Author Topic: ยาเสพติด: หนทางสู่จุดจบแบบ “ร็อกแอนด์โรล”  (Read 1422 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


จิมี เฮนดริกซ์

“ยาเสพติด” มักจะถูกอ้างอิงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของ “วิถีแห่งร็อกแอนด์โรล” เสมอ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตอย่างสุดขั้ว ไร้ข้อจำกัด และต่อต้านสังคม เป็นวิถีที่มีสีสันน่าหลงใหลสำหรับบางคน ... แต่อีกด้านมันยังนำมาซึ่งความตกต่ำในชีวิต, ปัญหาส่วนตัวอันไร้ทางออก และความตายที่แสนเศร้า เป็นอีกด้านหนึ่งแห่ง “วิถีแห่งร็อกฯ” ที่บางคนปฏิเสธที่จะรับรู้
       
       ต้องยอมรับความจริงว่ายาเสพติดเป็นส่วนหนึ่งของวิถีร็อกฯ มาตลอด ในปลายยุค 60s มีศิลปินหลายรายได้ทดลองใช้ LSD (Lysergic Acid Diethylamide) ยาที่มีฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง จนเกิดดนตรีแนว “ไซเคเดลิก” กับบทเพลงที่ให้ความรู้สึกหลอนประสาท สร้างประสบการณ์และบรรยากาศแห่งการใช้ยาเสพติด
       
       ต่อมายาเสพติดไม่เพียงใช้เป็นเครื่องมือค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ แต่ที่สำคัญกว่าก็คือเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาชีวิตมากมาย ที่เกิดขึ้นจากทั้งความโด่งดัง และความล้มเหลวในอาชีพ แม้จะไม่ได้จำกัดวงใช้อยู่กับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ชื่อของศิลปินร็อกก็ยังดูจะผูกติดกับอบายมุขประเภทนี้มากที่สุด
       
       ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการใช้ยาในหมู่ศิลปิน ส่งผลต่ออัตราการเพิ่มของจำนวนผู้เสพยาโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น อย่างเมื่อกลางยุค 60s ที่ The Beatles เริ่มใช้ยาเสพติดกันอย่างเปิดเผย สารก็ส่งตรงไปถึงแฟนๆ วัยรุ่นของพวกเขาโดยทันที อย่างที่นักข่าว อัล โรโนวิตซ์ เคยเขียนไว้ว่า “ไม่ว่า the Beatles จะทำอะไรมันก็เป็นที่ยอมรับไปหมด โดยเฉพาะสำหรับพวกเด็กๆ”
       
       อิทธิพลของร็อกแอนด์โรลจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภาพของร็อกสตาร์เป็นรู้จักสำหรับทุกคน และเป็นที่นิยมชมชอบมากในหมู่วัยรุ่น ทั้งในแง่ของการมีพรสวรรค์อันสูงส่ง และใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วง,สุดขั้ว, ไม่บันยะบันยังในทุกแง่ ทั้งผู้หญิง, สุรา และยาเสพติด เป็นภาพแห่งชีวิตสุดเหวี่ยงอันโก้หรูน่าหลงใหล พร้อมกับตอนจบอันแสนเศร้า และอาจจะพูดได้ว่าน่าสมเพช
     
       
      “จิมี เฮนดริกซ์” จุดจบกีตาร์เทพ
       
       ยอดมือกีตาร์ที่ว่ากันว่า “ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา” ประสบความสำเร็จโดยทันทีที่เขาร่วมก่อตั้งวง The Jimi Hendrix Experience ขึ้นที่อังกฤษเมื่อปี 1966 หลังจากได้พบกับ ลินดา คีธ แฟนสาวของ คีธ ริชาร์ด แห่ง The Rolling Stone ในขณะนั้น ที่แนะนำให้เขารู้จักกับคนในแวดวงดนตรีเมืองผู้ดี จนได้มีโอกาสร่วมวงกับ โนเอล เรดดิง, มิช มิลเชล และ บิลลี คอกซ์ ที่สร้างชื่อยิ่งใหญ่ตลอด 4 ปีเต็ม และน่าจะไปไกลกว่านั้นหาก เฮนดริกซ์ จะไม่เสียชีวิตไปเสียก่อนด้วยสาเหตุจากยาเสพติดไปเสียก่อน
       
