Author Topic: ช่องว่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์!! แท้จริงปกป้องหรือคุกคาม? โดย...ปิยนุช ไชยสุวรรณ  (Read 1383 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

          ด้วยพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นตามกระทู้หรือเว็บบอร์ดมากขึ้น แต่อย่างไรทุกสิ่งย่อมมีสองด้านเสมอ อินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน ถึงแม้ในด้านบวกจะมีประโยชน์กับผู้ใช้แต่ทางตรงกันข้ามหากขาดการควบคุม ผลพวงที่ตามมาก็สามารถสร้างความเสียหายได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีการตราพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต  ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายต่างให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในมุมมองที่แตกต่าง
อังสุมาล ศุนาลัย รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ให้ความเห็นว่าโลกไซเบอร์สเปซ มีการส่งผ่านข้อมูลและทำธุรกรรมค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับการดำเนินการต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวข้อมูล หรือการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยทุกคนต้องแสดงตัวบุคคลว่าเป็นใคร ซึ่งเวลาแสดงความคิดเห็นก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

สำหรับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์นั้นเกิดขึ้น เพื่อปกป้องการเข้าถึงข้อมูลโดยวิธีการที่มิชอบผ่านเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การให้ข้อมูลใส่ร้ายบุคคลอื่น ให้ข้อมูลเพื่อเอาทรัพย์สินคนอื่นมา หรือเจตนาล่อลวง  ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้รับผลกระทบ ซึ่งอำนาจของไอซีทีไม่ได้มีทุกอย่างแต่ต้องขอคำสั่งศาล บล็อกหน้ายูอาร์แอลที่มีปัญหา เพื่อปกป้องผู้ที่เสียหาย ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้มองภาพของอินเทอร์เน็ตในแง่ลบ เราพยายามให้เห็นว่าต้องสร้างสิ่งที่เป็นเนื้อหาดีๆ เข้ามา ซึ่งในขณะนี้ทางกระทรวงฯเร่งรัดดำเนินการสร้างธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต เพื่อลดช่องว่างของการซื้อขายลง เพราะฉะนั้นการสร้างความเชื่อถือในระบบมีความจำเป็นอย่างยิ่ง 

สำหรับ พ.ต.อ. พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองผู้บังคับการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ชี้แจงว่า เดิมมีกฎหมายอาญา รวมทั้ง พ.ร.บ. อื่นๆ ที่มีโทษอาญา เพื่อควบคุมการกระทำความผิดต่างๆ ต่อมาเมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลาย มีวิทยาการอย่างรวดเร็ว การดำเนินการตามกฎหมาย เช่น การรวบรวมพยานหลักฐาน ควบคุม ดำเนินคดี ประสบปัญหา จึงตรา พ.ร.บ. เพื่อเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ควบคุมเก็บรวบรวมหลักฐาน การยึดวัตถุพยานหลักฐานทางดิจิตอลในระบบคอมพิวเตอร์ มาเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี

