Author Topic: “สมาร์ทโฟนจอโค้ง” แล้ว-ยัง-ไง  (Read 538 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46027
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


'แกแล็กซี่ ราวด์' สมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่ 5.7 นิ้วที่ซัมซุงเพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ต้องยอมรับว่าหนึ่งในหลายข่าวไอทีที่ฮือฮาในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2013 คือข่าวว่าแอปเปิล (Apple) กำลังขานรับร่วมวงผลิตไอโฟนที่ใช้ “หน้าจอโค้ง” ข่าวนี้ทำให้หลายคนเชื่อมโยงเข้ากับการเปิดตัวสมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งของค่ายเกาหลีอย่างซัมซุง (Samsung) และแอลจี (LG) จนเกิดเป็นคำถามว่าทั้ง 3 ค่ายนี้วางเดิมพันอะไรไว้กับสมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งกันแน่?
       
       
       และถ้าความโค้งมีค่าเพียงลูกเล่นการตลาดแสนธรรมดา ทำไมจึงมีข่าวว่าผู้ผลิตหลายค่ายเททรัพยากรมหาศาลเพื่อพัฒนาหน้าจอโค้งอย่างจริงจัง
       
       สิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่า เหตุที่เราผู้บริโภคต้องใส่ใจกับแนวโน้มตลาดสมาร์ทโฟนจอโค้ง คือเพราะสมาร์ทโฟนจอโค้งไม่ได้เป็นเรื่องราวไร้สาระที่ไม่มีวี่แววเกิดขึ้นในอนาคต ตรงกันข้าม สมาร์ทโฟนจอโค้งเริ่มวางตลาดแล้วในวันนี้ ทั้งการเปิดตัวสมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งรุ่นล่าสุด “แอลจี จี เฟล็กซ์ (LG G Flex)” ของแอลจี และ “กาแล็กซี ราวนด์ (Galaxy Round)” สมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่ 5.7 นิ้วที่ซัมซุงเพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
       
       ***จากซัมซุงสู่แอปเปิล
       
       ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) อ้างแหล่งข่าวไม่ระบุนามว่า แอปเปิลกำลังพัฒนาไอโฟนรุ่นใหม่ที่มีหน้าจอพร้อมกระจกทรงมนโค้ง รวมถึงเซ็นเซอร์สุดแจ่มที่สามารถตรวจจับระดับความหนักเบาในการกดที่ต่างกัน ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกแตะหน้าจอเบามือหรือออกแรงกดหนักขึ้นเพื่อทำงานต่างรูปแบบกัน
       
       รายงานจากแหล่งข่าวใกล้ชิดแอปเปิลระบุว่า ไอโฟนรุ่นถัดไปจะมาพร้อม 2 รุ่น 2 ขนาด ได้แก่ 4.7 นิ้ว และ 5.5 นิ้ว โดยทั้ง 2 รุ่นยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอน เบื้องต้นคาดว่าแอปเปิลจะสามารถวางจำหน่ายไอโฟนรุ่นใหม่ได้ในไตรมาส 3 ของปี 2014
       
       อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กชี้ว่าความโค้งของหน้าจอไอโฟนใหม่นั้นแตกต่างจากจอโค้งของสมาร์ทโฟนฝั่งเกาหลีทั้งซัมซุงและแอลจี เนื่องจากจะเป็นการโค้งมนเฉพาะขอบเครื่อง ไม่ใช่การโค้งทั้งเครื่องในแนวนอนหรือแนวตั้งจนทำให้ต้องมีการพัฒนาระบบวงจรภายในที่โค้งตามไปด้วย
       
       การระบุว่าความโค้งของหน้าจอไอโฟนใหม่จะแตกต่างจากจอโค้งของสมาร์ทโฟนฝั่งเกาหลีทั้งซัมซุงและแอลจี เกิดขึ้นจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งรุ่นล่าสุด “แอลจี จี เฟล็กซ์” ของแอลจี และ “กาแล็กซี ราวนด์” สมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่ 5.7 นิ้วที่ซัมซุงเพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ครั้งนั้นซัมซุงถูกยกให้เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายแรกของโลกที่สามารถเปิดตัวสมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งอย่างเป็นทางการ โดยซัมซุงจับมือกับเอสเคเทเลคอม (SK Telecom) ตั้งราคาจำหน่ายกาแล็กซี ราวนด์เครื่องเปล่าไว้ที่ 1,013 เหรียญสหรัฐ (ราว 32,000 บาท) ไม่เพียงหน้าจอที่โค้ง แต่ฝาหลังสมาร์ทโฟนกาแล็กซี ราวนด์ก็มีความโค้งในรัศมีเดียวกัน โดยความละเอียดหน้าจอสามารถแสดงภาพได้แบบ full high-definition ความละเอียดสูงไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไป
       
