Author Topic: 7 สุขนิสัยที่ต้องเข้าใจให้ถูก  (Read 1270 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai

        คนสมัยนี้ได้รับความรู้เรื่องสุขนิสัย สุขบัญญัติจากโรงเรียน จากสื่อ จากเพื่อนร่วมงาน ร่วมก๊วนกอล์ฟ ก๊วนเทนนิส ก๊วนซิ่ง และจากคนข้างบ้าน คนส่วนมากไม่ว่าจะเป็นไทย จีน ญี่ปุ่น แขก ฝรั่ง ต่างก็มีความโน้มเอียง จะเชื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์กันทั้งนั้น ทำให้มีมิจฉาทิฐิในเรื่องต่างๆ มากมายโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เพราะทุกคนสนใจอยากจะมีสุขภาพดี มีความสุขมากๆ ตลอดไป ลองคิดดูว่าท่านมีมิจฉาทิฐิต่อไปนี้บ้างหรือไม่?

    Q : ล้างมือด้วยสบู่ยาดีไหม ?   
         A : การล้างมือเป็นสุขนิสัยที่ดีอย่างหนึ่ง เนื่องจากการติดเชื้อทางมือ เป็นสาเหตุสำคัญมากอย่างหนึ่งของการเจ็บป่วย เช่น การติดโรคหวัด แผลผ่าตัดเป็นหนอง โรคท้องร่วงจากอาหาร ฯลฯ การล้างมือที่ถูกหลักเกณฑ์ จึงเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อทางมือที่ดีอย่างหนึ่ง หลายคนจึงมีความคิดต่อไปว่า การล้างมือด้วยสบู่ยาฆ่าเชื้อ จึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าการล้างด้วยสบู่ธรรมดา แต่ปรากฏจากข้อมูลของกรมควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาว่า การใช้สบู่ยาฆ่าเชื้อที่มีขายในท้องตลาด ไม่ได้ดีกว่าสบู่ธรรมดาเลย แถมยังฆ่าได้เฉพาะเชื้อโรคอ่อนๆ ปล่อยให้ตัวร้ายๆ แพร่พันธุ์ต่อไป เขาพบว่าการล้างมือที่ได้ผลดีและทำง่าย คือ การใช้แอลกอฮอล์ 70% (alcohol handrub ซึ่งผสมสารถนอมผิวด้วย) ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อได้มากมายกว้างขวาง เขาว่าแทบจะไม่มีเชื้อดื้อต่อมันเลย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีสารอะไรช่วยเลย การใช้น้ำก๊อกธรรมดาล้างมือก่อนกินอาหาร ก็ยังดีกว่าไม่ได้ล้าง

    Q : กินอาหารไขมันต่ำดีจริงไหม ?   
         A : หลายคนคงเคยได้ยินได้อ่านมาว่า การกินอาหารไขมันต่ำช่วยลดน้ำหนัก บางคนจึงกินอาหารไขมันต่ำมาตลอด โดยไม่มีความเข้าใจเรื่องโภชนาการอย่างครบถ้วน ความอ้วนเกิดจากการกินอาหารมาก ออกกำลังน้อย การกินอาหารมาก หมายถึงการกินแคลอรีมาก แคลอรีไม่ได้มาจากไขมันอย่างเดียว อาหารเกือบทุกอย่างมีแคลอรี การลดไขมันต่ำมากๆ แต่ยังกินแป้งและน้ำตาลมากเกิน ก็ย่อมทำให้เกิดการสะสม และเปลี่ยนแปลงไปเป็นไขมันพอกพูนในร่างกาย เคยมีการศึกษาติดตามพยาบาลจำนวนหลายพันคน ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 8 ปี โดยให้กินอาหารไขมันต่ำ เปรียบเทียบกับการกินอาหารธรรมดา เมื่อเสร็จการศึกษาติดตามเขาสรุปว่า การกินอาหารไขมันต่ำ หรืออาหารที่ไม่มีไขมันเลย ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก (ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะกินอาหารอย่างอื่นมากเกินไป และออกกำลังกายน้อยกว่าที่ควร) ไขมันทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น กินอร่อยขึ้น และไขมันบางอย่างไม่มีผลเสียมาก (ยกเว้นแคลอรีสูง) เช่น น้ำมันมะกอก ถ้าเอาไปปรุงอาหาร หรือใช้ราดสลัด จะทำให้กินสลัดได้อร่อยขึ้น กินผักได้บ่อยขึ้นมีผลดีต่อสุขภาพ สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่า น้ำมันพืชชนิดไหนดีต่อสุขภาพ ควรละเว้นน้ำมันพืชที่ก่อให้เกิดโคเลสเตอรอล ซึ่งทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันจากสัตว์ และควรคำนึงถึงมวลรวมของแคลอรี จากอาหารที่กินทั้งหมด แล้วควบคุมให้อยู่ในพิกัด เขาว่าไม่ควรกินน้ำมันเกิน 30% ของแคลอรีจากอาหารทั้งหมด

