เรียกว่าเป็น “ทุกขลาภ” ของแท้สำหรับ “ไมร่า มณีภัสสร มอลลอย” แชมป์จากเวที Thailand's Got Talent ครั้งที่ 1 ซึ่งเพิ่งรับรางวัลไปหมาดๆ เพราะหลังจากที่เสียงโหวตจากทั่วประเทศเทไปให้เธอ ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาว่าเด็กอายุ 13 คนนี้ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ชนะ เพราะไม่มีเรื่องราวหรือสตอรี่ที่สะกดให้ผู้ชมรู้สึก ”อิน” ไปกับเธอ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรายการ Got Talent ของคนไทยเช่นนี้คงจะโทษใครไม่ได้ หากไม่ใช่บริษัทเวิร์คพอยท์ที่นำรายการแข่งขันประกวดความสามารถมาทำให้กลายเป็นละครก่อนข่าวเรื่องหนึ่งไปแล้ว
เวิร์คพอยท์ “บิด” จนเป็นละครก่อนข่าว
ตามธรรมเนียมของรายการ Got Talent โดยเฉพาะในประเทศต้นตำรับอย่างอังกฤษและประเทศใหญ่ๆ ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตอย่างอเมริกา หรือจีน จะให้น้ำหนักความสำคัญกับความสามารถหรือพรสวรรค์ซึ่งตรงกับชื่อและคอนเซ็ปต์ของรายการ ส่วนเรื่องราวดรามาของผู้เข้าแข่งขันแต่ละรายนั้นเป็นของแถมที่รองลงไป แต่กลับถูกบริษัทเวิร์คพอยท์ที่ถนัดในการสร้างสตรอรี่นำมาบิดมาแต่งจนกลายเป็นรายการที่เน้นสตอรี่ตั้งแต่รอบแรกๆ ที่ปรากฏสู่สายตาผู้ชมเลยทีเดียว
ผู้ชมชาวไทยที่ไม่คุ้นเคยกับรายการ Got Talent แบบต้นตำรับ เมื่อได้เห็นการนำเสนอเรื่องราวของผู้เข้าแข่งขันแบบเจาะเน้นตั้งแต่รอบแรกจึงเกิดอารมณ์ร่วมไปกับสตอรี่ของคนเหล่านั้น เราจึงเห็นคนมากมายส่งเสียงเชียร์ “สมศักดิ์” กีตาร์มือเดียวรวมไปถึง “อัจจ์” นักแซกโซโฟนที่ขึ้นมาร้องไห้โฮบนเวทีด้วยสตอรี่คว้าเงินรางวัลรักษาแม่ที่ป่วย หรือ “น้องเฟิร์ส” เด็กสาวที่พรีเซ็นต์ตัวเองว่าเป็นคนบ้านนอกคอกนาที่เชยเฉิ่มแต่ทำเซอร์ไพรส์ผู้ชมด้วยการขึ้นมาตะเบ็งลำคอร้องเพลงด้วยเสียงทุ้มใหญ่ และผู้เข้าแข่งขันอีกมากมายที่พยายามเน้นสตอรี่ของตัวเอง(ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง) ให้โดดเด่นยิ่งกว่าจะนำความสามารถหรือพรสวรรค์มาขายให้สมกับชื่อรายการ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับรายการ Got Talent แบบไทยๆ ก็คือ เมื่อเวิร์คพอยท์ซึ่งเก่งกาจในเรื่องการทำรายการขายสตรอรี่ “จงใจ” เริ่มต้นรายการนี้ในลักษณะขายสตอรี่เป็นหลักซึ่งสอดรับกับผู้ชมจอตู้ในสังคมไทยที่นิยมเสพดรามาด้วยแล้ว ผู้ผลิตกับผู้ชมจึงหนุนรับกันไปโดยปริยาย ฝ่ายหนึ่งผลิตรายการขายสตอรี่เป็นหลักความสามารถเป็นรอง อีกฝ่ายหนึ่งก็บริโภครายการนั้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวของผู้แข่งขันมากกว่าที่จะมาดูกันที่ความสามารถหรือพรสวรรค์เป็นลำดับแรก สิ่งนี้แทรกซึมลงไปในจิตใจของผู้ชมชาวไทยมาโดยตลอดนับตั้งแต่วันแรกที่รายการ Thailand's Got Talent ออกอากาศ