       ปลายเดือนตุลาคม แอลจีตัดสินใจเปิดตัวสมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งรุ่นล่าสุดอย่างแอลจี จี เฟล็กซ์ ด้วยการการันตีว่าสมาร์ทโฟนจอโค้งจะทำให้ผู้ใช้ถือจับเครื่องเพื่อแนบใบหูขณะโทรศัพท์ได้สบายกว่าเครื่องหน้าจอแบนเรียบ โดยหน้าจอขนาด 6 นิ้วที่โค้งงอจะทำให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ชมวิดีโอที่แปลกใหม่กว่าหน้าจอปกติ ขณะเดียวกัน แอลจียังใช้แบตเตอรี่ที่โค้งงอได้กับสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ด้วย เรียกว่าเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอุปกรณ์หรือฟอร์มแฟกเตอร์ของสมาร์ทโฟนที่น่าจับตา แม้แผงวงจรและส่วนประกอบอื่นภายในจี เฟล็กซ์ ยังเป็นแผ่นตรงที่ยังท้าทายให้แอลจีพัฒนาต่อไปในอนาคต
       
       การที่ซัมซุงและแอลจีต่างแย่งชิงเปิดตลาดสมาร์ทโฟนจอโค้งก่อนผู้ผลิตรายอื่นนั้นสามารถพิสูจน์ว่า “ไลน์สินค้าสมาร์ทโฟนจอโค้ง” คือตลาดที่ผู้ผลิตหลายรายให้ความสนใจ สาเหตุคือตลาดนี้ถูกมองว่าจะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงตลาดสมาร์ทโฟนไฮเอนด์และตลาดอุปกรณ์ไอทีทั่วไป แม้ว่าในขณะนี้สินค้าหน้าจอโค้งจะถูกมองว่ายังขาดการพัฒนาฟีเจอร์สำคัญที่ทำให้สมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งไม่มีจุดขายที่แข็งแรงเท่าที่ควร เช่นเดียวกับต้นทุนการผลิตที่ยังสูงมากเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนทั่วไป
       
       ถึงบรรทัดนี้ หลายปัจจัยตอกย้ำว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนให้ความสนใจหน้าจอโค้งเป็นพิเศษ และสิ่งที่แท้จริงที่ผู้ผลิตหลายรายกำลังมุ่งพัฒนาอยู่นั้นคือไม่ใช่แค่ลูกเล่นหรือกิมมิกการตลาดทั่วไป แต่จะเป็นการปูทางไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนในอนาคต
       
       *** “อนาโค้ง” ของสมาร์ทโฟน
       
       เหตุผลที่ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า “อุปกรณ์หน้าจอโค้งนั้นไม่ใช่กิมมิกการตลาด” เนื่องจากหน้าจอโค้งคือพัฒนาการที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับแนวโน้มอื่น แถมยังเต็มไปด้วยประโยชน์ที่หน้าจอแบนเรียบไม่มี ได้แก่การเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้มองจอได้คนเดียว การลดแสงสะท้อน และการลดการใช้วัสดุเคลือบผิวที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
       
       เคลลี เคลย์ (Kelly Clay) แห่งนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) สรุปผลการศึกษาคุณสมบัติของสมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนได้รับฟังเสียงที่คุณภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งในแง่การชมวิดีโอ การทำวิดีโอแชต หรือการคุยโทรศัพท์ ประเด็นหลังสุดนี้มีการอธิบายว่าหากผู้ผลิตสามารถพัฒนาให้สมาร์ทโฟนมีตัวเครื่องโค้งได้ จะสามารถแก้ปัญหาคุณภาพเสียงจากการต่อสายโทรศัพท์ไม่ชัดเจนที่เกิดจากการถือโทรศัพท์ห่างจากปากหรือใบหูมากเกินไปได้
       