    Q : กินแครอทแล้วสายตาดีจริงหรือไม่ ?     
          A : แครอทมีวิตามินเอสูง และวิตามินเอมีส่วนทำให้การมองเห็นเป็นปกติ แต่ร่างกายต้องการวิตามินเอ เพื่อการมองเห็นปกติจำนวนน้อยๆ เท่านั้น ไม่ควรเชื่อว่าการกินแครอท เพื่อจะได้รับวิตามินเอจำนวนมาก จะช่วยให้สายตาดีขึ้นกว่าปกติ หรือเพื่อจะได้ไม่ต้องใส่แว่นสายตา ที่จริงแล้วการกินวิตามินเอ (ที่ทำเป็นยาเม็ด) จำนวนมากๆ อาจจะเป็นพิษ ความเชื่อเรื่องกินแครอทแล้วสายตาดี มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยนั้นวงการสืบราชการลับอังกฤษแกล้งปล่อยข่าว ให้ไปเข้าหูศัตรูในตอนที่กองทัพอากาศเยอรมัน โหมทิ้งระเบิดเกาะอังกฤษว่า การที่นักบินอังกฤษสามารถมองเห็น เครื่องบินเยอรมันในเวลากลางคืน เนื่องจากนักบินอังกฤษกินแครอทมาก ทำให้สายตาดี ทั้งนี้ เพื่อปกปิดความจริงที่ว่ากองทัพอังกฤษ สามารถสร้างระบบเรดาร์ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาได้ ทำให้เห็นเครื่องบินเยอรมันได้ดีขึ้น

    Q : สารต้านอนุมูลอิสระดีจริงหรือ ?     
          A : ปัจจุบันมีการพูดถึงทฤษฎีอนุมูลอิสระกันมาก อ้างว่าอนุมูลอิสระมีผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น สารต้านอนุมูลอิสระจึงมีผลดี ในการชะลอความแก่ ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันมะเร็ง ฯลฯ แต่เมื่อมีการผลิตยาเม็ดอนุมูลอิสระขึ้นมา และคนใช้มากขึ้นๆ ปรากฏว่าไม่ได้ผลดีดังหวัง มีการศึกษามากมายที่แสดงให้เห็นว่า มีคนกินสารเสริมต้านอนุมูลอิสระ ไม่ได้รับผลดีแต่ประการใด และบางการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การกินสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ การศึกษาของสถาบันมะเร็งสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1992 ต้องยุติลงก่อนกาลหลังจากนักวิจัยพบว่า คนที่กินสารต้านอนุมูลอิสระ เกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนกินยาหลอก จนถึงปัจจุบันนี้ทฤษฎีอนุมูลอิสระ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่

    Q : ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เพื่อสุขภาพ จำเป็นไหม ?     
         A : นักวิชาการหลายคนพูดถึงเขียนถึงกันมากว่า ควรกินน้ำวันละ 8 แก้วเพื่อสุขภาพ เนื่องจากน้ำเข้าไปล้างพิษในร่างกาย แต่ที่จริงแล้วไม่มีความจำเป็นอย่างนั้นเลย สำหรับคนบางคนการกินน้ำมากอย่างนั้น อาจจะมีผลเสีย เพราะดื่มน้ำเข้าไปมาก อาจจะไปทำให้เป็นพิษ ทำให้ระดับโซเดียมต่ำ เป็นอันตราย ในปี ค.ศ.2002 หมอผู้เชี่ยวชาญทางโรคไตได้พยายามอย่างมาก ในการค้นคว้าหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ เพื่อดูว่ามีข้อมูลสนับสนุน การดื่มน้ำวันละ 8 แก้วมีจริงหรือเปล่า และต้นตอของเรื่องนี้มันมาจากไหน แล้วตีพิมพ์บทความใน American Journal of Physiology ปรากฏว่า ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนความหลงผิดนี้เลย