ถึงตอนนี้ แทบจะกล่าวได้ว่า Thailand's Got Talent คือละครก่อนข่าวอีกหนึ่งเรื่องที่มีตัวเอกเป็นผู้เข้าแข่งขัน ตัวเอกแต่ละคนมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง บางคนเศร้าซึ้งเรียกน้ำตา บางคนถึงจะประสบเคราะห์กรรมแต่ก็ยืนหยัดลุกขึ้นสู้ชีวิตสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ชมทั่วประเทศ บางคนสร้างความประหลาดใจให้ผู้ชมด้วยการโผล่ออกมาในฐานะเด็กบ้านนอกธรรมดาๆ แต่กลับมีความสามารถในระดับศิลปินระดับโลก ตัวละครเหล่านี้เป็นคนธรรมดาที่ไม่ใช่ดาราหน้าตาดี สิ่งนี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกรักและรู้สึกร่วมไปกับตัวละครที่เปรียบเสมือนตัวแทนความเป็นคนธรรมดาของพวกเขามากยิ่งขึ้น อีกทั้งความน่าเชื่อถือได้พังทลายลงทันที เมื่อมีการจับได้ว่า รายการดังกล่าวมีการนำ “เบลล์” นันทิตา เข้ามาถ่ายซ่อมเพื่อดันเข้ารอบ สตอรี่ต่างๆมากมายเหล่านั้นนี่เองที่ “ไมร่า มณีภัสสร” ผู้ชนะบนเวที Thailand's Got Talent ไม่มี
ไม่เคยขายสตอรี่
“ไมร่า” ปรากฏตัวบนเวที Thailand's Got Talent ในฐานะเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปีที่เดินตามความฝันนั่นคือการอยากเป็นนักร้อง เธอมาจากครอบครัวที่อบอุ่น หลังจากที่เอ่ยปากบอกพ่อกับแม่ว่าเธออยากเป็นนักร้องโดยเฉพาะเพลงแนวโอเปรา ผู้ให้กำเนิดทั้งสองก็สนับสนุนผลักดันพาเธอไปเรียนร้องเพลงและเดินสายพาเธอไปประกวดเวทีต่างๆ มาโดยตลอด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไมร่าและครอบครัวไม่เคยปิดบัง ปฏิเสธหรือบิดเบือนมาตั้งแต่แรก
และนั่นก็ทำให้เธอมีภาพปรากฏออกจอโทรทัศน์เพียงไม่กี่วินาทีในการแข่งขันรอบแรก ผู้ชมทางบ้านที่กำลังอินไปกับเรื่องของสมศักดิ์ กีตาร์มือเดียว ,ทึ่งตะลึงไปกับพลังเสียงของน้องเฟิร์ส, เสียน้ำตาให้แก่อัจจ์ กัลยาณคุปต์ และอ้าปากค้างไปกับการร้องเพลงสองเสียงของเบลล์ นันทิตา แทบไม่มีใครรู้จักหรือเคยเห็น ไมร่า มณีภัสสร เลย ด้วยเหตุผลเดียวนั่นคือเธอไม่มีสตอรี่ที่รายการจะนำมา ”ขาย” เรียกความสนใจและเรตติ้งจากผู้ชมได้นั่นเอง
ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของไมร่าพิสูจน์ได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เธอก้าวขึ้นไปแสดงความสามารถบนเวที เธอตั้งใจโชว์พรสวรรค์นั่นคือการร้องเพลงแนวโอเปรามาโดยตลอด แม้ว่าการร้องเพลงในลักษณะนี้จะไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทย ซึ่งนั่นก็หมายความว่าผู้ชมทางบ้านจำนวนไม่น้อยจะไม่ ”เข้าใจ” ว่าความสามารถที่เธอนำมาแสดงนั้นยอดเยี่ยมหรือไม่
