นตอนที่บริษัทต้องดำเนินการเพิ่มเติม ในกรณีคำสั่งทำลายเครื่องทิ้ง
“ประเมินไม่ถูก ตอนนี้เราคงจะยื่นผลตรวจสอบใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้รับการพิจารณาหรือเปล่า”
นอกจาก อาม่า และอาม่าพลัส (ราคา 1,490 บาท) บริษัทยังมีโทรศัพท์มือถือรุ่น “ซูเปอร์อาม่า” โทรศัพท์มือถือปุ่มใหญ่หน้าจอสีที่ทำตลาดอยู่ในราคา 1,990 บาท สำหรับปีนี้ บริษัทมีแผนวางจำหน่ายโทรศัพท์รุ่น “เลดี้อาม่า” สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์สำหรับผู้สูงวัย และ “มือถืออาเซียน” โทรศัพท์มือถือ 5 ภาษา พม่า-ลาว-เขมร-ไทย-อังกฤษ เพื่อจะรองรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถนัดใช้งานโทรศัพท์มือถือภาษาไทยและอังกฤษ
Company Related Link :
Media Infinity
รายชื่อโทรศัพท์มือถือทั้ง 280 รุ่นที่ถูก กสทช.เพิกถอนใบอนุญาต สามารถตรวจสอบได้ที่ด้านล่าง
ที่มา: manager.co.th