       เล่าว่าก่อนหน้าคืนที่เขาพบกับ ลินดา คีธ ที่ Cheetah Club เฮนดริกซ์ ไม่เคยใช้ยาเสพติดอื่นๆ นอกจากสูบกัญชา และดื่มเหล้า แบบนักดนตรีโดยทั่วๆ ไป แต่หลังจากการก่อตั้ง The Jimi Hendrix Experience ยอดมือกีตาร์ผู้นี้ก็ได้ผจญภัยไปในโลกของการเสพยา ทั้ง LSD, แอเฟตามีน รวมถึงเคยถูกจับกุมด้วยข้อหามีเฮโรอีนในครอบครองด้วย แม้เขาจะให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีแฟนคลับแอบใส่มันมาในกระเป๋าโดยเขาไม่รู้ตัวก็ตาม
       
       ในตอนนั้น เฮนดริกซ์มักจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว และใช้ความรุนแรงขณะอยู่ในอาการมึนเมา เคยใช้ทั้งโทรศัพท์ และขวดเหล้าทำร้ายแฟนสาวมาแล้ว รวมถึงก่อเรื่องพังห้องพักโรงแรมในสต็อกโฮล์ม และมิตรภาพกับเพื่อนสนิทที่ชื่อ พอล คารูโซ ก็ต้องยุติลง เมื่อ เฮนดริกซ์ ชกหน้าเพื่อนคนนี้ระหว่างที่เขามึนเมา และกล่าวหาว่าถูกอีกฝ่ายขโมยเงิน
       
       เฮนดริกซ์ เสียชีวิตลงท่ามกลางความเศร้าสลดของแฟนดนตรีทั่วโลก ในขณะที่เขามีอายุได้ 27 ปี ที่มีสาเหตุมาจากการสำลักอาเจียนของตัวเอง หลังจากดื่มเหล้า และยานอนหลับเข้าไป เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 1970 ปิดตำนานอันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และจบลงโดยไม่มีใครคาดคิด
       
       “เจนิส จอปลิน” ราชินีแห่งร็อกแอนโรล
       
       นักร้องนักแต่งเพลงสาวจาก พอร์ทอาร์เธอร์ เทกซัส มีช่วงเวลาที่โด่งดังสุดขีดกับดนตรีที่ผสมแนวบลูส์และโฟล์กเข้าด้วยกัน เป็นศิลปินหญิงที่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งยุค 60s เช่นเดียวกับพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดที่เป็นภาพติดตัวของเธอ เจนิส จอปลิน เสพทั้งยาจำพวกหลอนประสาทอย่าง LSD จนไปถึงเฮโรอีน และยังเป็นนักดื่มตัวยงโดยมีเหล้าโปรด คือ Southern Comfort
       
       ในช่วงปี 1966 ผลแห่งการใช้ยาก็เริ่มปรากฏชัด ร่างกายของจอปลินดูซูบผอมลงไปมาก ที่ทำให้ครอบครัวและคนใกล้ตัวตัดสินใจส่งเธอไปสถานบำบัด นักร้องสาวมากพรสวรรค์เริ่มกลับมามีชีวิตที่ดีอีกครั้ง และยังสั่งให้เพื่อนร่วมวงว่าห้ามใช้ยาต่อหน้าเธออีกเป็นอันขาด แต่สุดท้ายตัวเธอเองก็กลับไปใช้อีกจนได้
       
       จอปลิน พยายามเลิกใช้ยาอย่างหนัก แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ จนเธอเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในปี 1970 ระหว่างช่วงของการเข้าห้องอัด เพื่อบันทึกเสียงผลงานชุดที่ 3 ซึ่งในเช้าวันหนึ่งเธอไม่ได้มาทำงานตามนัดหมาย จนผู้จัดการส่วนตัวที่เริ่มวิตกกังวล ได้ตัดสินใจไปเช็กที่โมเต็ล และพบศพของจอปลินนอนอยู่บนพื้นใกล้ๆ กับเตียงนอน ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ตัดสินว่าเป็นการตายที่มีสาเหตุมาจากการเสพเฮโรอีนเกินขนาด
       
