ไอแฟคเชื่อหมดยุคขายบริษัทขายฮาร์ดแวร์ นำแนวคิดโอพีเอส (OPS) เปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นผู้ให้บริการบริหารจัดการเอกสารแบบครบวงจรแทน มั่นใจ 2-3 ปีมีส่วนแบ่งตลาดติดท็อปทรี ส่วนเป้าเติบโตสิ้นปีเป็นไปตามคาด นายดำริห์ เอมมาโนชญ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) หรือไอแฟค กล่าววว่า ตลาดดิจิตอลมัลติฟังก์ชันในประเทศไทยปีนี้มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10-15% โดยคาดว่าน่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ดีกว่าปีที่แล้วที่มีการเติบโตเพียง 4-5% ซึ่งเป็นผลจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยเป็นตลาดเช่าซื้อเครื่องประมาณ 70% ที่เหลือเป็นตลาดซื้อเครื่องปกติ
“แทบจะเรียกว่า 100% ก็ว่าได้ที่บริษัทที่มีจำนวนคอมพิวเตอร์ใช้งานตั้งแต่ 100 เครื่องขึ้นไปเปลี่ยนวิธีซื้ออุปกรณ์ดิจิตอลมัลติฟังก์ชันมาเป็นลักษณะเช่าซื้อ”
ถึงแม้บริษัทขนาดกลางและใหญ่จะเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นรูปแบบเช่าซื้อแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาที่บริษัทต่างๆ มองข้ามไปก็คือ เรื่องของการบริหารจัดการปริมาณการพิมพ์งานเอกสารที่เกิดขึ้นภายในบริษัทที่ถูกมองข้ามถึงต้นทุนด้านการจัดการเอกสาร เนื่องจากการใช้อุปกรณ์สำนักงานประเภทเครื่องถ่ายเอกสาร พรินเตอร์ รวมถึงเครื่องสแกนที่มีจำนวนมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงอุปกรณ์และค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ทางไอแฟคในฐานะที่ทำตลาดนี้มานาน โดยเป็นผู้นำเข้าและทำตลาดดิจิตอลมัลติฟังก์ชัน “โคนิก้า มินอลต้า” รายเดียวในประเทศไทย มีรายได้ในปีที่แล้วประมาณ 600 กว่าล้านบาท เป็นรายได้จากการขายในลักษณะเช่าซื้อประมาณ 55% ซื้อขาด 45% เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในบริษัท จึงได้นำแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Optimizes Print Service หรือโอพีเอส เข้าไปช่วยจัดการงานด้านเอกสารภายในบริษัท
โดยทางบริษัทจะเป็นเสมือนผู้ให้บริการบริหารจัดการงานเอกสารแบบครบวงจร ในลักษณะร่วมทำงานกับลูกค้า ตั้งแต่ให้คำปรึกษา วิเคราะห์ประเมินระบบและความต้องการของผู้ใช้งาน วางแผนการติดตั้ง รวมถึงการจัดการดิจิตอลมัลติฟังก์ชันอย่างเป็นระบบ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมถึงการบริหารจัดการกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานเอกสารให้ทั้งหมด
ในส่วนความพร้อมนวัตกรรมดิจิตอลมัลติฟังก์ชัน เวลานี้โปรดักต์ไลน์ของโคนิก้า มินอลต้าถือว่ารองรับได้หลากหลายมาก บวกกับความพร้อมของไอแฟคเองทั้งทีมงานและสำนักงานสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเชื่อมั่นว่าสามารถให้บริการงานการบริหารและจัดการดิจิตอลมัลติฟังก์ชันเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงานได้สูงสุด โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ถูกลง 20-40%
“ไอแฟคเชื่อว่าการขายเฉพาะในส่วนของฮาร์ดแวร์อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการเติบโตของบริษัท จึงได้นำเสนอแนวคิดโอพีเอสเข้ามาเสริมในการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัท ทั้งในส่วนของรายได้และส่วนแบ่งตลาด”
นายดำริห์กล่าวอีกว่า จากการที่บริษัทเน้นทำตลาดในลักษณะของเช่าซื้อในแบบเดิมๆ โอกาสการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนจำนวนเครื่องเป็นไปได้ลำบาก คาดว่าขนาดตลาดดิจิตอลมัลติฟังก์ชันในบ้านเราปีนี้น่าจะมีประมาณ 30,000 เครื่อง โดยไอแฟคมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 10% ในขณะที่ถ้ามองถึงปริมาณการพิมพ์เอกสารในบ้านเราในแต่ละเดือนมีหลายล้าน ซึ่งไอแฟคมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 15%
“จากการที่ไอแฟคนำแนวคิดโอพีเอสมาใช้น่าจะทำให้ไอแฟคสามารถก้าวขึ้นมาติดท็อปทรีในตลาดด้วยส่วนแบ่ง 17-20% ภายใน 2-3 ปีได้อย่างแน่นอน”
นายดำริห์กล่าวทิ้งท้ายว่า ปีนี้ไอแฟคน่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 20% ได้อย่างแน่นอน หากไม่เกิดมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นช่วงท้ายปีนี้
Company Relate Link :
IFEC
ที่มา: manager.co.th