ส่วนในเรื่องการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จะมีตำรวจหน่วยต่างๆ สอดส่องดูแล หรือรับแจ้งจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะดูที่เนื้อหาเป็นหลัก จากนั้นส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการคู่ขนานกันไป ซึ่งความผิดที่เกิดในเว็บต่างๆ 99% เป็นความผิดอาญาอื่นๆ ซึ่งพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จะเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ก็มีการพัฒนาองค์ความรู้ในการสืบสวนสอบสวนคดีเทคโนโลยี เริ่มจากเพิ่มหลักสูตรการสอบสวนคดีเทคโนโลยีในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ส่วนพนักงานสืบสวนตาม สน. ต่างๆ ทั่วประเทศก็ได้ฝึกอบรมให้เข้าใจเรื่องการสอบสวนคดีเทคโนโลยีเป็นการเบื้องต้น ให้สามารถอำนวยความสะดวกและความยุติธรรมให้ประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับ ผศ.ดร พิรงรอง รามสูตร หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (Cyber Crime Convention) ของสภาแห่งยุโรป ซึ่งเป็นต้นแบบของกฎหมายที่ใช้ในระดับพหุภาคีในยุโรป โดยมีสาระคล้ายกับพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของไทย ซึ่งอนุสัญญาฯ ได้ตีความการกระทำความผิดต่อคอมพิวเตอร์เป็น 2 ส่วนคือ การกระทำความผิดต่อข้อมูลในคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ และการกระทำความผิดโดยมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการทำความผิด โดยสาระของอนุสัญญาฯเน้นไปที่ความผิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือมากกว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อข้อมูลหรือระบบในคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้พบว่าเนื้อหาในอนุสัญญาฯ มีการเพิ่มอำนาจให้รัฐสามารถสอดแนมและเฝ้าระวังทางข้อมูล พร้อมเพิ่มอำนาจในกระบวนการสอบสวนสืบสวนของอาชญากรรมอื่นที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ ซึ่งรัฐสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้เพื่อสืบสวนสอบสวนจับผิดกลุ่มผู้ที่เป็นเป้าหมาย จึงอาจทำให้มีการใช้กฎหมายในทางไม่ชอบ

สำหรับการขอให้ศาลออกคำสั่งเพื่อไปจับกุมหรือสืบสวนซึ่งมีระบุไว้ในอนุสัญญาฯ และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์นั้น ไม่แน่ใจว่ามีศาลไหนจะปฏิเสธคำร้อง เนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิคที่ซับซ้อน และในแง่สิทธิเสรีภาพ อนุสัญญาฯ ของยุโรป และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ไม่ได้พูดถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัย ผู้ใช้ หรือผู้ให้บริการ เนื่องจากเมื่อ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ออกมา ไม่มีพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขณะที่ในประเทศที่เซ็นอนุสัญญาฯ ของยุโรป มี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต  มีมุมมองต่อ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ว่าส่อไปในทางคุกคามมากกว่าปกป้อง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ที่พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์พยายามปกป้อง ซึ่งความต่างข้อหนึ่งของอนุสัญญาฯ ของสภาแห่งยุโรป กับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของไทย คือ อนุสัญญาฯ มีเป้าหมายป้องกันการเกิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ส่วนเรื่องเนื้อหาไม่ได้มีการกำกับ ยกเว้นการแพร่ภาพอนาจารเด็ก ต่างจากมาตรา 14 ของไทยซึ่งควบคุมกำกับดูแลเนื้อหาอย่างกว้างขวาง โดยอะไรที่เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงและก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชนก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจตีความได้ด้วยตัวเอง และดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยได้ ทำให้เกิดความไม่รัดกุมและอาจก่อให้เกิดการใช้ที่ไม่เป็นธรรมได้

ซึ่งปัญหาในการตีความข้อความในอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะโพสต์ข้อความที่ไม่เป็นทางการ หรือเป็นแสลง เปรียบเปรยเปรียบเทียบ ไม่มีหลักฐานอ้างอิงในเชิงข้อเท็จจริง แต่เป็นการแสดงความเห็นในสถานะนิรนาม เพราะฉะนั้นเห็นว่า หลายเรื่องไม่สามารถฟ้องด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้โดยตรง แต่ในขณะที่สังคมไทยเอาจริงเอาจังกับการแสดงความคิดเห็นแบบนี้มากจนนำมาสู่การจับกุมดังกล่าว เนื่องจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ  เปิดให้เจ้าหน้าที่ตีความ

             “อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อบังคับของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับนี้ได้ทำให้ธรรมชาติของสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยหายไป พลวัตถูกทำให้ชะงักชะงันด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากสื่ออินเทอร์เน็ตที่ต่างจากสื่ออื่น คือ ความเป็นนิรนาม ของผู้ที่ใช้ ซึ่งเกิดจากธรรมชาติของสื่อใหม่ เทคโนโลยีและวัฒนธรรมที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ” สุภิญญากล่าวทิ้งท้าย   


ที่มา: telecomjournal.net


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)