       
       “จิม มอร์ริสัน” โฉมหน้าแห่งยุคสมัย
       
       ร็อกสตาร์, นักแต่งเพลง และกวีเอก ผู้เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งแห่งยุค และวงดนตรี The Doors ถือเป็นตำนานแห่งยุคสมัยที่ยังคงถูกเล่าจนถึงปัจจุบัน แต่ชีวิตของ จิม มอร์ริสัน สิ้นสุดลงไปตั้งแต่ปี 1971 แล้ว
       
       การตายของเขาในวัย 27 ปี ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงถึงทุกวันนี้ ในเหตุการณ์การเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 1971 ซึ่งเอกสารระบุไว้ว่ามีการพบศพของเขาที่อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในกรุงปารีส ซึ่งตามกฎหมายฝรั่งเศสไม่ได้มีการชันสูตรศพ เพราะไม่พบร่องรอยของการทำผิดกฎหมายใดๆ จนนำมาซึ่งข้อสงสัยมากมาย แต่ พาเมลา คอร์สัน แฟนสาวของมอร์ริสัน เชื่อว่าศิลปินร็อกชื่อดังคนรักของเธอเสียชีวิตด้วยการเสพยาเกินขนาดจากโคเคน และเฮโรอีน หลังจากนั้น 4 ปี เธอเองก็ตามเขาไปด้วยสาเหตุการเสพยาเกินขนาด ด้วยวัย 27 ปี เช่นเดียวกัน
       
       สองสุดยอดมือกลองแห่งยุค
       
       วงร็อกระดับตำนาน The Who สูญเสียสมาชิกคนสำคัญเมื่อ คีธ มูน มือกลองของวงต้องจากไปในปี 1978 กับเหตุการณ์ที่เขามีปากเสียงกับแฟนสาวเรื่องอาหารเช้า หลังจากนั้นเขากลับกินยา Clomethiazole ที่ใช้สำหรับการเลิกสุราที่หมอสั่งจ่ายให้ไปถึง 32 เม็ด ซึ่งหมอให้ไว้เพื่อรับประทานสำหรับเวลาที่มีอาการอยากเหล้าอย่างหนัก แต่กำชับไว้ว่าต้องไม่เกิน 3 เม็ดต่อวันเท่านั้น เป็นเรื่องเศร้าที่ร็อกสตาร์ผู้มีปัญหาดื่มหนักมาทั้งชีวิต กลับต้องมาสิ้นลมหายใจด้วยยาสำหรับการอดเหล้าแบบนี้
       
       ส่วน จอห์น บอนแฮม แห่ง Led Zeppelin คือผู้ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมทั้งความเร็วในการหวดกลอง และสปีดเท้าขวาที่ใช้ย่ำกระเดื่อง สร้างเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ และความ “รู้สึก” แห่งจังหวะได้อย่างไม่มีใครเหมือน จนได้รับการยกย่องเป็นมือกลองที่ยอดเยี่ยมอีกคนแห่งประวัติศาสตร์ร็อก ซึ่งความยอดเยี่ยมเอกอุที่ว่าต้องกลายเป็นเพียงตำนาน ในวันที่ 24 ก.ย. 1980 หลังเขาเสียชีวิตจากการดื่มวอดก้าอย่างหนักถึง 40 ช็อต จนหลับและสำลักอาเจียนตัวเองจนถึงแก่ความตาย

       
       ความตายของ Grateful Dead
       
       Grateful Dead อเมริกันร็อกแบนด์ที่มีอายุยืนยาวถึง 30 ปี ก็ต้องปิดฉากลงด้วยพิษภัยของยาเสพติด เพราะวงดนตรีจากแคลิฟอร์เนียวงนี้ ต้องสูญเสียแกนหลักของวงไปถึงสองคนด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ กัน
       
       เจอร์รี การ์เซีย คือ นักร้อง, มือกีตาร์ และนักแต่งเพลงหลักของ Grateful Dead แต่ในเวลาเดียวกันประวัติศาสตร์ 30 ปีของวงต้องถูกขัดจังหวะด้วยปัญหาสุขภาพอันมีบ่อเกิดมาจากการใช้ยาของ การ์เซีย บ่อยครั้ง
       