กลุ่มผู้ฟังเพลงแนวคลาสสิกโอเปราและการร้องเพลงบรอดเวย์ในบ้านเรามีจำนวนเพียงแค่หยิบมือ หากเทียบกับผู้ที่ฟังเพลงแนวป็อป หรือแนวอื่นๆ นั้นก็แทบจะเรียกได้ว่ามองไม่เห็น แต่ไมร่ากลับเลือกที่จะมุ่งมั่นขายความสามารถที่เธอถนัดและรักมากที่สุด โดยแทบจะไม่นำเพลงไทย เพลงสากลที่ฮิตติดตลาดมาขับร้องเพื่อเรียกคะแนน ทั้งๆ ที่เธอสามารถร้องเพลงประเภทนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้เธอเคยตระเวนเดินสายร้องเพลงสากลบนเวทีอื่นๆ มาแล้วหลายครั้ง การเลือกที่จะนำแต่เพลงโอเปรามาร้องก็เป็นการยืนยันได้ว่าเธอมาเพื่อขายความสามารถล้วนๆ จริงๆ
และหากหยิบเอาสตอรี่หรือดรามาของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนออกไปกองไว้ที่อื่น แล้วพิจารณากันที่พรสวรรค์และความสามารถล้วนๆ แล้ว ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด สมควรวิเคราะห์ว่า Talent ของไมร่ากับ Talent ของผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ดีเยี่ยมมากน้อยแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
เสียงคือพรสวรรค์
เมื่อวางอคติทั้งหลายลงไปแล้วพิจารณากันแค่เพียงความสามารถกับพรสวรรค์ คนฟังเพลงหลายคนลงความเห็นว่าไมร่ามีแก้วเสียงที่ใสแบบธรรมชาติ เสียงกังวาน มีเรนจ์เสียงที่กว้าง ไม่มีการดัดเสียง ปั้นเสียงให้กลายเป็นเสียงผู้ใหญ่เหมือนที่เด็กหลายคนชอบทำ และร้องเพลงแบบโอเปราออกมาได้อย่างงดงามน่าฟัง ซึ่งแก้วเสียงของไมร่านี่เองที่อาจจะถือได้ว่าคือพรสวรรค์ของเธอ
Helena Rows, Alice Gilbert, John Walton, Jane Summers และ Katherine Bradley ซึ่งเป็นคณาจารย์ชาวต่างชาติที่ทำหน้าที่สอนการร้องเพลงแบบโอเปราในต่างแดนได้มีโอกาสชมคลิปวิดีโอการประกวดของเธอแล้วก็ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าเธอมีพรสวรรค์ที่จะเป็นนักร้องโอเปราที่ดีในอนาคตหากได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมเธอน่าจะไปได้ไกลกว่านี้อย่างแน่นอน
อาจารย์หลายท่านในกลุ่มนี้แสดงความรู้สึกประหลาดใจเล็กน้อยที่เสียงร้องนั้นออกมาจากปากของเด็กผู้หญิงชาวไทย เพราะการร้องเพลงในแบบโอเปรายังไม่เป็นที่นิยมในเอเชีย หากเป็นการร้องจากเด็กที่อยู่ในทวีปยุโรปหรืออเมริกาซึ่งมีบุคลากรอยู่มากมายที่สามารถฝึกฝนให้เด็กอายุน้อยๆ ขับร้องโอเปราได้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจนัก
นอกจากผู้เชี่ยวชาญช่ำชองในแวดวงการร้องเพลงคลาสสิกโอเปราที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์เสียงร้องของไมร่าด้วยหลักวิชาการได้แล้ว คนธรรมดาทั่วไปที่ได้ฟังเสียงร้องของไมร่าก็รู้สึกได้ถึงความไพเราะในแก้วเสียงของเธอ ถึงแม้จะไม่ใช่คนที่เสพดนตรีคลาสสิกอยู่เป็นประจำก็ยังสามารถที่จะดื่มด่ำแก้วเสียงใสๆ และเนื้อเสียงที่กังวานของเธอได้ เพราะถึงจะ “ไม่เข้าใจ” หรือเข้าไม่ถึงเพลงในแนวคลาสสิกแต่ขึ้นชื่อว่าดนตรีและเสียงเพลงนั้นคงไม่มีกำแพงใดๆมาขวางกั้นอยู่แล้ว
ผิดหรือที่หนูชนะ?