          จริงอยู่แม้ว่าคณะอนุกรรมการโภชนาการ ของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา จะแนะนำว่า ร่างกายเราต้องการน้ำ 1 ลบ.ซม. ต่ออาหารที่เรากินเข้าไป 1 แคลอรี คนทั่วไป จึงต้องการน้ำประมาณ 10 แก้ว แต่น้ำส่วนใหญ่มีอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไปอยู่แล้ว ไม่ต้องไปดื่มเพิ่ม การหลงผิดดื่มน้ำมากเกินไป อาจจะเกิดปัญหา เช่น นักมวยดื่มน้ำมาก กระเพาะปัสสาวะป่องขณะต่อย เขาไม่อนุญาตให้ไปเข้าห้องน้ำระหว่างยกเหมือนนักเทนนิส นักมวยคนนั้นอาจจะเป็นอันตราย จากการถูกต่อยกระเพาะปัสสาวะแตกก็เป็นได้ ความหลงผิดเรื่องล้างพิษอาจจะมีพิษภัยมาก

    Q : ครีมกันแดดต้านมะเร็งได้ไหม ?   
        A : ครีมกันแดดส่วนมาก ต้านมะเร็งไม่ได้ผลดี เนื่องจากใช้กันผิดๆ หมอฟรานซิสกา ฟุสโก โฆษกของมูลนิธิโรคมะเร็งผิวหนังสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าคนส่วนมากใช้ครีมกันแดดไม่มากพอ ใช้ไม่สม่ำเสมอ ไม่ได้ใช้ตั้งแต่อายุน้อย และไม่ได้ใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เขาแนะนำว่าควรใช้ครีมใต้เมคอัพ ควรทาให้ทั่วตัว ควรทาในร่มผ้าด้วย และควรรอเวลาประมาณ 30 นาทีหลังทาก่อนจะไปโดนแดด ควรใช้ครีมชนิดที่สาร mexoryl ซึ่งป้องกันทั้งรังสีอัลตราไวโอเล็ตชนิด บี และ เอ (UV B และ UV A) ครีมส่วนใหญ่ที่ใช้ๆ กันป้องกันได้แต่อัลตราไวโอเล็ตชนิดบี แต่ชนิดเอก็อันตรายเช่นกัน โดยที่ไม่ทำให้ผิวไหม้แดด คนทั่วไปจึงไม่รู้ เขาว่าถ้าจะใช้ครีมกันแดดป้องกันมะเร็ง ต้องใช้ให้ถูกนะครับ

    Q : อาหารเสริม “สมุนไพรธรรมชาติ”     
         A : บริษัทผลิตสารเสริมอาหารทั้งในไทยและเทศ ชอบโฆษณาว่า อาหารเสริมของเขาเป็น “สมุนไพร” หรือ “ธรรมชาติ” นัยว่าเป็นสิ่งที่ปลอดภัยและมีประโยชน์สูง คนส่วนมากก็เชื่อผิดๆ อย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่เป็นสมุนไพรหรือธรรมชาติ อาจจะมีอันตรายมาก เครือข่ายสุขภาพแห่งชาติของแคนาดา ได้รณรงค์ให้การศึกษาแก่ประชาชนของเขาในเรื่องนี้ เขาสอนว่าสารธรรมชาติบางอย่าง อาจจะเป็นพิษถ้าบริโภคมากไป บางอย่างอาจจะทำให้แพ้ บางอย่างอาจจะเข้าไปมีปฏิกิริยา กับยาที่กินอยู่ทำให้เกิดผลเสีย บางอย่างอาจจะมีผลเสีย เช่น ต่อคนตั้งครรภ์ หรือคนที่เป็นโรคหัวใจ ฉลากข้างกล่องบรรจุภัณฑ์สารเสริมอาหาร ได้รับการตรวจสอบ แต่ที่สหรัฐฯ ไม่ได้ตรวจสอบเข้มงวด คิดว่าในเมืองไทยก็คงจะไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการตรวจสอบ เนื่องจากไม่ใช่ยาจึงไม่เข้มงวดมาก ผู้บริโภคก็คงต้องตัวใครตัวมัน ว่างั้นเถอะ!

ที่มา: HealthToday


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)