Author Topic: ยืนยัน ATM ไทยใช้ XP ไม่เสี่ยง  (Read 651 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


   ถามกันนักว่าสถานการณ์ไทยในยุคหลังไมโครซอฟท์หยุดสนับสนุนระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็กซ์พี (Windows XP) ตั้งแต่วันที่ 8เมษายน 2557 จะเป็นอย่างไร ล่าสุด “ชมรมธุรกิจตู้เอทีเอ็ม” ภายใต้สมาคมธนาคารไทยออกมายืนยันด้วยความมั่นใจว่า ตู้เอทีเอ็มไทยที่ใช้ XP จะไม่มีความเสี่ยงอย่างที่โลกกังวล
       
       สำหรับคำถามว่า ผู้บริโภคทั่วไปและองค์กรธุรกิจที่ยังใช้งานคอมพิวเตอร์ซึ่งระบบปฏิบัติการมีอายุมากกว่า 12 ปีจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงไหน ผู้คร่ำหวอดในวงการไอทีไทยหลายรายฟันธงว่าสถานการณ์ไทยหลังจากนี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ทิศทาง คือมีทั้งเรื่องเล็กน้อยที่เบาใจได้ และเรื่องใหญ่ที่ยังไม่ไร้ความกังวลเสียทีเดียว โดยก่อนจะฟันธงว่าใครสามารถสบายใจได้หรือใครที่ยังต้องกังวลในยุคหลังการอวสานของ Windows XP เราควรรู้ว่าในยุคทองของ Windows XP ผู้ใช้ได้รับอะไรจากไมโครซอฟท์บ้าง? และนับจากนี้ อะไรจะขาดหายไป?

       
       ***4 สิ่งที่จะหายไป
       
       หลังวันที่ 8 เมษายนนี้ ไมโครซอฟท์ระบุว่าจะหยุดอัปเดตระบบรักษาความปลอดภัย, ยกเลิกภารกิจซ่อมแซมระบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย, ยุติการให้บริการด้านเทคนิคทางโทรศัพท์ และไม่มีการอัปเดตข้อมูลด้านเทคนิคผ่านระบบออนไลน์สำหรับWindows XP อีกต่อไป ทั้งหมดนี้คือ 4 สิ่งที่ผู้ใช้ XP แบบลิขสิทธิ์แท้จะไม่ได้รับ หลังจากได้รับมาตลอด 12 ปีที่ไมโครซอฟท์ทำตลาด XP มา
       
       เมื่อ 4 สิ่งเหล่านี้ขาดหายไป ผู้ใช้ XP ลิขสิทธิ์แท้จะรู้สึกว่าคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ไร้การปกป้อง ความกังวลว่าจะตกเป็นเหยื่อถูกเจาะระบบทำให้ผู้ใช้มีทางออก 2 ทาง หนึ่งคืออัปเกรดไปใช้ระบบปฏิบัติการใหม่ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการซื้อโปรแกรมลิขสิทธิ์แท้ หรือซื้อโปรแกรมเถื่อนราคาถูก และสองคือการหาทางป้องกันตัวเอง ด้วยเทคนิคพื้นฐานหรือซอฟต์แวร์แอนติไวรัส เพื่อให้สามารถใช้งาน XP ต่อได้อย่างปลอดภัย
       
       ปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่ผู้จัดงานแฟร์ไอทีเจ้าตลาดในเมืองไทย “คอมมาร์ต” ชี้ว่ายังไม่เห็นพายุเงินสะพัดในตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะระบบปฏิบัติการใหม่ หรือตลาดแอนติไวรัสในงานคอมมาร์ตครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยในตลาดคอนซูเมอร์เชื่อว่าผู้บริโภคไทยส่วนน้อยมากที่เลือกอัปเกรดเฉพาะระบบปฏิบัติการ เพราะส่วนใหญ่ต้องซื้อเครื่องครบชุดเพื่อทดแทนเครื่องเก่า
       
       แต่ในตลาดคอร์ปอเรตหรือองค์กรธุรกิจ ปฐมเชื่อว่าองค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังชะลอการตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ไอที เพราะต้องการรอให้ XP หมดอายุอย่างชัดเจนในปีนี้ คาดว่าองค์กรธุรกิจจะเริ่มเทเงินซื้อคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการใหม่มากขึ้นชัดเจนในไตรมาส 2 ปี 2557 เนื่องจากคอมพิวเตอร์ในองค์กรไทยเกือบครึ่งยังไม่มีการอัปเกรดระบบปฏิบัติการเป็นวินโดวส์เซเวน (Windows 7) ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้งานกับฮาร์ดแวร์ XP ได้ดีที่สุด
       
