นักจิตวิทยาในแคลิฟอร์เนียระบุ บริการเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) มีความเสี่ยงทำให้เด็กกลายเป็นคนหลงตัวเองและมีปัญหาด้านสุขภาพอื่นตามมา เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพที่มักพบในเด็กติดอินเทอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์
แลร์รี่ โรเซน (Larry Rosen) ศาสตราจารย์นักจิตวิทยาจากสถาบัน Dominguez Hills ของมหาวิทยาลัย California State University นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากกระแสความนิยมเครือข่ายสังคมในวงกว้างที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ในงานประชุมสมาคมนักจิตวิทยาอเมริกัน American Psychological Association เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดในเด็กที่ใช้งานบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์คือความเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร มีปัญหานอนไม่หลับ วิตกกังวล และเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
ข้อสรุปนี้มีลักษณะเหมือนกับเด็กที่ใช้งานบริการเทคโนโลยีทั้งวิดีโอเกมและอินเทอร์เน็ตมากจนเกินไป โดยโรเซนนั้นเป็นผู้ศึกษาพฤติกรรมวัยรุ่นที่ใช้เทคโนโลยีมากเกินไปมานานกว่า 20 ปี แต่สิ่งที่แตกต่างคือสาวกเครือข่ายสังคมมีความเสี่ยงเป็นคนหลงตัวเองหรือ narcissistic เนื่องจากอิสระในการเผยแพร่ข้อมูลของตัวเองได้มากและบ่อยเท่าที่ต้องการ
ไม่เพียงแต่เด็ก ดร.โรเซนระบุว่าผู้ใหญ่และคนส่วนใหญ่ที่ใช้เครือข่ายสังคมล้วนมีแนวโน้มเกิดปัญหาด้านจิตวิทยาที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านบุคลิกภาพที่สะท้อนในรูปการต่อต้านสังคม อาการจิตหวาดระแวง และอาจมีแนวโน้มหันไปพึ่งพาเหล้ายาเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
ทั้งหมดนี้ ศาสตราจารย์โรเซนสรุปมาจากการสัมภาษณ์นักเรียนที่เล่นเครือข่ายสังคมนาน 15 นาทีกว่า 300 คน และวัยรุ่นกว่า 1,000 คนที่ร่วมตอบแบบสอบถาม โดยพบว่าวัยรุ่นกลุ่มตัวอย่างกว่า 42% บอกว่าสามารถพิมพ์ข้อความบนอุปกรณ์ไอทีได้แม้จะมีผ้าปิดตาอยู่
งานวิจัยของโลเซนสอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบว่าชาวเครือข่ายสังคมนั้นใช้งานบริการอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชนิดไม่เลือกเวลา โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2010 การสำรวจพบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์กว่า 48% อัปเดทข้อมูลเวลากลางคืนหรือทันทีที่ตื่นนอน โดย 19% ของกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีนั้นอัปเดทสถานะทุกเวลาที่ลืมตาตื่นกลางดึก
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบว่าเครือข่ายสังคมนั้นส่อแววมีผลกระทบต่อการสื่อสารในสังคมมนุษย์ เพราะการสำรวจก่อนหน้านี้พบว่าผู้หญิง 57% ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าพูดคุยกับเพื่อนบนโลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนที่เห็นหน้ากัน และ 39% ระบุว่าตัวเองเป็นผู้"เสพติดเฟซบุ๊ก"
Company Related Link :
Facebook
ที่มา: manager.co.th