สมศักดิ์ เหมรัญ และทีมคิดบวกสิบที่ผ่านเข้ารอบมากับไมร่าเป็นผู้แข่งขันที่ถือว่าสมน้ำสมเนื้อมากทีเดียว เพราะคนหนึ่งสามารถเล่นกีตาร์ได้ไพเราะน่าฟังทั้งๆ ที่ใช้แค่มือเดียว ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มนั้นก็เล่นกับเงาได้อย่างสวยงามถือว่าเป็นทีมเวิร์กที่ฝึกซ้อมกันมาเป็นอย่างดี
แต่แล้วผลโหวตจากคนดูทั่วประเทศก็เลือกให้ไมร่าเป็นผู้ชนะบนเวทีแห่งนั้น
หลังการประกาศผล เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาก็ถาโถมเข้าไปหาเด็กผู้หญิงอายุ 13 คนนี้ชนิดตั้งรับแทบไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าความสามารถของเธอมีเพียงพอแล้วหรือที่จะเป็นผู้ชนะ , การร้องเพลงเป็นเรื่องพื้นฐานเหมือนเวทีอื่นๆ ไม่ใช่พรสวรรค์แปลกใหม่อะไร, เธอเป็นลูกคนรวยที่มีเงินมากพอที่จะทุ่มโหวตให้, เธอเซ็นสัญญาในสังกัด Sony Music ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รายการนี้อยู่แล้ว
แต่ทั้งหลายทั้งปวงของเสียงคัดค้านต่อต้านชัยชนะของเธอในครั้งนี้ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากความรู้สึกของผู้ชมที่อินกับสตอรี่ของสมศักดิ์และทีมคิดบวกสิบมากกว่า
เพราะเมื่อเทียบกับอีกสองทีมที่ผ่านเข้ามายืนในรอบท้ายๆ ก็ถือว่าไมร่าเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่มีสตอรี่ใดพ่วงติดมาด้วยเลย ในขณะที่สมศักดิ์ชัดเจนมาตั้งแต่รอบแรก เรื่องของเขา โชว์ของเขาได้รับการโปรโมตชนิดเต็มเวลาตั้งแต่การแข่งขันในรอบคัดเลือก หลายคนนำคลิปการแสดงของเขาไปโพสต์ในเฟซบุ๊กพร้อมข้อความว่าได้กำลังใจในการต่อสู้กับชีวิตจากสมศักดิ์ เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ทำให้การเล่นกีตาร์ด้วยมือเดียวของสมศักดิ์กลายเป็นความสามารถที่ยอดเยี่ยมไปโดยปริยาย
แต่ทว่าในความเป็นจริงบนโลกใบนี้มีคนที่สามารถเล่นกีตาร์ด้วยมือข้างเดียวอยู่มากมาย หากนำคำว่า One Hand Guitar ไปเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตก็จะพบว่าในต่างประเทศมีนักเล่นกีตาร์มือเดียวอยู่มากมาย ซึ่งเมื่อได้เห็นฝีมือของนักกีตาร์มือเดียวเหล่านั้นก็จะรู้ว่าฝีมือของสมศักดิ์ยังอยู่ในระดับที่เรียกว่าต้องฝึกฝนอีกเยอะเลยทีเดียว
ส่วนทีมคิดบวกสิบที่นำการเล่นกับเงามาโชว์นั้นก็เป็นการแสดงที่มีแพร่หลายในต่างประเทศ แต่พวกเขายึดสตอรี่ที่เล่นกับความเป็นไทยและสถาบันเป็นจุดขายมาโดยตลอด เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ชมคนไทยมีความรู้สึกร่วมได้ง่าย และเป็นธรรมดาว่าเมื่อเกิดความรู้สึกร่วมไปแล้ว ความสามารถจะมากหรือน้อยขนาดไหนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ชมจะนำมาขบคิดสักเท่าไหร่