       ทางด้าน รชฏ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจและการตลาดวินโดวส์และเซอร์เฟซ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลถึงปริมาณคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยที่ยังคงใช้ระบบปฏิบัติการ Windows XP ว่ายังเหลือที่มีการใช้งานและเรียกอัปเดตเข้ามายังเซิร์ฟเวอร์ของไมโครซอฟท์ราว 2.5 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากลูกค้าที่เป็นคอนซูเมอร์
       
       ในขณะของมุมลูกค้าองค์กรจะเหลืออยู่ราว 5-6 แสนเครื่องเท่านั้นที่ยังคงใช้ระบบปฏิบัติการ Windows XP แต่จะเป็นในรูปแบบของการดาวน์เกรดพีซีที่ซื้อพร้อมกับ Windows 7 ลงไปใช้งาน XP มากกว่า ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้งานระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่อยู่แล้ว


       ***ตลาดคอนซูเมอร์ไม่น่าห่วง
       
       ปฐมเชื่อว่าอวสาน XP จะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงให้กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปในไทยที่ยังใช้งาน XP อยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนกลุ่มนี้มีระดับการทำธุรกรรมออนไลน์น้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ทำธุรกรรมบนอุปกรณ์พกพา จุดนี้ทำให้มีโอกาสสูงมากที่นักโจรกรรมข้อมูลจะมองข้ามเค้กก้อนเล็ก เพื่อหันไปเสี่ยงดวงในตลาดที่มีเค้กก้อนใหญ่กว่ารออยู่
       
       “อย่าลืมว่า XP มีอายุมากกว่า 12 ปีแล้ว ช่วงเวลา 12 ปีที่แล้วเป็นช่วงที่คนไทยเรายังไม่มองเรื่องลิขสิทธิ์ ทำให้อัตราการละเมิดในตลาดคอนซูเมอร์ไทยตอนนั้นมีสูงมาก ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้อัปเดตความปลอดภัยอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่ากลุ่มผู้ใช้ XP ที่เหลือในปัจจุบันเกือบครึ่งไม่แคร์ว่าไมโครซอฟท์จะยังซัปพอร์ตอยู่หรือไม่ ส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้เชื่อว่าอยู่ในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ อาจเป็นโรงเรียน หน่วนงานรัฐ หรือฝ่ายไอทีของบริษัทเล็กๆ ในท้องถิ่น รวมถึงผู้ใช้ตามบ้าน ทั้งหมดนี้คือกลุ่มที่ทำธุรกรรมออนไลน์น้อยครั้ง ความเสี่ยงถูกขโมยข้อมูลด้านการเงินจึงน้อยตามไปด้วย”
       
       ปฐมตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้ปัจจุบันคนไทย 20% จะยังใช้งานอินเทอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows XP (คิดเป็นจำนวนราว 3-4 ล้านเครื่อง) แต่ร้านค้าในขณะนี้สามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตสูงกว่านั้นมากนัก จุดนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากกว่ายุคอวสาน XP เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัวและหาทางป้องกันตัวเองจากภัยร้ายที่อาจแฝงเข้ามาทางอุปกรณ์พกพาเหล่านี้ ซึ่งถูกใช้เข้าสู่อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก
       
       “วันนี้แฮกเกอร์ไม่มองที่พีซีแล้ว แต่มองไปที่สมาร์ทดีไวซ์ เพราะมันคืออุปกรณ์ที่คนใช้ออนไลน์มากที่สุด สิ่งที่แฮกเกอร์จะเจาะเพื่อขโมยข้อมูลธุรกรรมออนไลน์คือรหัส OTP ที่ผู้ใช้จะได้รับผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อใช้งานครั้งเดียว จุดนี้คิดว่าเป้าหมายใหญ่ของแฮกเกอร์วันนี้คือสมาร์ทโฟนมากกว่า ที่ XP น่าจะน้อยมาก”


     ***แบงก์ไทยยันเอทีเอ็มไม่เสี่ยง
       
       หนึ่งในจุดที่โลกกังวลที่สุดในยุคหลังไมโครซอฟท์หยุดสนับสนุน Windows XP ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2014 คือตู้เอทีเอ็ม ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ประเด็นร้อนแรงขณะนี้คือตู้เอทีเอ็มทั่วโลกมากกว่า 95% ยังเป็น XP การหยุดซัปพอร์ตของไมโครซอฟท์เท่ากับเป็นการเปิดประตูรอแฮกเกอร์ ล่าสุดมีข่าวว่าธนาคารอังกฤษและสหรัฐฯ รวมตัวกันเจรจาพร้อมจ่ายเงินให้ไมโครซอฟท์ช่วยซัปพอร์ต XP เวอร์ชันเพื่อ ATM ออกไปอีก 1 ปี ขณะที่ธนาคารจีนเลือกดำเนินการเพิ่มความปลอดภัยด้วยการมอบหมายให้บริษัทในประเทศเป็นผู้ดูแลความเสี่ยงใน XP โดยไม่คิดจะพึ่งพาไมโครซอฟท์
       