       นอกจากนี้ หากผู้ผลิตสามารถพัฒนาให้สมาร์ทโฟนมีตัวเครื่องโค้งได้ ดีไซน์ของสมาร์ทโฟนก็จะถูกเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบที่เหมือนกับโทรศัพท์ทั่วไปมากขึ้น
       
       ในมุมของนักวิจัย ดร.เรย์มอนด์ โซไนรา (Dr.Raymond M Soneira) ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีจอภาพชื่อ “ดิสเพลย์เมต (Displaymate)” ยืนยันอีกแรงว่าสมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งสามารถพัฒนาความสามารถในการแสดงผลของสมาร์ทโฟนได้จริง โดยเฉพาะในกรณีลดแสงสะท้อนเมื่อใช้งานกลางแดดจ้า
       
       โซไนราอธิบายว่า แก้วที่ถูกตัดแต่งให้มีทรงโค้งเพียงเล็กน้อยก็สามารถสะท้อนภาพในมุมที่ขยายใหญ่ขึ้นได้ คุณสมบัตินี้มีความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีหน้าจอสมาร์ทโฟนมาก และทำให้เทคโนโลยีนี้ห่างไกลจากการเป็น “กิมมิกการตลาดขำๆ” โดยหากพิจารณาที่กาแล็กซี ราวนด์ องศาการโค้งเพียง 0.10 นิ้ว (วัดจากความสูงของขอบเครื่องเมื่อเทียบกับศูนย์กลางของหน้าจอ) นั้นมีขนาดใกล้เคียงกับองศาการโค้งของเลนส์บนแว่นขยายพกพา ซึ่งสามารถสะท้อนภาพที่มีความสว่างคมชัดมากกว่าการมองผ่านกระจกแบนเรียบอย่างชัดเจน
       
       ความคมชัดที่ได้จากกระจกทรงโค้งนั้นสามารถแสดงออกมาได้หลายมิติ ทั้งค่าความต่างของสี ความคมชัดของสี ความสามารถในการอ่านได้แม้อยู่ในสภาวะแสงจ้า รวมถึงคุณภาพโดยรวมของภาพ ที่สำคัญ ความสว่างชัดที่เกิดในภาพจะทำให้แบตเตอรี่สมาร์ทโฟนสามารถทำงานได้นานขึ้น เนื่องจากระบบไม่ต้องเพิ่มแสงที่จอภาพในการแสดงภาพสู้แสงสะท้อนเหมือนในสมาร์ทโฟนหน้าจอแบน
       
       นอกจากผู้ใช้จะสามารถอ่านข้อความหรือชมวิดีโอได้กลางแดด และคุณสมบัติเหมือนแว่นขยายที่ทำให้เนื้อหาบนหน้าจอมีความชัดเจนมากขึ้น หน้าจอโค้งยังสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ในกรณีที่ต้องการป้องกันคนข้างเคียงแอบมองหน้าจอด้วย
       
       ***กิมมิกเสริมภาพลักษณ์
       
       อย่างไรก็ตาม แซม โกรบาร์ต (Sam Grobart) จากสำนักบิสิเนสอินไซเดอร์ (Business Insider) มองในมุมที่ต่างไป โดยวิเคราะห์ว่าผู้ผลิตเกาหลีทั้งซัมซุงและแอลจีไม่ได้ผลิตสมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งเพียงเพราะว่าต้องการโชว์เทคโนโลยีว่าตัวเองสามารถทำได้ แต่ต้องการโชว์ศักยภาพตัวเองในวันที่ค่ายผู้ผลิตอื่นทำไม่ได้ด้วย
       
       การวิเคราะห์ของโกรบาร์ตนั้นลึกซึ้ง เขามองว่าสมาร์ทโฟนจอโค้งไม่ได้ถูกพัฒนามาเป็นทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก ในขณะที่สมาร์ทโฟนเกือบทุกรุ่นในตลาดขณะนี้เป็นทรงสี่เหลี่ยมมุมฉากแทบทั้งหมด เมื่อสมาร์ทโฟนที่ไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมมุมฉากสามารถสร้างความแตกต่างได้ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจึงมองสมาร์ทโฟนจอโค้งเป็นขุมทรัพย์ใหม่ด้านการตลาด
       
