สำนักข่าวเอพีรายงานว่าพบพฤติกรรมใหม่ในการสัมภาษณ์รับคนเข้าทำงานขององค์กรธุรกิจในสหรัฐฯ โดยบางบริษัทเอ่ยปากขอชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของผู้สมัครงาน เพื่อเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยในเครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก อ้างต้องการข้อมูลประกอบการตัดสินใจรับเข้าทำงาน ไม่พอ พบบางบริษัทดึงพนักงานใหม่เซ็นสัญญาข้อตกลงห้ามโพสต์ข้อความนินทาว่าร้ายบริษัทบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ตอกย้ำอิทธิพลของเครือข่ายสังคมในนาทีนี้
ชื่อพนักงานที่ถูกฝ่ายบุคคลของบริษัทขอรหัสผ่านเฟซบุ๊กระหว่างสัมภาษณ์งานคือจัสติน บาสเซ็ตต์ (Justin Bassett) โดยสำนักข่าวเอพีรายงานว่าแทนที่จะถามคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์อย่างที่เขาคาดหวัง แต่ฝ่ายบุคคลของบริษัทซึ่งเขาสมัครงานในตำแหน่งนักสถิติ กลับยิงคำถามเกี่ยวกับตัวตนเพียง 2-3 คำถาม ก่อนจะหันไปที่คอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาหน้าประวัติของจัสตินบนเฟซบุ๊ก ไม่นาน ฝ่ายบุคคลรายนั้นหันกลับมาบอกจัสตินว่าไม่สามารถหาพบ และขอให้จัสตินบอกชื่อยูเซอร์เนมและพาสเวิร์ดเพื่อล็อกอิน
จัสตินตัดสินใจไม่ให้และขอถอนใบสมัคร พร้อมกับแจ้งว่าไม่ต้องการทำงานในบริษัทที่มุ่งสืบค้นข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน
แต่ในรายอื่น ผู้สมัครงานใหม่อาจไม่มีทางเลือกในการปฏิเสธอย่างที่จัสตินทำ
แม้การขอชื่อและรหัสผ่านจะดูเหมือนการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างผิดกฏหมาย แต่การกระทำเช่นนี้ไม่เข้าข่ายผิดเนื่องจากผู้ใช้ยินยอมให้รหัสผ่านเอง ถึงจะไม่เต็มใจเพราะรู้ดีว่าถูกบุกรุกความเป็นส่วนตัวอย่างโจ่งแจ้ง โดยชื่อและรหัสผ่านที่ฝ่ายบุคคลขอไปนั้นจะทำให้บริษัทสามารถตรวจสอบประวัติพนักงานในจุดที่เก็บเป็นความลับและไม่ตั้งค่าเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้บริษัทได้เห็นตัวตนของพนักงานมากกว่าการเปิดหน้าเฟซบุ๊กปกติ
สำนักข่าวเอพีพบว่าหลายบริษัทและหน่วยงานในสหรัฐฯมีแนวโน้มตั้งนโยบายลักษณะนี้ เพื่อตรวจสอบลักษณะบุคคลก่อนรับเข้าทำงาน อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องต่างแสดงความกังวลต่อกรณีที่เกิดขึ้นเพราะการยินยอมให้รหัสผ่านเฟซบุ๊กนั้นไม่ต่างจากการจำใจยื่นกุญแจบ้านให้คนแปลกหน้า โดยหลายรัฐในสหรัฐฯกำลังศึกษาเพื่อหาทางร่างกฏหมายปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนในอนาคต
รายงานระบุว่าหลังจากขอรหัสผ่านไปได้ ฝ่ายบุคคลในบริษัทเหล่านี้จะนำไปล็อกอินเฟซบุ๊กเฉพาะระหว่างสัมภาษณ์งานเท่านั้น และเมื่อได้รับเลือกให้เข้าทำงาน พนักงานบางรายจะถูกกำหนดให้เซ็นชื่อในข้อตกลง non-disparagement agreements ซึ่งห้ามพนักงานโพสต์ข้อความแง่ลบเกี่ยวกับบริษัทในเครือข่ายสังคมทุกกรณี
ยังมีอีกหลายกรณีที่สำนักข่าวเอพีตีแผ่ถึงภาวะจำยอมของผู้หางานใหม่ที่ต้องทนให้บริษัทรุกล้ำความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ได้งานที่ต้องการ ซึ่งคาดว่าประเด็นที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นประเด็นร้อนที่ขยายวงไปถึงหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทยที่มีผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กมากกว่า 14 ล้านคน
Company Related Link :
Facebook
ที่มา: manager.co.th