       แต่ก็มีบางธนาคารยอมอัปเกรดระบบปฏิบัติตู้เอทีเอ็มเป็น Windows 7 ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าราว 1 ใน 3 ของตู้ที่เคยเป็น XP
       
       ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช ที่ปรึกษาบริษัทไอทีและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อดีตรองผู้จัดการทั่วไป และผู้อำนวยการฝ่ายนิวมีเดีย บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ระบบปฏิบัติการ Windows XP บนตู้กดเงินสดเอทีเอ็มและบนคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปนั้นเป็นคนละเวอร์ชัน โดยเวอร์ชันสำหรับตู้เอทีเอ็มจะมีความซับซ้อนน้อยกว่า แต่ทั้ง 2 เวอร์ชันล้วนเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากช่องโหว่ที่เกิดขึ้นบนคอร์หรือแกนของ XP ทั้งหมดนี้ทำให้ทั่วโลกกังวลว่าระบบตู้เอทีเอ็มหลายหมื่นเครื่องทั่วโลกจะตกอยู่ในอันตราย
       
       “XP มีวงจรชีวิตที่ยาวนาน เราไม่รู้ว่าแฮกเกอร์เจาะระบบไปไกลถึงไหน เพราะฉะนั้นทุกธนาคารรู้ดีว่าต้องเปลี่ยนเครื่องหรืออุปกรณ์ที่เคยเป็น XP ขณะเดียวกัน งานหนักของไมโครซอฟท์นับจากนี้ก็คือเน้นให้ผู้ใช้ทราบความเสี่ยง แต่ก็ต้องผลักดันต่อว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ใช้ใช้งานต่อได้ จุดนี้ต้องมองว่าเป็นเกมการตลาดของคู่แข่งไมโครซอฟท์ด้วย ที่พยายามออกมายืดอกรับประกันว่าพร้อมซัปพอร์ต XP นานกว่าไมโครซอฟท์ เพื่อเป็นการสกัดไมโครซอฟท์ทางอ้อม”
       
       ทั้งหมดนี้ ขจรวุฒิ ตยานุกรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีดีกรีเป็นประธานชมรมธุรกิจตู้เอทีเอ็ม ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ให้ข้อมูลความคืบหน้าเรื่องการอัปเกรดระบบตู้เอทีเอ็มของธนาคารไทยว่าไม่ได้มีการรวมตัวเจรจากับไมโครซอฟท์เหมือนสถาบันการเงินในต่างประเทศ เนื่องจากเชื่อมั่นว่าระบบตู้เอทีเอ็มระบบปฏิบัติการ Windows XP ยังใช้บริการต่อไปได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากโปรแกรมควบคุมตู้เอทีเอ็มนั้นใช้คุณสมบัติพื้นฐานจากระบบปฏิบัติการ Windows XP เท่านั้น ทำให้มีช่องโหว่ความเสี่ยงน้อยมาก ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตตู้เอทีเอ็มก็มีการปิดกั้นช่องโหว่ในจุดต่างๆ จนมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยในระดับสูง
       
       “2 ประเด็นที่ตู้เอทีเอ็มไทยจะได้รับผลกระทบจากการหยุดสนับสนุน XP ของไมโครซอฟท์ คือ หากธนาคารต้องการเพิ่มคุณสมบัติหรืออุปกรณ์เสริมใหม่ให้ตู้เอทีเอ็ม XP เพิ่มเติมจะไม่สามารถทำได้ ประเด็นที่ 2 คือเรื่องแอนติไวรัส จุดนี้ถือว่าธนาคารไทยค่อนข้างมั่นใจเพราะการติดตั้งระบบเอทีเอ็มของธนาคารนั้นถูกเรียกว่าเป็นระบบ Close Room ซึ่งไม่มีการติดต่อกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายนอกเลย ตรงนี้เรากำลังคุยกันว่าจะเพิ่มการป้องกันระบบอย่างการติดตั้งไฟร์วอลล์เพิ่มเพื่อทำ White List ซึ่งจะอนุญาตให้เครื่องรันโปรแกรมใดบ้าง จุดนี้ถ้าไวรัสหลงเข้ามาก็จะรันไม่ได้”
       