       ถึงกระนั้นตลอดสามทศวรรษวงก็ยังออกแสดงไปแล้วถึง 2,314 รอบ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเขาต้องการใช้เงินนั้นเอง การใช้ยายังทำให้ การ์เซีย มีปัญหาทางกฎหมายอยู่เป็นระยะ สุขภาพก็ย่ำแย่น้ำหนักตัวลดลงอย่างควบคุมไม่ได้ ถึงขั้นถูกส่งเข้าห้องโคม่าในปี 1986 และไม่รู้สึกตัวไปถึง 5 วัน เขาต้องเข้ารับการบำบัดหลายครั้ง ซึ่งหนสุดท้ายก็คือในปี 1995 ที่ การ์เซีย ต้องเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย ในคลินิกบำบัดผู้ติดยาแห่งหนึ่ง โดยมีสาเหตุมาจากการใช้ยาเสพติดอย่างยาวนาน
       
       สำหรับ เบรนต์ ไมด์แลนด์ อาจจะไม่ได้เป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของวง แต่การเข้ามารับตำแหน่งมือคีบอร์ดของเขาในปี 1979 ก็ช่วยพาให้ Grateful Dead กลับมามีพลังอีกครั้ง ถือว่าเข้าไปเติมเต็ม เป็นส่วนผสมอันลงตัวจนวงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในยุค 80s
       
       แต่แล้ว ไมด์แลนด์ ก็ต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหันในวันที่ 2 ก.ค. 1990 จากอาการเสพยาเกินขนาดที่บ้านในแคลิฟอร์เนีย ว่ากันว่าในช่วงท้ายๆ ของชีวิต มือคีบอร์ดผู้นี้มีปัญหาส่วนตัวอย่างหนัก การทัวร์คอนเสิร์ตทำให้เขาต้องห่างเหินกับครอบครัว นอกเวทีคอนเสิร์ตดูราวกับว่าเขาจะถูกความหดหู่เข้าครอบงำ แต่กลับมีพลังอย่างประหลาดเมื่ออยู่บนเวที นอกจากนั้นยังมีการพูดกันไปว่าการจากไปของ ไมด์แลนด์ ยังมีส่วนให้ เจอร์รี การ์เซีย กลับไปติดยาอีกครั้งด้วย
       
       “ซิด วิคเชียส” โศกนาฏกรรมแบบพังก์ร็อก
       
       ชีวิตของ ซิด วิคเชียส หรือชื่อเกิดว่า จอห์น ไซมอน ริตชี มือเบสผู้ทรงอิทธิพล ของวงพังก์ร็อก Sex Pistols และแฟนสาว แนนซี สปันเจิน คือตำนานหน้าหนึ่งแห่งวงการเพลง เป็นตำนานแห่งความเศร้าที่มีเฮโรอินเป็นส่วนสำคัญ
       
       แนนซี่ หญิงชาวอเมริกันผู้คลั่งไคล้ในตัวนักดนตรีร็อกอย่างหมกมุ่น เคยตามวงอย่าง Aerosmith, The New York Dolls และ The Ramones จนกระทั่งตัดสินใจย้ายมาอยู่ลอนดอน และได้พบรักกับ ซิด วิคเชียส ศิลปินหนุ่มน้อยแห่งวงพังก์ร็อกชื่อดัง ทั้งสองย้ายมาอาศัยอยู่ร่วมกันและต่างใช้ยาเสพติดหนักด้วยกันทั้งคู่ โดยเฉพาะเฮโรอีนซึ่งเห็นผลเป็นการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหยาบคาย สร้างปัญหาในที่สาธารณะอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังส่งผลไปถึงการทำงานกับวง Sex Pistols ด้วยจนเขาต้องออกจากวงในที่สุด
       
       มือเบสหนุ่มจากอังกฤษพยายามดิ้นรนต่อไปในฐานะศิลปินเดี่ยว โดยมีแฟนสาวเป็นผู้จัดการส่วนตัว แต่ทุกอย่างกลับไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ควร ทั้งคู่ยิ่งใช้เฮโรอีนหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง ซิด วิคเชียส ตื่นขึ้นมาพบว่าแฟนสาวของเขานอนเสียชีวิตจมกองเลือด โดยมีมีดปักอยู่ที่ตัว ในห้องน้ำของห้องพักโรงแรมเชลซี ในแมนฮันตัน ที่ทั้งคู่ใช้เป็นที่พำนักในขณะนั้น เขาถูกจับกุมตัวโดยทันที ซึ่งในตอนแรก ซิค ยอมรับผิด แต่ต่อมากลับอ้างว่าจำอะไรไม่ได้เพราะอยู่ในอาการมึนเมา นอกจากนั้นยังมีข้อสันนิษฐานว่า การเสียชีวิตของแนนซีอาจจะเกิดขึ้นจากเหตุปล้นชิงทรัพย์ หรือไม่ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องการซื้อยาเสพติดด้วย
       
