จากการสำรวจผู้ใช้ 7,000 คน ระบุคนไทยส่วนมากล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ทั้งยังไม่ใส่ใจความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต...
เมื่อเร็วๆ นี้ วินโดวส์ไลฟ์ เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ต สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในการใช้งาน โดยพบว่าปัญหาการหลอกลวงและปองร้ายทางอินเทอร์เน็ตผ่านรูปแบบต่างๆ กำลังเพิ่มขึ้น อาทิ Phishing , Cyber bullying , spIMming และ Scamming ทั้งนี้ ผลสำรวจล่าสุดของวินโดวส์ไลฟ์มีคนไทยเข้าร่วมกว่า 7,000 คน โดยพบว่าพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยมีความเสี่ยงและอาจก่อให้เกิดปัญหาในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสำรวจจากประเทศไทยกว่า 90% ยอมรับว่า เคยปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่นขณะออนไลน์ อาทิ การปลอมแปลงเพื่อสามารถเข้าร่วมเล่นเกมส์หรือชิงรางวัลออนไลน์ได้หลายครั้ง แสดงถึงทัศนคติของคนจำนวนมากที่ไม่คิดว่าการหลอกหลวงเรื่องผิด
นายเครก ลอว์ สมิธ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ไมโครซอฟท์ ออนไลน์ เซอร์วิส กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีภัยร้ายจำนวนมากแฝงอยู่บนอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้งานต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งาน ไม่คลิกลิงค์หรือข้อความที่ไม่ชอบมาพากล ใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสเวอร์ชันล่าสุด หรือใช้เว็บเบราเซอร์ที่ปลอดภัย โดยผลสำรวจระบุว่าชาวไทยกว่า 69% ไม่เปิดเผยพาสเวิร์ดส่วนตัวให้ผู้อื่นทราบ อีก 30% ยอมรับว่าเคยบอกพาสเวิร์ดของตนให้ผู้อื่น อาทิ พ่อแม่ สามี ภรรยา คนรัก หรือ เพื่อนสนิททราบ นอกจากนี้ เกือบ 40% ยังยอมรับว่าตั้งพาสเวิร์ดเป็นชื่อหรือวันเกิดของตนเอง อีก 7.5% เปิดเผยว่าพาสเวิร์ดของตนคือคำว่า Password และ 7% เขียนพาสเวิร์ดลงบนกระดาษและแปะไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ การค้นหาและขยายเครือข่ายเพื่อนผ่านสังคมออนไลน์ ยังส่งผลให้คนจำนวนมากมีเพื่อนบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าเพื่อนในส้งคมจริง ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องผิด แต่ผู้ใช้ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการธุรกิจออนไลน์ ไมโครซอฟท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง ประเทศไทย กล่าวว่า การเมินเฉยต่อการปกป้องพาสเวิร์ดของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถือเป็นเรื่องน่ากังวล โดย 67% ของชาวไทยที่เข้าร่วมการสำรวจระบุว่า ไม่เคยใส่ข้อมูลส่วนตัวออนไลน์ให้ผู้อื่นเห็น โดยคำตอบเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของ 54% ระบุว่า ที่อยู่และเบอร์มือถือเป็นข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผยบนอินเทอร์เน็ต และอีก 7% ระบุว่า อายุเป็นข้อมูลส่วนตัว นอกจากนี้ อีก 45% ยอมรับว่า ใช้วิธีขยายเครือข่ายทางสังคมออนไลน์โดยเพิ่มชื่อเพื่อนของเพื่อนทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และ 47% ยอมรับว่าเพิ่มชื่อคนอื่นๆ ในเครือข่ายของตนเองเพื่อขยาย Friend List ให้มากขึ้น
เมื่อได้รับการเชิญจากผู้ที่ไม่เคยรู้จัก พบว่า 24% จะตรวจสอบความน่าเชื่อถือโดยพิจารณาจากการมีเพื่อนคนเดียวกัน ส่วน 28% เลือกพิจารณาจากหน้าตาว่าเหมือนฆาตกรโรคจิตหรือไม่ และอีก 15% ระบุว่าจะปฏิเสธคำเชิญทั้งหมด ขณะที่อีก 26% จะยอมรับเป็นเพื่อนกับผู้ที่ส่งคำเชิญมาทั้งหมดโดยไม่คำนึงว่าเป็นใครและมีหน้าตาอย่างไร นอกจากนี้ 14% ของชาวไทยที่เข้าร่วมการสำรวจเปิดเผยว่า เคยถูกหลอกลวงทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง ส่วนอีกกลุ่มระบุว่าไม่เคยถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต และอีก 38% ระบุว่า ไม่ทราบว่าเคยถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่
ที่มา: thairath.co.th