และเมื่อวัดกันที่ความแปลกใหม่ก็ต้องยอมรับว่าการแสดงของทั้งสมศักดิ์ ทีมคิดบวกสิบและไมร่าไม่ใช่ความสามารถหรือพรสวรรค์ที่แปลกใหม่แต่อย่างใด ทุกการแสดงของทั้งสามทีมเป็นสิ่งที่มีคนทำกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วทั่วโลก เพียงแต่ว่าโชว์ของใครจะยอดเยี่ยมกว่ากันเท่านั้นเอง
การที่ผู้ชนะเป็นนักร้องไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องแปลกสำหรับเวที Got Talent เพราะรายการ Got Talent ในประเทศอื่นๆ ก็มีผู้ชนะที่ใช้การร้องเพลงเป็น Talent อยู่มากมาย และการที่ผู้ชนะไม่ใช่ทีมที่มีสตอรี่โดดเด่นอยู่ในความสนใจของผู้ชมก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เช่นกัน เพราะในการแข่งขัน Britain's Got Talent เมื่อปี 2009 เรื่องราวของ “ซูซาน บอยล์” ก็เป็นที่สนใจของผู้ชมทั่วโลก แต่เมื่อถึงเวลาประกาศผล ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศกลับเป็นทีมเต้น Diversity ที่ไม่มีสตอรี่ใดๆมาขายเลย
น้ำหนักในเรื่องความสามารถและสตอรี่ยังคงคลุมเครือและไม่ชัดเจนพอที่จะค้านผลการประกวด แต่หลังจากที่เธอกลายเป็นผู้ชนะไม่นานก็มีคนขุดคุ้ยประวัติของไมร่าขึ้นมาโจมตีเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าเธอเคยเซ็นสัญญากับค่าย Sony Music ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของรายการนี้ , ครอบครัวของเธอร่ำรวยจึงมีเงินทุ่มโหวตให้เธอ
พร้อมเคลียร์ทุกข้อกล่าวหา
ถึงนาทีนี้ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรก็ตาม แต่ผลที่ออกมาก็คือผู้ชนะเวทีประกวด Thailand's Got Talent ครั้งที่หนึ่ง ก็คือ ไมร่า มณีภัสสร มอลลอย ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนเป็นทีมอื่นได้ ซึ่งตำแหน่งชนะเลิศในครั้งนี้ก็แลกมาด้วยเสียงครหามากมายที่ไมร่าบอกว่าเธอสามารถที่จะ ”ตอบได้ทุกข้อกล่าวหาที่หลายคนข้องใจ”
ก่อนหน้าที่จะมาลงประกวดบนเวที Thailand's Got Talent ไมร่าเคยเดินสายประกวดร้องเพลงมาแล้วหลายที่ เคยได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมาจากเวทีของสถาบันมีฟ้า ได้รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและยังตระเวนไปร้องเพลงโชว์ที่ห้างเซ็นทรัลกับเอ็มโพเรียมอยู่เป็นประจำ คนในแวดวงเพลงคลาสสิกและโอเปราส่วนใหญ่จึงคุ้นเคยกับเสียงของไมร่าและไม่แปลกใจที่เธอจะได้เป็นผู้ชนะ
ในช่วงที่อายุเพียงสิบปี ความสามารถของเธอก็ไปเข้าตาผู้บริหารของค่าย Sony Music ถึงขั้นพาเธอไปเซ็นสัญญาเข้าสังกัด ซึ่งก็ทำให้เธอเป็นนักร้องฝึกหัดของโซนี่ มีโอกาสเรียนร้องเพลงเพิ่มเติมและมีแพลนว่าจะได้ทำอัลบั้มร่วมกับนักร้องอีกสี่คน แต่แล้วที่สุดโปรเจกต์ดังกล่าวก็ล้มเลิกไป และตอนที่เธอลงประกวดเวทีนี้ก็หมดสัญญากับโซนี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก็คือวัฒนธรรมการชมรายการ Thailand 's Got Talent อาจแตกต่างจากการแข่งขันเวทีอื่นๆ อยู่บ้างพอสมควร เนื่องจากผู้ชมรายการที่รู้สึกอิน ที่ติดตามและเชียร์ผู้เข้าแข่งขันที่มีสตอรี่ส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มคนที่จะลงคะแนนโหวต ผู้ที่โหวตส่วนใหญ่คือคนในครอบครัว ญาติ คนรู้จัก และผู้ที่ชื่นชอบความสามารถของผู้แข่งขันจริงๆ มากกว่า