       ด้านแอนนา สแคนต์ลิน (Anna Scantlin) จากเว็บไซต์โมบายล์ด็อก (mobiledog) กลับสงสัยในรายงานของบลูมเบิร์ก ที่ระบุว่าแอปเปิลจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนจอโค้ง 2 รุ่นในปี 2014 เนื่องจากทั้งซัมซุงที่เปิดตัวกาแล็กซี ราวนด์ หรือแอลจีที่เปิดตัวจี เฟล็กซ์ ต่างยังไม่มีใครกล้าทุ่มทั้งตัวกับแนวคิดสมาร์ทโฟนจอโค้ง โดยทั้งซัมซุงและแอลจีต่างเป็นแบรนด์ที่เปิดตัวสินค้าเรือธงหลายรุ่นต่อปี ต่างจากแอปเปิลที่ปกติมักเปิดตัวไอโฟนเรือธงรุ่นเดียวต่อปี ก่อนจะเพิ่งหันมาเปิดตัวสินค้าใหม่ 2 รุ่นในปีนี้ ซึ่งหากแอปเปิลจะยังคงการเปลี่ยนแปลงนี้ในปีหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูงที่แอปเปิลจะเลือกเปิดตัวไอโฟนหน้าจอแบนแบบปกติไว้ต่อไป
       
       หากเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับว่าตลาดสมาร์ทโฟนในอนาคตจะถูกแตกแขนงออกเป็นอีกเซกเมนต์ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถแข่งขันกันได้ในอีกรูปแบบเครื่องที่ต่างจากสี่เหลี่ยมแบนบางเหมือนเดิม สะท้อนว่าตลาดสมาร์ทโฟนยังไม่ถึงทางตันอย่างที่หลายคนเข้าใจ
       
       รู้จัก LG G Flex - Galaxy Round
       
       จี เฟล็กซ์ นั้นมีคุณสมบัติภายในคล้ายสมาร์ทโฟนรุ่นหลักของแอลจีอย่าง “จี ทู (LG G2)” หลายส่วน ตัวเครื่องใช้ชิป 2.26 GHz Quad-Core Qualcomm Snapdragon 800 (MSM 8974) หน้าจอโค้ง Curved P-OLED ขนาด 6 นิ้ว ความละเอียด 1,280x720 พิกเซล หน่วยความจำ 2GB LP DDR3 RAM กล้องดิจิตอลด้านหลัง 13 ล้านพิกเซล กล้องหน้า 2.1 ล้านพิกเซล แบตเตอรี่ 3,500mAh ระบบปฏิบัติการ Android Jelly Bean 4.2.2 ขนาดเครื่อง 160.5 x 81.6 x 7.9 - 8.7 มม. น้ำหนัก 177 กรัม รองรับ NFC มีสีเดียวคือ สีเงิน Titan Silver
       
       สำหรับกาแล็กซี ราวนด์ คุณสมบัติส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับกาแล็กซี โน้ต 3 (Galaxy Note 3) ทั้งซีพียูควอดคอร์ความถี่ 2.3 GHz Snapdragon 800 หน้าจอ HD Super AMOLED แบบโค้งงอขนาด 5.7 นิ้ว ความละเอียด 1,080 พิกเซล มาพร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.3 ไม่ระบุหน่วยความจำภายใน แรม 3GB กล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล ตัวเครื่องบาง 7.9 มม. หนัก 154 กรัม แบตเตอรี่จุ 2,800 mAh
       
       จุดนี้ซัมซุงเปิดเผยว่าบริษัทไม่ได้พัฒนาแบตเตอรี่ที่โค้งงอได้ แต่เป็นการติดตั้งแบตเตอรี่รุ่นแบนเรียบปกติไว้ในเครื่อง ทำให้แม้กาแล็กซี ราวนด์จะมีคุณสมบัติเครื่องที่คล้ายกับรุ่นโน้ต 3 แต่จะมีอายุแบตเตอรี่ที่น้อยกว่า ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่เกิดจากความโค้งของเครื่องกาแล็กซี ราวนด์

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)