       หลังจากเรื่องดำเนินอยู่ในชั้นศาลพักใหญ่ ซิด วิคเชียส เคยกระทั่งพยายามฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ในวันที่ 1 ก.พ. 1979 เขาได้รับประกันตัวด้วยเงิน 50,000 เหรียญฯ และจัดงานเลี้ยงฉลองขึ้นให้กับการได้ประกัน ที่อพาร์ตเมนต์ของแฟนสาวคนใหม่ มิเชล โรบิสัน ที่เขาพบเมื่อเดือน ต.ค.ปีก่อนหน้านั้น แต่แล้วมารดาของ ซิด กลับสั่งเฮโรอีนมาจากพ่อค้ายารายหนึ่งที่มาส่งให้ถึงที่ แม้แฟนสาวคนใหม่จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ศิลปินหนุ่มก็เสพมันเข้าไปจนมีอาการเสพยาเกินขนาด เมื่อถึงตอนเช้าเขาก็สิ้นลมลงแล้วด้วยวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น
       
       “ซิด แบร์เร็ต” อัจฉริยะ ผู้เปราะบาง
       
       ความตายอันมีบ่อเกิดจากยาเสพติด อาจจะเป็นจุดหมายปลายทางของวิถีร็อกแอนด์โรลสำหรับศิลปินหลายราย แต่ในเวลาเดียวกันศิลปินจำนวนไม่น้อย ที่เอาชีวิตรอดมาได้ ก็ต้องพบกับความตกต่ำ, สิ้นชื่อเสียง, สิ้นไร้ไม้ตอก และสุขภาพทรุดโทรม เป็นชีวิตที่บอบช้ำหนัก
       
       ซิด แบร์เร็ต ผู้ร่วมก่อตั้งวงไซเคเดลิก/โปรเกรสสีฟร็อก Pink Floyd ได้รับการยกย่องเป็นอัจฉริยะแห่งวงการดนตรีอีกคน ที่มีชีวิตแสนเศร้ายาวนานหลายปี และเชื่อกันว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเขานั้น ส่วนหนึ่งมีบ่อเกิดจากการใช้ยาเสพติด
       
       โดยหลังจาก Pink Floyd ออกอัลบั้ลแนวไซเคเดลิก The Piper at the Gates of Dawn ในปี 1967 ที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับการยกย่องจากผู้สันทัดกรณีในวงการดนตรีมาจนถึงปัจจุบัน แต่สำหรับชีวิตส่วนตัวของ บาเร็ตต์ กลับเต็มไปด้วยปัญหา จนเมื่อต้นปี 1968 เขาต้องออกจากวง เนื่องจากพฤติกรรมแปลกประหลาดคาดเดาไม่ได้ บางครั้งยืนอยู่บนเวทีโดยไม่ได้เล่นกีตาร์อะไรเลย ในการให้สัมภาษณ์ก็แทบจะไม่เปิดปากพูดจา
       
       ว่ากันว่าเขามีปัญหาทางจิตอันเป็นผลมาจากการใช้ LSD อย่างหนัก บวกกับปัญหาส่วนตัวแต่ดั้งเดิม อาการของ แบร์เร็ต จึงย่ำแย่อย่างหนัก และต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว รวมถึงเข้ารักษาในโรงพยาบาลสำหรับผู้มีปัญหาทางจิต และแทบไม่ได้มีงานอะไรออกมาเลย ส่วน Pink Floyd กลายเป็นศิลปินระดับโลกที่มีทั้งยอดขายผลงานระดับร้อยล้านแผ่น และได้คำยกย่องจากนักวิจารณ์ ส่วนชีวิตของ ซิด แบร์เร็ต กลายเป็นเพียงตำนานบทแรกของวง ก่อนเขาจะจากโลกนี้ไปเมื่อปี 2000 ด้วยวัย 60 ปี
       