       ขจรวุฒิระบุว่าความร่วมมือเรื่องไฟร์วอลล์นี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการทยอยเจรจากับเวนเดอร์ผู้จำหน่ายตู้เอทีเอ็มให้ธนาคารไทย คาดว่าจะเริ่มมีการทยอยติดตั้งต่อเนื่องในอนาคต ขณะเดียวกัน สมาคมธนาคารไทยจะไม่มีการเจรจากับไมโครซอฟท์เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ไม่มีแผนขยายฟีเจอร์หรือคุณสมบัติอื่นของตู้เอทีเอ็ม (เช่นการสแกนลายนิ้วมือ เป็นต้น)
       
       ขจรวุฒิชี้ว่า ตู้เอทีเอ็มรุ่นใหม่ที่ติดตั้งในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556ล้วนเป็นตู้ระบบปฏิบัติการWindows 7เหตุที่เลือก7ไม่ใช่Windows 8หรือ8.1คือตู้เอทีเอ็มไม่จำเป็นต้องใช้งานระบบUIหรือส่วนติดต่อผู้ใช้ที่หวือหวา แต่จำเป็นต้องเลือกระบบที่มีความเสถียรและมั่นใจได้ ซึ่งWindows 7มีครบในจุดนี้มากกว่า


    ***กสิกรไทยจับเข่าคุยไมโครซอฟท์
       
       ดูเหมือนว่าธนาคารไทยจะพยายามสรรหาแนวทางแก้ปัญหาของตัวเอง โดยกสิกรไทยเลือกที่จะหันมาคุยกับไมโครซอฟท์เพื่อให้ขยายการซัปพอร์ต โดยธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ธนาคารกสิกรไทยได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรผู้จำหน่ายตู้เอทีเอ็มแก่ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีการทำข้อตกลงการให้บริการในระดับโลก (global service agreement) ร่วมกับไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เพื่อให้ไมโครซอฟท์สนับสนุนความปลอดภัยระบบปฏิบัติการ XP ในตู้เอทีเอ็มของธนาคารจนกว่าจะมีการอัปเกรดระบบตู้เอทีเอ็มครบทั้งหมด 9,107 เครื่อง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 2 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ
       
       นายรชฏกล่าวเสริมว่า ในมุมของไมโครซอฟท์ก็เร่งให้ความร่วมมือกับธนาคารในการเปลี่ยนผ่านจาก Windows XP ไปยังระบบปฏิบัติการรุ่นที่ใหม่กว่า เพราะด้วยข้อกำหนดบางอย่างของธนาคารที่มีระบุไว้ว่าต้องใช้อุปกรณ์ที่ยังมีการรองรับบริการหลังการขาย ทำให้กลายเป็นว่า XP กำลังจะผิดกับข้อกำหนดดังกล่าว
       
       “ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน ถ้าธนาคาร หรือเวนเดอร์ต้องการให้ไมโครซอฟท์เข้าไปช่วยซัปพอร์ต ทางไมโครซอฟท์ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพราะมีทีมงานที่คอยดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงถือว่าเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้”
       
       ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่เปิดการเจรจา เนื่องจากแหล่งข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ย้ำว่าผู้จำหน่ายตู้เอทีเอ็มให้ไทยพาณิชย์มีการพัฒนาโปรแกรมรักษาความปลอดภัย สำหรับตู้เอทีเอ็มที่ใช้ระบบปฏิบัติการ XP แล้ว ทำให้มีความมั่นใจว่าสามารถควบคุมไม่ให้เกิดช่องโหว่ในระบบได้ ขณะเดียวกัน ตู้เอทีเอ็มของไทยพาณิชย์ไม่ได้ถูกเชื่อมต่อกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายนอก ซึ่งถือเป็นอีกจุดแข็งที่ทำให้ผู้บริโภควางใจได้ในระดับหนึ่ง
       
       ไม่ว่าจะวางใจหรือหนักใจ ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์เก็บข้อมูลผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย “ทรูฮิตส์ (Truehits)” พบว่าแนวโน้มการใช้งาน XP ของคนไทยกำลังลดลงอย่างช้าๆ โดยระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ที่คนไทยใช้งานขณะท่องอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในขณะนี้คือ Windows 7 (สัดส่วนการใช้งาน 39.28%) รองลงมาคือ Windows XP (20.44%) ตามมาด้วย OS X (17.25%), Windows 8 (3.5%), Linux (5.32%), Windows Vista (0.45%) และ Windows 2000 (0%) ทั้งหมดนี้เป็นสถิติประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557
       
       Company Related Link :
       ไมโครซอฟท์

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)