เป็นที่มาของวัฒนธรรม “ผู้ชมไม่ได้โหวต ผู้โหวตไม่ได้ชม” ที่ทำให้ผลการแข่งขันออกมาค้านสายตาของผู้ชมที่กำลังอินกับสตอรี่ของตัวเอกเหล่านั้นที่รู้สึกว่าตอนจบของละครเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าเพราะบ้านรวยจึงทำให้เธอมีผลโหวตถล่มทลายนั้น คุณแม่อัมพร มอลลอย คุณแม่ของไมร่าบอกว่าครอบครัวของเธอกับญาติๆ ช่วยกันโหวตไมร่าตามกำลังทรัพย์ที่เธอเห็นว่าจะสนับสนุนลูกสาวของเธอให้ทำตามฝันได้ แต่ไม่ใช่การทุ่มเงินจำนวนสิบล้านเพื่อโหวตให้แก่ลูกสาวตามที่มีคนกล่าวหาอย่างแน่นอน
“เราก็โหวตเท่าที่พลังแม่คนนึงโหวตให้ได้ ไม่มากมายหรอก ถ้าโหวตเป็นสิบๆ ล้าน เราเก็บเงินไว้ให้ลูกเรียน เก็บไว้สร้างบ้านไม่ดีหรือ ถามจริงๆ ต้องโหวตกี่สิบล้านถึงจะชนะคนทั้งประเทศได้”
พลังโหวตจากครอบครัวที่พอมีฐานะ เมื่อบวกรวมกับกลุ่มคนรู้จักและชื่นชอบในพลังเสียงของไมร่าจึงทำให้คะแนนของเธอมีมากเกินสมศักดิ์และคว้าตำแหน่งผู้ชนะมาครอง ซึ่งหลายคนก็วิเคราะห์ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มคนเชียร์ไมร่าจะมีกำลังทรัพย์ในการโหวตที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากกลุ่มคนฟังเพลงโอเปรา ฟังเพลงคลาสสิก เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะค่อนข้างดี การที่จะมีกำลังทรัพย์โหวตไมร่าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดกฎการแข่งขันแต่อย่างใด
ท้ายที่สุดการออกมาเคลียร์ทุกข้อกล่าวหาแบบตรงไปตรงมาของไมร่าก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้ชนะอย่างเธอจะทำได้ เพราะถึงอย่างไรท้ายที่สุดผู้ชมที่ไม่เห็นด้วยกับผลการแข่งขันก็คงจะยังไม่ยอมรับแชมป์ที่ชื่อไมร่าอยู่ดี เพราะคนเราก็มักจะหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตัวเองเสมอ ตราบใดที่ยังรังเกียจคนรวย เสพติดสตอรี่ และไม่ยอมละวางอคติ “ไมร่า” ก็คงจะต้องเป็นแชมป์ Thailand's Got Talent ที่เหน็ดเหนื่อยเพราะดันชนะการประกวดเวทีที่มีชื่อสากล(ซึ่งไมร่าเองบอกตั้งแต่ต้นว่าเวทีนี้มีมาตรฐานสากล)แต่ดันมาตกอยู่ในการปั่นกระแสรายการในฉบับของเวิร์คพอยท์และวัฒนธรรมการตัดสินคนแบบพี่ไทย ก็คงต้องทำใจนะจ๊ะ...น้องเอ๋ย
...............................................
ที่มา นิตยสาร ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 87 วันที่ 4-10 มิถุนายน 2554
ที่มา: manager.co.th