       “ไอค์ เทอร์เนอร์” : เสพ, ขาย, คุก, ตาย
       
       ไอค์ เทอร์เนอร์ เคยเป็นนักดนตรี, โปรดิวเซอร์ ที่มีผลงานมากมาย โดยเฉพาะการร่วมงานกับภรรยา ทีนา เทอเนอร์ ในฐานะวง Ike & Tina Turner ที่โด่งดังอยู่ตั้งแต่ช่วงปี 1960-1976 แต่แล้วชีวิตของเขากลับตกต่ำลงเรื่อยๆ หลังจากเริ่มใช้ยาเสพติด
       
       เป็นที่รับรู้ว่าในตอนแรกก่อนที่จะอายุได้ 30 ปี ไอค์ไม่เคยแตะต้องยาเสพติดเลย เขายังมีนโยบายที่ห้ามคนในวงดนตรีของตัวเองข้องแวะกันเรื่องอบายมุขประเภทนี้ด้วย หากใครฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษถึงขั้นไล่ออกเลยทีเดียว แต่แล้วในปี 1960 ไอค์ กลับเริ่มลองโคเคนเป็นครั้งแรกหลังจากมี “คนดังมาก 2 คน” ที่เขาทำงานด้วยคะยั้นคะยอให้ลอง และเมื่อถึงปี 1970 เขาจึงกลายเป็นคนติดยาอย่างหนักแล้ว
       
       ในช่วงต้นยุค 70s ไอค์เผยว่า เขาใช้เงินร่วมเดือนละ 56,000 เหรียญฯ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโคเคน และเมื่อปี 2001 ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเขาประเมินว่าตัวเองน่าจะหมดเงินสำหรับโคเคนไปถึง 11 ล้านเหรียญฯ
       
       ปัญหายาเสพติดได้ทำลายชื่อเสียงของเขาให้ย่อยยับไป เช่นเดียวกับพฤติกรรมทำร้ายร่ายกายภรรยา ทีนา เทอร์เนอร์ ที่ทำให้ Ike & Tina Turner ต้องแยกทางกันไปในปี 1976 ทั้งในด้านชีวิตคู่และการงาน ในขณะที่ฝ่ายหญิงโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายชายกลับมีชีวิตตกต่ำลงเรื่อยๆ
       
       หลังจากติดยามานาน เมื่อปี 1987 ไอค์ก็ถูกตำรวจจับกุมตัวและดำเนินคดีในข้อหาค้ายาเสพติด เมื่อเขาถูกล่อซื้อโคเคนจำนวน 10 ออนซ์ หลังจากสู้คดีอยู่นานในที่สุดเขาก็ถูกตัดสินให้มีความผิดจริง และต้องไปใช้ชีวิตในเรือนจำ ซึ่งในคุกนั่นเองที่ไอค์สามารถเลิกพฤติกรรมเสพยาได้ในที่สุด รวมถึงไม่ได้ข้องแวะกับมันอีกเลยอยู่เป็น 10 ปี หลังได้รับกำลังใจ และการสนับสนุนจากครอบครัว
       
       หลังจากนั้นเขาได้อุทิศตัวและใช้ประสบการณ์ของตนไปกับการช่วยเหลือผู้เสพยา แต่แล้วในปี 2004 ระหว่างพยายามช่วยเหลือผู้ติดยารายหนึ่งที่เขาได้เข้าไปในบ้านที่มีการเสพกัน ไอค์ ได้กลิ่นโคเคน .... เขากลับไปเสพยาอีกครั้ง จนในปี 2007 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ไอค์ เทอร์เนอร์ จึงได้เสียชีวิตจากอาการเสพโคเคนเกินขนาดเมื่อมีอายุได้ 76 ปี
       

       “สไล สโตน” : อาชีพพังเพราะยาเสพติด
       
       ศิลปินจำนวนหนึ่งเอาชีวิตรอดจากยาเสพติดมาได้ แต่ก็ต้องพบกับความตกต่ำในชีวิตอย่าง สไล สโตน นักร้องและผู้นำวง Sly and Family Stone ที่มีผลงานโด่งดังอยู่ในยุค 70s ก็มีชีวิตตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เป็นความย่ำแย่ที่มีต้นเหตุมาจากการใช้ยาเสพติด ในช่วงโด่งดังที่ทำให้เขาขาดงานบ่อยครั้ง ความเชื่อมั่นของผู้คนที่มีต่อวงก็ลดลงไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับชื่อเสียงที่หดหาย
       
       เขายังเคยเปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ตกต่ำที่สุดในชีวิต” ในอดีตที่ตนเองกำเงิน 2,500 เหรียญฯ เพื่อไปซื้อของขวัญคริสต์มาสให้ลูกชาย แต่สุดท้ายกลับผลาญเงินทั้งหมดไปกับยาเสพติด
       
       ปัจจุบัน สโตน ต้องใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้าน อาศัยรถแวนสีขาว ที่ปกติจะจอดอยู่ในเขตที่อยู่อาศัย ย่านชานเมืองลอสแอนเจลิสเป็นที่พักพิง และรอคอยโอกาสที่จะกลับมาโด่งดังอีกครั้งในวัย 68 ปี
       
       
.....................

       มีศิลปินอีกมากมายที่ใช้ยาเสพติด แต่ละรายหากไม่ลงเอยด้วยการยอมรับปัญหา และมุ่งเข้าสู่การบำบัด ก็อาจจะเดินไปสู่ถนนสายสุดท้าย นั่นก็คือความตายก่อนวันอันควร ที่ยังมีอีกจำนวนมากมายไล่รายชื่อกันได้ไม่หมด ไม่ว่าจะเป็น แชนอน ฮูน (Blind Melon), สตีเว่น โรนัล เจนเซ่น (The Vandals), ฟิล ไลน็อต (Thin Lizzy), บิลลี่ แม็คเคนซี (The Associates), จิมมี่ แม็คคัลล็อค (Wings), ร็อบบี้ แมคอินทอช (Average White Band), แบรดลีย์ โนเวล (Sublime)
       
       ยังมี จอห์นนี่ โอ'คีฟ, เจนี เลน (Warrant), ไบรอัน อ็อตโตสัน (American Head Charge), แกรม พาร์สันส์ (The Byrds), คริสเตน ฟอฟ์ฟ (Hole), จอห์น ซอนเดอร์ (Mad Season), บอน สก๊อต (AC/DC), บ็อบบี้ ชีฮาน (Blues Traveler), ฮิลเลล สโลวัก (Red Hot Chili Peppers), แบรดลีย์ สจ๊วร์ต (Marilyn Manson), แกรี เธน (Uriah Heep), มิกกี้ เวลช์ (Weezer), อลัน วิลสัน (Canned Heat), แอนดรู วูด (Mother Love Bone), สตีฟ คล๊าก (Def Leppard)
       
       นี่คือส่วนหนึ่งของ “เหยื่อ” จากยาเสพติดรวมถึง ไบรอัน โจนส์ แห่ง The Rolling Stone ผู้มีอาการมึนเมาอย่างหนักจนเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต ส่วนการฆ่าตัวตายด้วยยิงกระสุนใส่ศีรษะตัวเองของ เคิร์ต โคเบน “โฉมหน้าแห่งยุค 90s” จากวง Nirvana ก็เป็นที่รับรู้กันว่าเกิดขึ้นจากอิทธิพลส่วนหนึ่งของยาเสพติด และล่าสุดศิลปินสาวมากพรสวรรค์ เอมี ไวน์เฮาส์ ซึ่งเชื่อได้ว่าจะต้องมีรายต่อไปอีกอย่างแน่นอน
       
       “โอเวอร์โดส” หรือ “เสพยาเกินขนาด” แทบจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ แห่งวงการร็อกแอนด์โรลไปแล้ว ทั้งเป็นผลจากยาเสพติดโดยตรง หรือผลโดยอ้อมของมัน และบางครั้งก็เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็มีหลายกรณีที่เป็นความจงใจใช้ยาเสพติดแบบเกินขีดจำกัดเพื่อฆ่าตัวตาย ... นี่คือ “วิถีร็อคแอนด์โรล” หรือไม่ ยากที่จะตอบ แต่หากใช่มันก็คงเป็นวิถีที่ไม่น่าเดินตามเอาเสียเลย
       
ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)