นักวิชาการแนะ กสทช. เรียกหน่วยงานที่ถือครองคืนคลื่นความถี่เร็วกว่าที่กำหนดไว้ ควรเปิดเสรีโทรคมฯ และควรแก้ปัญหาค่าโรมมิ่งแพง ภายหลังกสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคนำร่องเปิดประชาพิจารณ์ก่อนวันจริง 10 ก.พ.นี้ นายสมเกียรติ์ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยภายหลังกสทช.นำร่องจัดเวทีสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาคประชาชน ภาควิชาชีพ และภาควิชาการก่อนวันจริง 10 ก.พ.นี้
โดยต้องการเสนอให้กสทช.ปรับแก้ระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่โดยวิทยุ และโทรคมฯ ให้คืนเร็วขึ้นภายในเวลา 3 ปี และโทรทัศน์ 5 ปีเนื่องจากโทรทัศน์ต้องรีบนำไปปรับเป็นระบบดิจิตอล และภาคประชาชนจะสามารถทำโทรทัศน์ชุมชนได้เร็วกว่ากำหนด
นอกจากนี้ยังเสนอให้เปิดเสรีโทรคมฯ และควรแก้ปัญหาค่าโรมมิ่งแพง โดยเฉพาะในกรลุ่มประเทศอาเซียน ทางกสทช.ควรประสานรัฐบาล ลดค่าใช้โรมมิ่งในอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่ดีที่สุด ดังนั้น แผนแม่บท กสทช.ต้องเน้นให้โทรคมฯไทยมีประสิทธิภาพ โดยต้องทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทย แข่งได้กับอาเซียนได้ และควรทำให้อัตราค่าบริการโทรคมฯไทย อยู่อันดับ 2 ของอาเซียน
ทั้งนี้ การจัดสรรคลื่นอยากให้กสทช.พิจารณาว่า จะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดผู้ประกอบการเฉพาะรายกระจุกตัวในตลาดโทรคมฯ และควรนำเทคโนโลยีไร้สาย หรือ ไวแมกซ์ มาใช้ในพื้นที่เมืองด้วย ไม่ใช่จะวางแผนให้ใช้เฉพาะพื้นที่หมู่บ้านในชนบท
นอกจากนี้ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้เสนอให้ กสทช.ควรทำกติกา และระบุในแผนแม่บท และออกเป็นประกาศให้ชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมร่วมกันว่าจะทำอย่างไร และไม่ให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายเล็ก ถูกกีดกันทางการแข่งขัน และไม่สามารถเข้ามาสู่ตลาดการแข่งขันได้ อย่างกรณี เครือข่าย ฮัทช์ เป็นต้น
อีกทั้งบทบาทการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช.ควรสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคของกสทช.ไว้ทั่วประเทศ เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากที่สุด ไม่ใช่เกิดปัญหาจะต้องมาร้องเรียนได้แค่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ต้องทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว ขณะที่ด้านผู้ประกอบการต้องมีจรรยาบรรณในการประกอบการและให้ความสำคัญกับผู้บริโภคด้วย
นางสาวสารี กล่าวอีกว่า เมื่อมีการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ทางกสทช.ควรผลักดันองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของกสทช. ให้เข้าไปร่วมองค์กรผู้บริโภคในอาเซียนด้วย เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค และให้กติกาสากลในการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญ
โดยเฉพาะควรกำหนดราคาค่าบริการโทรคมนาคมให้มีมาตรฐาน และทันยุคสมัย ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ หรือ โรมมิ่ง นั้น พบว่ามีหลายคนที่ร้องเรียน และพบว่าจำนวนเงินที่ถูกเรียกเก็บสูงที่สุด อยู่ในหลักแสนบาท
ด้าน นางอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่าอยากให้กสทช.ให้ความสำคัญในการกระจาย และจัดสรรทรัพยากรคลื่น ว่าจะมีวิธีดำเนินการอย่างไร จึงจะให้กระบวนการจัดสรรคลื่นอย่างเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ให้เป็นธรรม และทั่วถึงเท่านั้นแต่อยากให้คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ควรคำนึงสิทธิประโยชน์ความเป็นพลเมืองด้วย
ส่วนการเรียกคืนคลื่น อยากให้ใช้เป็นพ.ศ. แทนระยะเวลาเป็นปี และเรื่องกฎหมายที่เขียนว่า 20% ของคลื่น ต้องเขียนว่า 20% ของพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการแทน
ขณะเดียวกัน สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้บริโภค กล่าวว่าหลังจากแผนแม่บทผ่านทั้ง 3 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกเรียบร้อยแล้ว ทางกสทช.จะเชิญสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และรัฐบาลมาหารือกันเพื่อวางกรอบการจะเดินหน้าร่วมกัน
โดยจะหารือในเรื่องการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ ที่แพร่ภาพด้วยระบบอนาล็อก ไปสู่ความเป็นดิจิตอลตามกรอบความร่วมมือกับสหภาพโทรคม หรือ ITU ซึ่งกสทช.คาดว่าจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานร่วมกัน และมีความเป็นไปได้ว่าอย่างช้าที่สุดไทยควรเริ่มไม่เกินปี 2015 หรืออาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น
ทั้งนี้กสทช.กำหนดให้การทำประชาพิจารณ์แผนแม่บททั้ง 3 ฉบับคือ แผนแม่บทบริหารตารางคลื่นความถี่ ร่างแผนแม่บทบทกิจการโทรคมนาคม และร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ที่เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th